อ.โกวิท อเนกชัย (ท่านเขมานันทะ) เล่าเรื่องหลวงพ่อเทียน

ฟังอ.โกวิท อเนกชัย เล่าเรื่องหลวงพ่อเทียน

    ช่วงบ่ายอ่อน ๆ ของวันสุดท้ายในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๓  เรา  ๒  คน สมคิด  มหิศยาและสิริรัตน์  เจ้าประเสริฐ ได้รับความกรุณาจากท่านอาจารย์โกวิท เอนกชัย (เขมานันทะ) ให้ไปพบท่านเพื่อกราบขออนุญาตจัดพิมพ์หนังสือที่ท่านเขียนเกี่ยวกับหลวงพ่อเทียน  จิตฺตสุโภจำนวน  ๒  เล่มคือ  “ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ” และ “ดั่งสายน้ำไหล” เพื่อนำมาเผยแพร่เป็นธรรมทานเนื่องในงาน ๑๐๐ ปี ชาตกาล หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ 
    นอกจากท่านอาจารย์โกวิทจะได้อนุญาตด้วยจิตเมตตายิ่งแล้ว ท่านยังกรุณาเล่าเรื่อง หลวงพ่อเทียน  กัลยาณมิตรของท่าน ให้ฟังด้วย เราจึงอยากถ่ายทอดเรื่องเหล่านั้น เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ธรรมกับทุกๆ ท่านด้วยสำนวนที่เสมือนว่า ทุกท่านได้มาฟังจากปากของท่านเขมานันทะเอง 

... หลวงพ่อเทียนคือหลวงพ่อเทียน ...
    ประโยคแรกที่ท่านเขมานันทะถามพวกเราคือ  “ทำไมต้องเอาหลวงพ่อเทียนไปอิงกับเซ็น”  สิ่งที่เซ็นใฝ่ฝันที่จะมี  หลวงพ่อมีให้หมด  อย่าเอาหลวงพ่อมาอยู่ล่างเซ็น “บาป”  เราจะทำให้หลวงพ่อเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้  หลวงพ่อก็คือหลวงพ่อ
    สมัยที่หลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้เดินทางไปสอนการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวให้ญาติธรรมที่ประเทศสิงคโปร์หลายครั้ง  ครั้งหนึ่งมิสเตอร์ยามาดา โรชิ ผู้นำเซ็นและเจ้าของโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่น  ร่วมกับนักบวชนิกายเซ็นของประเทศญี่ปุ่น  ได้มาเยี่ยมศูนย์ซึ่งเป็นสาขา ร่วมกับนักบวชเซ็นในประเทศสิงคโปร์  แต่เมื่อคนกลุ่มนี้ได้มาพบกับหลวงพ่อ  พวกเขาก็หันมาศึกษากับหลวงพ่อแทบจะหมดทั้งกลุ่ม

... หลวงพ่อเทียนสอนคนโดยใช้  “อารมณ์ภาวนา” ...
    ในช่วงท้ายของชีวิต หลวงพ่อเทียนใช้  “อารมณ์ภาวนา” สอนลูกศิษย์ลูกหาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบ การสอนโดยไม่มีอารมณ์ภาวนาเปรียบเสมือนคนเดินทางโดยสารรถไฟ จากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่  ขึ้นรถไฟแล้วก็หลับตลอดทาง ไปถึงชียงใหม่ก็จริง  แต่บอกทางไม่ถูก  ไม่ทราบว่าไปทางไหน  ผ่านที่ใดบ้าง 

