คำทักท้วงจาก ท. ถึง ว. (อย่ามัวทำตัวเป็นโพธิสัตว์)

          ครั้งหนึ่ง จากเรื่องจริงของนักปฏิบัติธรรม   ชายคนหนึ่งมีนามว่า ว. มีอาชีพค้าขาย  อาศัยอยู่แถบใจกลางเมืองหลวงของเรานี่เอง   เขาเป็นคนมีอัธยาศัยดี  จิตใจโอบอ้อมอารี ชอบช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ เป็นที่รักใคร่ของเพื่อน ๆ และผู้คนที่ได้รู้จักกับเขาอย่างมากมาย

          ก่อนที่เขาจะเรียนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง    เขาและเพื่อนๆ มีความเห็นพ้องต้องกันว่า  ควรจะทำประโยชน์อะไรสักอย่างให้กับสังคมเรา   จึงได้ตกลงจัดรายการพิเศษ   เดินทางไปศึกษาธรรมะที่สวนโมกข์ จ.สุราษฎร์ธานี  โดยเชิญชวนเพื่อนๆ และผู้ที่สนใจในธรรมะทั่วไป  ร่วมไปในรายการที่จัดขึ้นนี้

         เหมือนกับว่ามีอะไรบางอย่าง มาดลใจเขาและเพื่อน ๆ   ขณะที่ได้สดับฟังการบรรยายธรรมของท่านอาจารย์ที่สวนโมกข์   พวกเขาเกิดความประทับใจในธรรมะของพระพุทธศาสนามากขึ้น   จึงคิดจะช่วยงานเผยแพร่ธรรมะแห่งพุทธศาสนาให้กับผู้ที่สนใจทั่วไป  เพื่อให้ได้ทั้งประโยชน์ทั้งส่วนตนและผู้อื่น

         หลังจากกลับจากสวนโมกข์แล้ว   พวกเขาจึงช่วยกันเผยแพร่ธรรมะ ด้วยการคัดลอก ตีพิมพ์บทความธรรมะที่คิดว่า จะเป็นประโยชน์ให้แก่สมาชิกที่สนใจมากมาย ภายใต้การนำของ ว.

         จนกระทั่งวันหนึ่ง ว. ได้ไปพบวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงสำนักปฏิบัติธรรม   ซึ่งมาภายหลังพบว่าเป็นวัดเก่าแก่ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้า   ที่นั่น เขาได้พบกับพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อว่า ท. เดินทางลงมาจากแถบภาคอิสานเหนือ สำเนียงถ้อยคำทีท่านพูด เป็นภาษาอิสานปนภาษาไทยภาคกลาง   ฟังได้พอเข้าใจ แต่สิ่งที่น่าแปลกก็คือ พระภิกษุรูปนี้ ไม่รู้หนังสือเลย  แต่สามารถสอนธรรมะขั้นสูงด้วยภาษาพูดง่ายๆ  ระดับชาวบ้าน ซึ่งฟังง่าย แต่ความหมายนั้นลึกซื้ง เป็นเรื่องวิถีทางหลุดพ้นจากทุกข์  นั่นก็คือแก่นแท้ของศาสนาพุทธ

          สิ่งที่ ว. ได้พบ  ทำให้เขาประทับใจในการปฏิบัติธรรมแบบง่ายๆ โดยฝึกสติสร้างความรู้สึกตัว ใช้ในชีวิตประจำวันได้ทุกขณะ  และบรรยากาศของวัด ก็เป็นลักษณะของวัดป่า  แต่ตั้งอยู่ในเขตชานเมืองแถบฝั่งธนบุรีนี้เอง  จึงคิดจะเผยแพร่การปฏิบัติธรรมแบบง่ายๆ นี้ให้กับสมาชิกกลุ่มและเพื่อนๆของเขา   โดยการจัดให้มีการฟังธรรมและปฏิบัติธรรมอยู่เป็นประจำเสมอมา ณ ที่วัดแห่งนี้  จนเป็นที่รู้จักของนักปฏิบัติธรรมว่า   เป็นวิธีปฏิบัติธรรมแบบลัดสั้น  ซึ่งบังเอิญเหมือนกับพุทธศาสนาในญี่ปุ่นนิกายหนึ่ง  ชื่อว่าแบบ "เซ็น"   คือทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ตนเองหลุดพ้นจากทุกข์ ด้วยระยะเวลาอันสั้น โดยข้องแวะกับตำราหรือพิธีรีตองให้น้อยที่สุด   ถือว่าการเรียนรู้ตัวแก่นแท้ของพระพุทธศาสนานี้ ต้องเรียนจากร่างกายที่ยาวประมาณวา หนาประมาณคืบนี้เท่านั้น   