... การสอนของหลวงพ่อเทียนเปลี่ยนคนได้จริง ...
    ตอนหนึ่งท่านเขมานันทะเล่าว่า  สมัยที่หลวงพ่อเทียนจำพรรษาอยู่ที่วัดสวนแก้ว  จังหวัดนนทบุรี  มีสามเณรรูปหนึ่งชื่อ  สามเณรสมควร  มีลักษณะ  “โง่ทึบ”  ไม่น่าจะสอนได้  ปรากฏว่า  ตลอดพรรษานั้น  หลวงพ่อเทียนจับสามเณรสมควรขังไว้ในกลด  ให้ซอยเท้าอยู่กับที่  จนพื้นดินซึ่งเป็นดินเหนียวเป็นรอยลึกลงไปเกือบคืบ สิ้นพรรษา สามเณรสมควรสามารถเรียนอารมณ์ปฏิบัติได้ดีเหมือนผู้ใหญ่ หลวงพ่อเทียนสามารถเปลี่ยนสามเณรสมควรจาก “โง่ทึบ” เป็น “สว่างไสว” ได้ในช่วงเวลาเพียงพรรษาเดียว  ปัจจุบันพระสมควรกลายเป็นพระผู้ใหญ่อยู่ทางภาคอีสาน สอนการเจริญสติตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน
    หลวงพ่อเทียนเปรียบเสมือนพระพุทธเจ้าที่สอนพระจุลบัณฐก ท่านถูกพี่ชายซึ่งเป็นพระด้วยกัน ไล่ให้สึก เพราะหาว่า “โง่” เรียนธรรมไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระจุลบัณฐกได้ โดยให้นั่งลูบผ้าขี้ริ้ว (เพื่อทำความรู้สึกตัว) พร้อมกับบริกรรมว่า “ผ้าเช็ดพื้นก็เช็ดพื้น ผ้าเช็ดพื้นก็เช็ดพื้น” ทำอยู่เท่านี้เอง พระจุลบัณฐกเริ่มทำในตอนเช้า ตกเย็นท่านบรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์  นับเป็นความฉลาดของผู้สอนที่มีกลวิธีต่างๆ สามารถเอาชนะความโง่ได้จนเป็นที่ร่ำลือ
    หลายคนมีศรัทธา  แต่ไม่รู้วิธีปฏิบัติ  หากเขาได้เจอครูสอนที่เหมาะสม  เรื่องมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นได้

... งานเชิดชูเกียรติของหลวงพ่อเทียน “จำเป็น” ...
    ท่านเขมานันทะยอมรับว่า  “งานเชิดชูเกียรติของหลวงพ่อเทียนเป็นสิ่งจำเป็น  ผมโชคดีที่ได้พบมนุษย์แท้คนหนึ่งหลังจากโซซัดโซเซไปเรียนหนังสือมา  หลังจากเรียนเทคนิคการปฏิบัติ แบบนั่งสงบ ที่ทำกันมาสาม-สี่พันปีมาแล้ว  ทั้งปวดเมื่อย  ทั้งทรมาณ  กลายมาเป็นลืมตา  เคลื่อนไหวทั้งกาย ใจ  ทำให้ผมสนุกกับการภาวนา  ผมกลัวใจท่าน  หากท่านจะทำอะไร  ท่านต้องทำให้ได้...  ตกดึกวันหนึ่งที่จังหวัดเลย  ฟังมาว่าหลวงพ่อได้ข่าวว่า  คุณยุ่น  ลูกศิษย์ของท่าน  ที่กำลังปฏิบัติอยู่ที่กรุงเทพฯ ติดอารมณ์  หลวงพ่อนั่งรถรวดเดียวจากจังหวัดเลยมากรุงเทพฯ  มาแก้อารมณ์ให้คุณยุ่น”

... ความไม่มีตัวตนของหลวงพ่อเทียน ...
    มีหลายคนเคยเห็นหลวงพ่อเทียนนอนพังพาบกับพื้น  ชุนจีวรให้สามเณร
    บ่อยครั้งที่หลายคนเห็นหลวงพ่อเทียนมายืนดักรอพระที่เพิ่งกลับจากการบิณฑบาตในยามเช้า  เพื่อขอเศษเหรียญจากบาตรพระ  รวบรวมเอาไปจ้างคนในภาคอีสานให้มาปฏิบัติภาวนา  นั่งยกมือสร้างจังหวะ 
    หลวงพ่อเดินไปหาชาวบ้าน  เห็นพวกเขากำลังทำงานอยู่  จึงถามว่า  “ทำอะไร”
    ชาวบ้าน  “กำลังรับจ้างดายหญ้าขอรับ”
    หลวงพ่อ  “ได้ค่าจ้างวันละเท่าไหร่”
    ชาวบ้าน  “๕  บาทขอรับ”
    หลวงพ่อเทียนยื่นเหรียญให้  ๕  บาท  บอกว่า  “หลวงพ่อจ้างให้ไปปฏิบัติธรรม”
    หลวงพ่อท่านทราบดีว่า  ชาวอีสานยากจน  ต้องทำงาน  ความไม่มีตัวตนของหลวงพ่อเทียนชัดเจนมาก  แต่มิใช่ว่านั่งสงบแล้วก็สำเร็จ เป็นอนัตตาได้