          การจัดรายการปฏิบัติธรรมที่วัดนี้  บ่อยครั้งแทบจะทุกๆเดือน    ทำให้สมาชิกสนใจการปฏิบัติธรรมและเข้าใจตัวธรรมะภาคปฏิบัติมากยิ่งขึ้น ซึ่ง ว. เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทุกครั้ง

          อยู่มาวันหนึ่ง  ว. ก็เข้าไปที่วัดแห่งนี้อีก เพื่อจะปรึกษากับพระภิกษุ ท. สำหรับการจัดรายการ
ให้สมาชิกในครั้งต่อไป   มาคราวนี้แปลกกว่าครั้งก่อน  พระภิกษุ ท. ไม่ได้แนะนำเรื่องจัดรายการปฏิบัติธรรมเหมือนกับครั้งที่แล้วๆมา  แต่พูดกับ ว.  ว่า “ทำไม ? คุณถึงมัวแต่ทำงานของโพธิสัตว์อยู่เล่า  เที่ยวโปรดแต่สัตว์ผู้อื่น   กิจกรรมที่พวกคุณทำนะ ทราบไหมว่า  มันเป็นเพียงทางไปสวรรค์เท่านั้นหรอก  หาใช่ทางนิพพานสำหรับตนเองไม่ เหตุใดเล่า จึงไม่สนใจตัวเองก่อน  สร้างความเป็นพุทธะให้เกิดในใจเสียก่อน  ชีวิตนี้มันสั้นนัก  ระวัง ! ตัวคุณเองเกิดมาแล้วจะเสียเวลาเปล่า”
          ว. ได้ยินได้ฟังแล้วถึงกับตะลึงงัน ลืมเรื่องที่จะคิดจัดรายการให้กับผู้อื่นเสียหมดสิ้น เพราะนี่เป็นการชี้ขุมทรัพย์ครั้งยิ่งใหญ่ที่เขาไม่เคยได้รับจากผู้ใดมาก่อนเลย

          เขากลับไปและครุ่นคิดอย่างมากมาย ถึงคำพูดที่ได้ฟังวันนั้น "ทำไมเราช่วยทำให้คนอื่น อาบอิ่มไปกับรสแห่งธรรมกันไปตามๆ กัน แต่เรากลับปฏิเสธหนทางนี้เสียเอง  เปรียบประดุจพนักงานเสริฟในร้านอาหารซึ่งบริการเสริฟอาหารอันอุดมด้วยรสชาดแก่ลูกค้า    โดยที่ตนเองไม่มีโอกาสลิ้มรสอาหารอันอร่อยนั้น ๆ เลย"

          เมื่อ ว. คิดได้เช่นนั้น  จึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่  ที่จะเข้าปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง ณ ที่วัดนี้
แต่โอกาสก็ยังไม่อำนวยให้  เนื่องจากเขามีอาชีพค้าขาย และตัวเขาเองก็เป็นกำลังสำคัญในการทำงาน  ของบางอย่างที่ขายในร้าน เขารู้รายละเอียดแต่เพียงผู้เดียว  
          โชคดียังเป็นของ ว. เขามีกัลยาณมิตรอยู่มากมาย  ซึ่งคนเหล่านี้ได้ยอมเสียสละ ลางานของตนเองมาสับเปลี่ยนกัน ช่วยขายของที่ร้านของ ว.

          โอ้ ! โอกาสอันงามเป็นของเขาแล้ว  เขารีบไปปฏิบัติธรรมแบบเก็บอารมณ์ 7 วัน  กับพระภิกษุ
ท. ที่วัดแห่งนั้นทันที เพื่อค้นหาธาตุแห่งความเป็นพุทธะให้ปรากฏแก่ตัวเอง

          ในสองสามวันแรก ๆ ของการปฏิบัติ  ว. ก็เหมือนกับนักปฏิบัติโดยทั่วไป ซึ่งมักจะจดจำข้อความจากหนังสือธรรมะที่ได้เคยอ่านมา เคยคิดคำนึงไว้ นำไปฝึกปฏิบัติ  แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิดเสียแล้ว  ภาคปฏิบัติธรรมมันต่างจากภาคปริยัติธรรม "สิ่งที่เราคิดว่าใช่ ตามความเข้าใจของเรา  มันก็กลับไม่ใช่(ธรรมะชั้นสูง)"

         พระภิกษุ ท. มาสอบอารมณ์ ว. เป็นระยะๆ แนะนำให้พยายามลืมอดีต อนาคต ความรู้เก่า
ที่ได้ศึกษามาให้หมดสิ้น  ในระหว่างที่ปฏิบัติธรรมตามแบบของท่าน   เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค   มีสติอยู่เพียง รู้ อยู่ ทำความรู้สึกตัวอยู่กับปัจจุบัน  เพียงเฝ้าดูปรากฏการณ์ที่เกิดกับกายและจิตใจของตนเท่านั้น   ซึ่ง ว. ก็เชื่อฟังและทดลองทำดู