... ความสำเร็จของการปฏิบัติ ไม่ขึ้นอยู่กับความเป็น “พระ” หรือเป็น “โยม” ...
    หลังจากที่ท่านเขมานันทะลาสิกขาที่ประเทศออสเตรเลีย กลับมาประเทศไทย หลายคนไม่ยอมรับและแสดงปฏิกิริยาต่อต้านท่าน  แต่หลวงพ่อเทียนไม่ว่าอะไรแม้แต่คำเดียว  ไม่ถามถึงสาเหตุของการสึกทั้ง ๆ ที่บวชมานาน  หลวงพ่อบอกแต่เพียงว่า “ให้ปฏิบัติ บางคนเหมาะขณะเป็นพระ บางคนเหมาะขณะเป็นโยม ไม่มีข้อจำกัดในการปฏิบัติตามแนวทางของหลวงพ่อ การปฏิบัติ ได้ หรือ ไม่ได้ เป็นเรื่องของแต่ละคน  ไม่เกี่ยวกับการเป็น พระ หรือเป็นโยม”  หลวงพ่อเทียนยังคงจัดให้ท่านเขมานันทะบรรยายธรรมให้ญาติโยมฟังทุกวันอาทิตย์
    แล้ววันหนึ่งหลวงพ่อเทียนก็แก้ข้อกังขาให้ญาติโยมรู้ว่า  ความสำเร็จของการปฏิบัติ มิใช่ อยู่ที่ความเป็นพระ  เป็นโยมก็ได้
    ท่านถามผม (หมายถึงท่านอาจารย์โกวิท  เขมานันทะ) ว่า  “มีเสื้อไหม”
    ผมเอาเสื้อคลุมอาบน้ำและหมวกกุ้ยเล้ย (แบบคนจีนใส่) ให้ท่าน  หลวงพ่อสวมเสื้อคลุม  สวมหมวกกุ้ยเล้ย ออกไปนั่งกลางลานวัด คนมาวัดบางคนไม่เข้าใจ  ก็ออกจากวัดไป  ไม่กลับมาอีกเลย
    การกระทำเช่นนั้นของหลวงพ่อก็เพื่อจะสอนว่า  ธรรมะอยู่เหนือสมมุติ  เป็นพระหรือเป็นโยม  หากตั้งใจปฏิบัติก็สำเร็จได้

... การแก้อารมณ์ของศิษย์หลวงพ่อเทียน ...
    บทบาทการสอนของหลวงพ่อมีหลากหลายมากมาย  ลูกศิษย์ของหลวงพ่อก็มีมาก  หลากหลาย  บางคนไม่ชอบพูด  ไม่ชอบแสดงตัว
    คนทั่วๆ ไป “ดื้อ” เพราะไม่รู้ความจริง  หากลงมือปฏิบัติก็จะเงียบเอง  หายดื้อ  ก่อนนั้นผมก็ดื้อ  คือไปตระเวนหาความรู้  ไม่เข้าใจการปฏิบัติ
    หลวงพ่อไม่ใช่ตัวประกอบของลัทธิใดลัทธิหนึ่ง  หลวงพ่อคือหลวงพ่อ  ท่านอยู่เหนือการคาดเดาทุกอย่าง
    ความจริงมี  ๒  อย่างคือ  จริงแท้กับจริงสมมุติ  เราต้องเคารพความจริงทั้ง  ๒  อย่าง
    ครั้งหนึ่งเจ้าคณะจังหวัดเลยมาที่วัดสนามใน นนทบุรี  ผมถือตัว  ไม่ไปฟังท่านเทศน์  หลวงพ่อเทียนเดินมาตามผมถึงกุฏิ  พูดเรียบๆ ว่า  “ผมว่าลงไปฟังเขาพูด มันสวยดี”
    ผมกระด้างกระเดื่องเพราะถือว่ามีความรู้  รู้มากจนจมไม่ลง ลอยไปกับความรู้ต่าง ๆ จนลืมตัว
    การปฏิบัติตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน มิใช่ การโฆษณาสินค้าตัวใหม่  อย่าตื่นตูม  ให้ยืนพื้นหลักภาวนา  ครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร  มีพระ  ๒  กลุ่มขัดแย้งกันเรื่องวิธีการเจริญสติตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน  กลุ่มหนึ่งต้องการให้ยกเลิกการยกมือสร้างจังหวะ  แต่อีกกลุ่มหนึ่งมีความเห็นว่า  ไม่ควรยกเลิก ... โชคดีที่ผลสรุปคือไม่ยกเลิก   

        ... หน้าที่ของเราคือการทำความรู้สึกตัวเท่านั้น ...
    หลวงพ่อเทียนเคยบอกว่า  ผู้ปฏิบัติมาก ... ซาบซึ้งมาก  ปฏิบัติน้อย ... ซาบซึ้งน้อย
    คำว่า “เกิด” “ดับ” มีการตีความกันมาก
    สิ่งที่หลวงพ่อเทียนพูด  ลึกก็มี  ตื้นก็มี เหมือนสระน้ำ เหมาะที่ปลานานาชนิดได้อาศัย
    วันหนึ่ง ผมสอนสามเณรว่า  โลกกลม  หากแล่นเรือออกไปโดยไม่หันหลังกลับ  จะกลับมาที่เดิม 
    หลวงพ่อเทียนบอกว่า กลมได้ไง มันแบนนี่
    สามเณรเริ่มสับสน ผมจึงสอนซ้ำอีกครั้งว่า โลกกลม
    หลวงพ่อจึงพูดเบา ๆว่า โลกจะกลมหรือแบน ไม่เกี่ยวกับความรู้สึกตัว
    เรามักจะออกนอกลู่นอกทาง  มักจะพยายามจ้อง จับ ดูความคิด  ซึ่งเป็นสิ่งที่เสียหายมาก  เพราะหน้าที่ของเราคือการทำความรู้สึกตัวเท่านั้น การปฏิบัติที่ผิด พูดผิด สอนผิด จะก่อให้เกิดความผิดพลาดสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ
    หน้าตาของหลวงพ่อเป็นคนเมืองเลย พูดเสียงเหน่อ แต่กิจภาวนาของหลวงพ่อเป็นเลิศ
    คนทั่วไปมักยึดรูปแบบ แสวงหาของวิเศษ มิได้แสวงหาพระ หลวงพ่อมีความวิเศษ แต่มีความเป็นปุถุชนเป็นเปลือกหุ้ม ยามใดที่ได้คุยเล่น ๆ กับหลวงพ่อ จะปรากฏประกายเพชรแปลบออกมา สอนโดยไม่ต้องสอนอะไร หลวงพ่อเป็นของจริง  อยู่เหนือการเปรียบเทียบกับสิ่งใดๆ

... หลวงพ่อมิใช่บุคคลที่พึงบูชาเท่านั้น  แต่ท่านเป็นกัลยาณมิตรของนักภาวนา ...
    นักฟุตบอลขณะเล่นฟุตบอล เมื่อลูกฟุตบอลผ่านหน้าเขาจะชู้ตทันที ทำนองเดียวกัน  การนั่งฟังหลวงพ่อคุย ทำให้เกิดความคิดแปลบปลาบ 
    ครั้งหนึ่งผมนั่งสมาธิอย่างยึดติดในสมถะ หลวงพ่อเทียนมาจี้ที่สีข้างถามว่า “ทำอะไร”
    ผม “ทำสมาธิ”
    หลวงพ่อ “ทำทำไม”
    ผม “เมื่อจิตสงบ ปัญญาก็เกิด”
    หลวงพ่อจับมือผมมาบีบ กล่าวว่า “การปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าต้องทำอย่างนี้”
    ผมไม่เข้าใจเพราะขณะนั้นยังไม่มีพื้นฐาน  ผมเข้าใจว่าการปฏิบัติคือการทำสมาธิ  ทำการปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ผมยังไม่รู้เรื่องการทำความรู้สึกตัว
    ครั้งหนึ่งที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ปากเกร็ด  จังหวัดนนทบุรี  หลังจากที่ผมจบการบรรยายแก่พระนวกะ หลวงพ่อมาดักถามผมว่า “ความรู้เหล่านี้เอามาจากไหน” ผมสะดุดเพราะคำถามนี้เขาไม่ถามกัน
    ตก ๔ ทุ่มคืนนั้น  ขณะที่นักศึกษาที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดชลประทานฯ แยกย้ายกลับที่พักกันหมด  ไม่มีใครรบกวน  หลวงพ่อมาเคาะประตูห้องผม  ถามว่า  “มีด้ายไหม”
    ผมดึงเส้นด้าย ขึงออก ถามท่านว่า  “จะเอาเท่าไร”
    หลวงพ่อถามหามีดโกน  แล้วเอามาตัดด้ายแล้วมองหน้าผม บอกว่า “ถ้าอาจารย์ยังมาไม่ถึงจุดนี้แล้ว ยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้า”
    หลังจากนั้น เวลาสี่ทุ่มของทุกคืน  ท่านมาหาผมที่ห้อง  เปิดย่ามเพื่อหาของมาเป็นอุปกรณ์ในการคุยเรื่องต่างๆ ให้ผมฟัง  ผมฟังไม่ค่อยจะเข้าใจนักเพราะท่านพูดภาษาอีสานแบบเหน่อๆ  แต่หลังจากนั้น ผมก็เริ่มชอบหลวงพ่อขึ้นมาเรื่อย ๆ
    ปีนั้นผมจะเดินทางไปประเทศอินเดีย  หลวงพ่อขอไปด้วย  ผมบอกว่า “หลวงพ่อไปไม่ได้ หลวงพ่อไม่มีพาสปอร์ต”    แต่หลวงพ่อก็ยืนยันจะไปด้วยให้ได้ ผมคิดว่าหลวงพ่อเหมือนเด็กอยากไปเที่ยว สิบปีให้หลัง ผมจึงรู้และเข้าใจว่าท่านตั้งใจจะไปช่วยผม เพราะขณะนั้นจิตใจผมเลื่อนลอยมาก อยู่ในความคิดตลอดเวลา หลวงพ่อคอยดึงให้ผมกลับมาดูสภาพจริงแท้ โดยผมไม่รู้ตัวด้วยการถามอยู่เรื่อย ๆ  เช่นว่า  “นั่นเสาอะไร” “โน่นหญ้าอะไร” ทั้งหมดก็เพื่อให้จิตออกจากความคิด

... ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน ...
    ผลงานของหลวงพ่อเทียน  สื่อให้เห็นถึงความสัตย์ซื่อของท่านที่มีต่อพระรัตนตรัย  ไม่บิดเบือนความจริง
    ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหลวงพ่อเทียนคือหลักประกันของความสงบสุขที่แท้จริงของชีวิต  ชนิดที่เรียกได้ว่า  ๒๐ ต่อ ๑  ลูกศิษย์ของหลวงพ่อเทียนที่ปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง ต่อเนื่อง จนเข้าใจอารมณ์ภาวนาแล้ว  จิตจะมีสติตั้งมั่นอยู่ยาวนาน  บางคนลาออกจากงาน  บางคนลาออกจากการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เพราะเห็นความเหลวไหลของทางโลก  แต่หากศิษย์คนใดศรัทธาไม่ตั้งมั่น  จิตใจก็จะเปลี่ยนไป  ตามโลกที่เปลี่ยนแปลงทุกขณะ

... การแก้อารมณ์ ...
    มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อ  “ปรกติ”  มีคุณภาพสูงมาก  เอื้ออำนวยต่อผู้ภาวนาเป็นอย่างดี  หนังสือเล่มนี้พูดถึงอารมณ์ภาวนา  การแก้อารมณ์  และวิธีการปฏิบัติเพื่อการรู้สึกตัว
    เราควรเรียนรู้ทฤษฎีพอประมาณ การแก้อารมณ์หมายถึงหากผิดเพี้ยนมาจะแก้อย่างไร  เวลาติดอารมณ์จะพูดไม่รู้เรื่อง  บางคนออกอาการเดินเร็ว พูดเร็ว ร้องไห้ คนติดอารมณ์มักจะไม่รู้ตัว ไม่ยอมรับ เหมือนคนเมาที่ไม่รู้สึกตัวและไม่ยอมรับว่าตนเมา
    การติดอารมณ์ถือเป็นสภาวะผิดปกติ เหมือนรถที่ขับแฉลบออกไปนอกเส้นทาง คนที่ติดอารมณ์ง่ายคือคนที่ชอบหวัง ปฏิบัติธรรมเพื่อหวังผล เป็นต้นว่าอยากเหาะได้ บางคนปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ ก็มีความรู้สึกอยากสอน เจอคนที่นาน ๆ พบกันทีแทนที่จะถามทุกข์สุขเขา พูดคุยกันดี ๆ  ก็ไปสอน ไปว่าเขา บางคนแรง ธาตุไฟกล้า ก็จะติดอารมณ์แรง
    คนที่จะแก้อารมณ์ได้ ต้องเป็นบุคคลที่ผู้ติดอารมณ์ให้ความเชื่อถือ สนิทและรู้ใจกัน
    วิธีแก้อารมณ์ ทำโดยการลูบหน้า ลูบมือ ให้เดินถอยหลังบ้าง กางมือบ้าง หรือเก็บใบไม้ ซักผ้า
    ครั้งหนึ่งหลวงพ่อเทียนเล่าว่าพระรูปหนึ่งปฏิบัติดีมาก แต่แก้อารมณ์ตนเองไม่เป็น พอถึงจุด ๆ หนึ่ง  เกิดอาการติดอารมณ์โดยไม่รู้สึกตัว เที่ยวเดินไปด่าชาวบ้าน เอาชะแลงไล่ทุบรถที่วิ่งเข้ามาในวัด ใครก็แก้อารมณ์ให้ไม่ได้ จนหลวงพ่อเทียนมาถึง ทันทีที่เห็นหน้าหลวงพ่อ พระรูปนั้นก็ทุเลาจากการติดอารมณ์

... การปฏิบัติธรรมกับการป่วยไข้ “ไปด้วยกันได้” ...
    ขณะนี้ท่านอาจารย์โกวิท เขมานันทะ ยังคงปฏิบัติอยู่เรื่อย ๆ ต่อเนื่อง ตลอดเวลา โดยไม่คาดหวังอะไร  ท่านอาจารย์บอกว่า
    “การปฏิบัติกับสุขภาพไปด้วยกันได้ ความเจ็บไข้ได้ป่วยคือความรู้สึกตัวที่ผิดปกติ ไม่มีอุปสรรคใดที่ทำให้ปฏิบัติไม่ได้ ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดา”

... หากใครเห็นหลวงพ่อเทียนปฏิบัติ  นั่นคือท่านกำลังสอนคน ...
    สมัยพุทธกาล  ภิกษุรูปหนึ่งเห็นพระพุทธเจ้ากำลังเดินจงกรม  จึงกราบทูลถามว่า  “ท่านกำลังปฏิบัติธรรมหรือ”
    พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า  การเดินจงกรมของท่านคือการบริหารน่อง
    สมัยหลวงพ่อเทียนยังมีชีวิตอยู่  หากใครเห็นท่านปฏิบัติธรรม  นั่นหมายถึงท่านกำลังสอนคน
    ชาวพุทธไทยฉลาด รู้จักประยุกต์การเดินเล่นมาเป็นการเจริญสติภาวนา เราเคย “ตื่น” ฝรั่ง แต่ตอนนี้ฝรั่ง “ตื่น” คนไทย
    ผมอยากให้ทุกคนตั้งใจปฏิบัติกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ อย่าทำเล่น ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทำอะไรเอาหัวใจทำ ให้สุดหัวใจ เอาจริง ทำจริง
    ผลเกิดจากเหตุคือความจริงใจ ให้บูชาการภาวนา
    อย่าบูชาหลวงพ่อเทียน  แต่ให้ปฏิบัติตามคำสอนของท่าน “นี่คือสิ่งที่หลวงพ่อเทียนต้องการ  นี่คือการบูชาหลวงพ่อเทียน”

... หลวงพ่อเทียนมีปรีชาญาณ ...
    ชาติกำเนิดเลือกไม่ได้ แต่หลวงพ่อเทียนมีปรีชาญาณ ท่านเป็นคนธรรมดา ถ้อยคำธรรมดา แต่แทงทะลุใจคน  ท่านเอาแก่นมอบให้คนที่เข้าร่วมปฏิบัติด้วยใจจริง ๆ ถือเป็นนิมิตที่ดีที่มีคนเข้าร่วมเรื่อย ๆ
    หลวงพ่อบอกว่า แทบทุกจังหวัดมีคนปฏิบัติตามแนวทางของท่าน ปฏิบัติแบบเงียบ ๆ ชนิดที่  “ทุ่มชีวิต” ให้ทั้งชาติไปเลย ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกกิจกรรมของชีวิตคือการภาวนา แต่ไม่เคร่งเครียด ไม่คาดหวัง และไม่เป็นทุกข์
    การปฏิบัติภาวนานี้ ไม่มีใครช่วยปฏิบัติแทนใครได้ นอกจากต้องปฏิบัติเอง ต้องช่วยตัวเองก่อน
    ที่สิงคโปร์ เวลาหลวงพ่อเทียนสอนปฏิบัติจะคึกคักมาก ชาวสิงคโปร์เดินมากมายเหมือนสายน้ำ 
    สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าตรัสกับนักบวชว่า ทุกลมหายใจคือการภาวนา ทั้งยืน เดิน นอน นั่ง ล้วนแล้วแต่ภาวนาทั้งสิ้น ที่เมืองสาวัตถี คนปฏิบัติเจริญสติกันทั้งเมือง อิทธิพลคำสอนของพระพุทธเจ้าครอบคลุมทั่วทั้งชมพูทวีป เป็นคำสอนที่ลัด ตรง ทุกคนทุกวัยได้รับประโยชน์ จนพราหมณ์คนหนึ่งถึงกับอุทานว่า  “เจอช้าง เจอเสือ เอาตัวรอดได้ แต่พอมาเจอพระสมณโคดม ไม่มีรอดสักราย”   
    คนรุ่นหลังๆ ให้ข่าวสารเรื่องชีวิต  แต่ชีวิตมิได้มีเท่าที่ตาเห็น  เราได้ตอบสนองต่อพระศาสดา  ต่อศรัทธาของพระองค์ท่านหรือไม่  ดูพระพุทธเจ้า  ดูวิถีทางของพระองค์  จากเจ้าชายผู้มั่งคั่ง  มาเป็นขอทาน  เพื่อแลกกับสติปัญญาระดับสูง

... ของดีเป็นของไทย  หลวงพ่อเทียนนำมาเปิดเผย ...
    ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของสติปัญญาระดับสูง  เป็นของดีของคนไทย  ฝรั่งตามหากันมาก  แต่คนไทยไม่เข้าใจ หลงลืมไป หลวงพ่อเทียนนำมาเปิดเผย ท่านทำเรื่องเล่าลือให้เป็นจริง คนทุกคนที่ปฏิบัติตามแนวทางของหลวงพ่ออย่างจริงจังแล้ว เขาจะเป็นสื่อที่ดี หลวงพ่อฝากลายไว้ให้โลกลือ เล่าลูกเล่าหลานในวันหน้า ท่านสอนโดยวิถีทางเฉพาะราย ท่านทำในสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาทำไม่ได้ “ให้โลกดู”  เหมือนเมื่อครั้งสมัยก่อนหน้านี้ที่มีพระอรหันต์นั่งตายให้โลกดู
    การนำการปฏิบัติภาวนามาประยุกต์เข้ากับการเต้น การรำ เพื่อดึงดูดให้คนสนใจเข้ามาร่วมปฏิบัติธรรมมาก ๆ นั้น เป็นการกระทำที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง เป็นการต่อรอง อาจทำให้การเจริญในธรรมเป็นไปอย่างเชื่องช้า จริงอยู่การกระทำดังกล่าวอาจทำให้คนเข้าร่วมได้มาก แต่เราไม่ได้วัดกันที่ตรงนั้น หากได้คนเข้าร่วม  ๑๐,๐๐๐  คน แต่ไม่ได้กรรมฐานก็เหมือนคนป่า หากธรรมะสร้างคนแล้ว คนจะเป็นสื่อเอง
    หลวงพ่อเป็นคนธรรมดา พูดเหน่อ มิใช่ผู้วิเศษ แต่ท่านเข้าถึงจริง ๆ  ท่านบอกว่า หากพระพุทธเจ้าเสด็จมาสนามหลวง ท่านจะไม่ไปเยี่ยม ฟังเหมือนอวดดี แต่จริง ๆ แล้วท่านให้กำลังใจ เพราะการภาวนายาก คนมักเกียจคร้านและเบื่อหน่าย หรือที่ง่ายเกินไป นี่ก็เป็นปัญหาได้เท่ากัน
    หลวงพ่อไม่กระหายจะมีสาวก หากเขาไม่พร้อมจะเอาหัวใจให้ เราก็ต้องรอก่อน นักฟุตบอล หากไม่มีลูกฟุตบอลผ่านหน้า ชู้ตไปก็เหนื่อยเปล่า เราต้องการความแน่วแน่ มิใช่ตึงเครียด เอาเป็นเอาตาย อาจเป็นบ้าได้

... การตั้งสติคือการภาวนา ...
    คนเรามักกังวลเรื่องสุขภาพจนลืมปฏิบัติธรรม แล้วหลงเรียกว่าภาวนา จริง ๆ แล้วไม่ใช่ การตั้งสติคือการภาวนา ปฏิบัติแบบธรรมดา ๆ ไม่หวังอะไร ผลย่อมเกิดแต่เหตุ ทุกครั้งที่ปรารภความเพียร คือทุกครั้งที่ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
    เรื่องสุขภาพ อาหารการกิน ธุรกิจ ถือเป็นเรื่องเล็ก ๆ อย่าไปทุ่มเทมาก เรื่องใหญ่กว่านั้น “มี” ให้นั่งยกมือสร้างจังหวะ เจริญสติ จับความรู้สึกตัว แล้วชีวิตจิตใจจะงอกงามไปเรื่อย ๆ โดยที่เราคาดไม่ถึง เราจะพบว่าเรื่องใหญ่ได้เกิดขึ้นแล้ว มันเปลี่ยนได้จริง ๆ เคยกลัวความยากจน กลัวผี กลับกลายเป็นไม่กลัว ไม่กังวลกับเรื่องใด ๆ จิตใจที่เดิมเต็มไปด้วยความทุกข์ จะกลับทุเลา เบาบางลง น้อยใจคนไม่เป็น บางเรื่องที่คิดว่าเราไม่น่าจะทำได้ แต่เราทำได้ เรื่องนี้เราน่าจะทุกข์ แต่เราไม่ทุกข์ เรื่องเช่นนี้เราน่าจะโกรธ แต่เรากลับเฉยมิใช่เก่งกล้าที่ละกิเกสได้ กิเลสยังมีอยู่ แต่เราไม่อุ้มฉวยมันมา มันก็ไม่หนัก
    มิใช่กิเลสหมด  มันยังมี  แต่เราไม่ยึดถือ  มันก็ไม่หนัก  ขอให้วันคืนเป็นวันคืนแห่งการภาวนา  อย่าให้ผลประโยชน์เล็กน้อยช่วงชิงผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของชีวิต
    เมื่อไรที่จับความรู้สึกตัวได้  เมื่อนั้นหลวงพ่อเทียนอยู่ตรงนั้น  พระพุทธเจ้าอยู่ตรงนั้น  คือ อยู่กับปัจจุบัน  แต่อย่าเกาะกับปัจจุบัน
    อยู่กับปัจจุบัน  แต่อย่ายึดถือปัจจุบัน
    ดูใจอย่างเดียวคือการปฏิบัติ
    การภาวนาเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรม  เปลี่ยนมารู้สึกตัว  พอรู้ตัวว่าขาดสติ  นั่นคือสติ
    การภาวนาอย่างต่อเนื่องจะทำให้รู้สึกตัวถี่ขึ้น  ความไม่รู้สึกตัวจะถดถอย  ความไม่รู้สึกตัวมีรากเหง้าคืออวิชชา  เหมือนการเล่นเก้าอี้ดนตรี  หากคนหนึ่งนั่งแล้ว  อีกคนก็นั่งไม่ได้
    การไม่รู้สึกตัว การรู้สึกตัวอย่างไม่ต่อเนื่อง การดิ้นรนที่จะรู้สึกตัว ถือเป็นความทุกข์ทั้งสามอย่าง    อุปสรรคของการปฏิบัติคือ ปฏิบัติไม่ต่อเนื่อง ปฏิบัติแบบเล็งผลเลิศ
    การปฏิบัติเพื่อความรู้สึกตัวตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน เป็นเรื่องง่าย ๆ แต่ยากสำหรับคนเหยาะแหยะ แล้วจะมากินแหนงตัวเองภายหลังว่า หากรู้อย่างนี้ปฏิบัติจริง ๆ จัง ๆ ตั้งแต่ต้นก็ดี
    ท่านอาจารย์โกวิท เขมานันทะเล่าเรื่องหลวงพ่อเทียนให้พวกเราฟังมาถึงตรงนี้แล้วท่านก็รู้สึกเหนื่อยมาก  สำหรับวันนี้จึงขอหยุดพักไว้เพียงเท่านี้ก่อน
    เราทั้งสองเห็นว่า  ตลอดเวลา  ๒ ชั่วโมงที่ท่านอาจารย์กรุณาเล่าเรื่องธรรมะของหลวงพ่อเทียนให้พวกเราฟังนั้นมีประโยชน์มาก จึงขออนุญาตท่านอาจารย์นำไปเผยแพร่ ท่านก็อนุญาตและกรุณาตรวจต้นฉบับให้ด้วย พวกเรา คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน ๔ ภาค ๑๐๐ ปี ชาตกาลหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ  ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์โกวิท เขมานันทะเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้

เรา  ๒  คน สมคิด  มหิศยาและสิริรัตน์  เจ้าประเสริฐ  ผู้เล่าเหตุการณ์


- - - - - - - - - - - - - - - - -
กลับสู่ด้านบนเว็บนี้

ไปสู่เว็บหลัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น