          ในวันต่อมา เขาเริ่มจะทำได้ถูกทาง  เขาเห็นอาการที่ความคิด (ความทุกข์) เริ่มก่อตัวในจิต
ของเขาอย่างไร    และสามารถดับมันลงได้ด้วยการมีสติ   รู้สึกตัวอยู่เท่านั้น    สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็ดับลงไปได้ด้วยตัวของมันเอง  ไม่ต้องคิดใช้เหตุผลพยายามลบล้างมัน

          พระภิกษุ ท. มาสอบอารมณ์เขา  และกล่าวว่า “ใช่แล้ว  จิตโยมเริ่มเข้ากระแสทางธรรมแล้ว
ถูกต้องโดยไม่ต้องอาศัยหนังสือตำรับตำราหรือครูอาจารย์ชักจูงชีวิตอีกต่อไป   บัดนี้  พระธรรมที่โยมได้พบด้วยตนเองแล้ว นี่จะเป็นสิ่งนำทางชีวิตของโยมตลอดไปจนถึงที่สุดของทุกข์  นี่แหละ ที่เรียกว่า ผู้ปฏิบัติธรรมพึงเห็นได้ด้วยตนเอง (ปัจจัตตัง)”

         ว. เหมือนกับได้ชีวิตใหม่ จิตใจมีความรู้สึกอิสระจากสิ่งทั้งปวงได้  แม้ว่าจะยังไม่เป็นการถาวร
แต่แน่แท้ว่า วันหนึ่งความหมดทุกข์อย่างสิ้นเชิงจะต้องเป็นของเขา

          บัดนี้ ความชั่วเขาก็จะไม่ทำอีกแล้ว  ความดีล่ะ ! ก็เป็นสิ่งควรจะทำต่อไป  แต่คราวนี้  เขาจะ
ไม่ทำความดีด้วยความงมงายอีกแล้ว  การคิดจะช่วยผู้อื่น  โดยที่ตัวเองยังเอาตัวไม่รอดละก็  ไม่ขอทำอีกแล้ว  เพราะในการเดินนำทางผู้อื่น   ถ้ายังไม่รู้จักเส้นทางนั้นดีพอ  ก็อาจทำให้ชีวิตของทั้งผู้นำทางและผู้เดินตามนั้นเดินวกวนไปอย่างไร้ประโยชน์ ไม่รู้จักจุดหมายแท้จริงแน่นอน ...

          ท่านทั้งหลาย ท่านเคยได้รับคำทักท้วงอย่างเช่น  ว.  แล้วหรือยัง ?  หากท่านเคยได้รับละก็
ท่านจะปล่อยโอกาสของคุณให้ผ่านไปอย่างง่ายดายหรือ    รีบทำให้ชีวิตของเราพบกับความสุขอันถาวรของชีวิตด้วยการปฏิบัติธรรมเถิด  ผลลัพท์ก็จะเกิดกับคุณในไม่ช้า

          และหากท่านทั้งหลายไม่เคยได้รับคำทักท้วงเช่นนี้มาก่อน    ก็ยังมีอีกผู้หนึ่งที่สามารถจะมาทักท้วงท่านได้  เขาผู้นั้นก็คือ ตัวท่านเอง


จากเรื่องที่ท่านได้อ่านจบไปแล้วนี้
          ท. ก็คือ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ   

 

          ว. ก็คือ คุณวุฒิชัย  ทวีศักดิ์ศิริผล 
อดีตประธานกลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม ผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยอายุเพียง 35 ปีเท่านั้น








      


          ท่านทั้งหลายคงไม่ปรารถนาให้ความตายมาพลัดพราก  โอกาสการเข้าถึงธรรมที่ทุกคนสามารถทำให้มีได้ในชีวิต หากเพียงเริ่มเสียแต่วันนี้  

          สำหรับกรณี "คุณวุฒิชัย" นั้น มันเกือบจะสายไปเสียแล้ว เพราะธรรมจากการปฏิบัติที่เขาได้รับในวันนั้น เป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดในชีวิตที่สุดของเขา คือเขาได้เห็นธรรมในระดับ เข้าใจเรื่องรูปนาม อันเป็นการเข้าเส้นทางเบื้องต้นที่ถูกต้องตามแบบเส้นทางพระอริยะนั่นเอง

          " ท่านทั้งหลาย จงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด "  พุทธพจน์



จากข้อเขียนลงในเอกสารประจำเดือนของ
กลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม (ไกวัลย์)
มิถุนายน ๒๕๓๒
ย้อนรอยอดีตโดย โตสื่อพระธรรม



3 ความคิดเห็น: