หลวงพ่อเทียนผู้ที่ผมไม่เคยพบ แต่ได้รู้จัก โดย ศ.น.พ.คงศักดิ์ ตันไพจิตร



หลวงพ่อเทียนผู้ที่ผมไม่เคยพบ แต่ได้รู้จัก
โดย ศ. น.พ.คงศักดิ์ ตันไพจิตร

พวกเราคงได้เล่าเรียนพุทธศาสนากันมาตั้งแต่เล็ก  ในระดับการศึกษาขั้นประถมและมัธยมว่าหัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ 1 ละเว้นจากการทำชั่ว  2 พึงทำแต่ความดี   3 ทำใจให้ผ่องแผ้ว   ดังปรากฏในโอวาทปาฏิโมกข์ ผมสันนิษฐานมาแต่เล็กว่า คำสอนข้อที่ 3  นี้ จะต้องสำคัญที่สุด  ซึ่งทำให้พุทธศาสนาต่างไปจากศาสนาอื่นและโดดเด่นสามารถช่วยให้คนพ้นทุกข์ได้ แต่ก็ไม่เข้าใจว่าความหมายที่แท้จริงของการทำใจให้ผ่องแผ้วนี้คืออะไร  หลายปีผ่านไป   ผมจึงได้เรียนรู้ว่า  นั่นคือการปฏิบัติวิปัสสนาให้เกิดญาณปัญญา  ให้เห็นความจริงตามที่เป็นจริง ก้าวล่วงพ้นจากความทุกข์และความขัดแย้งภายในจิตใจ  มีจิตที่เป็นอิสระและสุขสงบอย่างสมบูรณ์ 

ครั้นอายุได้ 21 ปี ผมจึงได้รู้จักคำว่ากรรมฐาน  เมื่อผู้สูงวัย 2 ท่านปรารภต่อกันว่า "ถ้าฉันไม่ได้ `พุทโธ' ฉันคงขึ้นมาไม่ถึงยอดภูกระดึงแน่ๆ" ทำให้ผมสงสัยเป็นอย่างมากว่า ที่ว่า `พุทโธ' นี้คืออะไรแน่  ในเดือนถัดมาผมก็ได้รับคำตอบ เมื่อเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ในฉายานามว่า “ปัญญวโร” ณ วัดบวรนิเวศน์วิหาร โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันเป็นพระอุปัชฌาย์   ได้มีโอกาสฝึกอานาปานสติกรรมฐานที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร และ ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี  ภายใต้การสอนของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน (พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือ หลวงตามหาบัว) ด้วยการเจริญสติโดยกำหนดลมหายใจว่า ‘พุท-โธ’ เป็นหลัก เกิดความมั่นใจว่า  วิปัสสนากรรมฐานนี้แหละเป็นหัวใจและเป็นทางเดียวที่จะนำให้ล่วงพ้นทุกข์ได้  และจะเป็นทางให้พิสูจน์ความจริงได้ด้วยตนเอง

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ความจริงแล้ว ก็คือ การอบรมจิตให้เห็นจิตหรือตัวมันเองอย่างแจ่มแจ้งตามความเป็นจริง ให้เห็นสภาพหรือสภาวธรรมที่แท้จริงของมัน ให้มีสติ-สัมปชัญญะอย่างแจ่มแจ้งเห็นการเกิด-ดับของรูป-นาม (ได้แก่ร่างกาย-จิตใจ ของเรานี้เอง หรือ กาย-จิต ซึ่งเป็น รูปธรรม-นามธรรม) โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางใจ คือ ‘นามรูป’ หรือความคิดที่เกิด-ดับ สืบก่อต่อเนื่องจากข้อมูลที่ได้รับมาจากสภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นผ่านทางอายตนะทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ   รูป-นาม เป็นต้นตอรากฐานกำเนิดของสมมติบัญญัติ ที่ชักนำให้เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสภาวธรรมต่างๆให้เป็นทุกข์ ด้วยคิดแต่เพียงว่า ทุกสิ่งเป็นของของตน เที่ยงแท้ถาวร ไม่แปรเปลี่ยน คนทุกคนล้วนประกอบด้วยกายและจิต แต่เต็มไปด้วยอัตตาหรือโมหะครอบงำอยู่  บดบังไม่ให้จิตเห็นสภาวะจิต-สภาวธรรมที่แท้จริงตามความเป็นจริง  ว่าทุกสิ่งเป็นไปตามกฎแห่งพระไตรลักษณ์ กล่าวคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของเราตามความคิดหวังของเรา

ดังนั้น  การกระทำ การพูด การคิด   จึงเป็นไปในลักษณะเข้าข้างตอบสนองความต้องการหรือความไม่ต้องการของตนเองอยู่ตลอดเวลา  มุ่งแต่ไขว่คว้า กอบโกยแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตนในสิ่งที่เป็นสมมติบัญญัติซึ่งสบอารมณ์ของตน  หรือ ผลักไส  ขับไล่ เข่นฆ่า  ต่อสิ่งที่ไม่สบอารมณ์แห่งอัตตาของตนอยู่เช่นนี้ตลอดเวลา สร้างปัญหาความเดือดร้อนและความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ตนตลอดถึงผู้อื่นที่เกี่ยวข้องโดยไม่รู้จักจบสิ้น ดังนั้น ท่านจึงสอนให้มีสติตามดูรู้ทันที่กายและจิตของตนเอง ให้เห็นต้นตอของความคิดที่เกิด-ดับอยู่ตลอดเวลา  อันเป็นเชื้อและรากเหง้าให้ถูกครอบงำด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งซ่อนเร้นแอบแฝงมากับความคิด ทำให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป  

จุดประสงค์ของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จึงเป็นไปเพื่อให้จับความคิด เห็นความคิดขณะที่เกิดขึ้นให้ได้ตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้ลุ่มหลงโง่เง่าไปกับอารมณ์ของจิตและความลักคิดอีกต่อไป  ให้เห็นสภาวะจิตที่แท้จริงโดยปรมัตถสัจจะ นั่นคือเห็นสภาวธรรมล้วนๆหรือปรมัตถธรรม (ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน) ของจิตว่า จิตนั้นมีความบริสุทธิ์  ผ่องใส  ประภัสสร  มีสภาพแห่งพุทธะอยู่แล้วตลอดเวลา หากแต่ถูกครอบงำบดบังด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลงที่ซ่อนเร้นมากับความคิด ไม่รู้เท่าทันความคิด ทำให้จิตเข้าไปติดอยู่ในความลักคิด ตกเป็นทาสของความคิด โดยไม่รู้ตัวว่ากำลังติดอยู่ในความคิด แต่กลับแสดงออกมาในรูปลักษณะอาการตอบสนองหรือตอบโต้ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง หากเพียงแค่เห็นจิต เห็นความคิด จิตจะหลุดจากความเป็นทาสของความคิด กลับเป็นอิสระหายทุกข์ พุทธะอยู่ที่จิต จิตคือพุทธะ  จิตคือหลักธรรม สัจธรรม และหลักธรรม สัจธรรม ก็คือจิต อยู่ที่จิตนี้เอง

ท่านอาจารย์พุทธทาสได้อธิบายถึงอานาปานสติโดยสมบูรณ์แบบ (แยกเป็นรายละเอียด 16 ขั้นตอน) ว่าได้รวมมหาสติปัฏฐาน 4 ไว้ในตัว กล่าวคือ มีการผูกสติ-สร้างความรู้สึกตัว ด้วยการตามดูรู้ทันสภาวธรรม สังเกตดูตนเองที่ กาย เวทนา จิต ธรรม ทั้ง 4 หมวด  ซึ่งเป็นหัวใจของวิปัสสนากรรมฐานอยู่อย่างพร้อมบริบูรณ์   โดยมีหลักว่าให้ระลึกรู้ด้วยสติ-ความรู้สึกตัวที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก และในมหาสติปัฏฐานสูตรนี้เองสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ายังได้ตรัสว่า บุคคลใดสามารถดำรงสติให้เกิดต่อเนื่องกันดั่งลูกโซ่ อย่างนาน 7 ปี อย่างกลาง 7 เดือน  และอย่างเร็ว 7 วัน  จะมีอานิสงส์ให้ผู้ปฏิบัติสามารถบรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์ หรืออย่างน้อยที่สุด เป็นพระอนาคามีได้ในปัจจุบัน

ผมเกิดความมั่นใจว่า ได้พบอุปกรณ์เครื่องมือในการปฏิบัติที่ถูกทางแล้ว    แม้พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยอาศัยการปฏิบัติอานาปานสตินี้เอง  จึงเป็นกำลังใจให้ผมปฏิบัติในแนวนี้ต่อเนื่องสืบมาโดยลำดับ และได้ประสบผลก้าวหน้ามากตามสมควร  แต่เนื่องด้วยวิชาชีพและภารกิจที่รัดตัว การปฏิบัติธรรมของผมมักจะเป็นตอนดึกหรือเช้าตรู่ ตามแต่เวลาจะอำนวย จิตสามารถรวมตัวเป็นสมาธิได้อย่างดีและรวดเร็ว มีสติสัมปชัญญะในช่วงขณะของการปฏิบัติเป็นอย่างดี ส่วนในชีวิตการงานประจำวัน แม้จะสามารถผูกสติอยู่กับลมหายใจระหว่างปฏิบัติหน้าที่การงานได้  แต่ด้วยลักษณะของลมหายใจนั้นละเอียดอ่อนมาก การผูกสติกับลมหายใจนอกเหนือจากเวลานั่งกรรมฐานแล้ว   มักจะผูกสติได้ไม่แนบสนิทแน่น  หรือไม่ดีเท่าที่ควร และมักขาดช่วงไม่ต่อเนื่อง เมื่อถูกรุมล้อมด้วยภารกิจประจำวันที่ต้องใช้ความคิดการตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา

อาจารย์ผู้สอนอานาปานสติท่านหนึ่ง  ได้ให้ข้อคิดว่า  เรื่องอานาปานสติโดยสมบูรณ์แบบ 16 ขั้นนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องมีเวลาในการปฏิบัติ  เหมาะสำหรับพระสงฆ์ซึ่งมีเวลาในการบำเพ็ญเพียรทางจิตได้มาก   ผมเองอดรู้สึกสะท้อนใจไม่ได้ว่า คงจะเป็นเรื่องยากมากสำหรับผม เพราะชีวิตการครองเรือนอย่างฆราวาส เต็มไปด้วยภารกิจทั้งที่ทำงานและทางบ้าน  แม้จะได้รับผลก้าวหน้าในการปฏิบัติอานาปานสติเป็นอย่างมากแล้วก็ตาม  แต่ก็ต้องยอมรับตามคำวิจารณ์นั้นว่า ผมไม่มีเวลาให้พอเพียงสำหรับการนั่งปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในอานาปานสติโดยสมบูรณ์แบบทั้ง 16 ขั้นนั้นได้เสมอไป กระนั้นก็ตาม ผมก็พยายามปฏิบัติโดยอาศัยเคล็ดจากท่านอาจารย์พุทธทาสว่า หากไม่มีเวลาเพียงพอ แต่ชำนาญในการปฏิบัติแล้ว  ก็สามารถข้ามขึ้นสู่จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานได้เลย   คือ ตามดูรู้ทันจิตเลยทุกครั้งที่มีการหายใจออกเข้า    ซึ่งตรงกับแนวการสอนการปฏิบัติของหลวงปู่ดูลย์  อตุโล  (พระราชวุฒาจารย์) ที่สอนให้เอาจิตดูจิต (คือใช้สติดูจิต) ให้เห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง ไม่ส่งจิตออกนอกไปกับความคิด

สิ่งที่เป็นปริศนาธรรมสำหรับผมอย่างมากนั้น คือ ในสมัยพุทธกาล กล่าวกันว่าใน เมืองสาวัตถีที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่นานถึง 25 พรรษา มีพลเมือง 2 โกฏิ (เข้าใจว่าประมาณ 2 แสนคน) เป็นชาวพุทธ 80 %  และในกลุ่มชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธนั้น  เป็นพระอริยเจ้า 60 % คือ เป็นพระโสดา พระสกทาคามี พระอนาคามี  และชาวพุทธทุกท่านรู้จักการเจริญมหาสติปัฏฐาน 4 โดยทั่วกัน  แม้แต่นกแขกเต้าก็ยังรู้จักวิธีเจริญมหาสติปัฏฐาน   ซึ่งทำให้ผมสะท้อนใจมากว่า หัวใจของมหาสติปัฏฐาน 4 โดยแท้จริงนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่ง่ายมาก   แต่เคล็ดลับนี้ได้ถูกลืมไป   มิฉะนั้น  ท่านคงไม่ทิ้งปริศนาธรรมไว้ว่า แม้แต่นกก็ยังทำได้  ผมสันนิษฐานว่า คงเปรียบเทียบได้กับการที่ทุกคนในปัจจุบันรู้จักวิธีขับรถ  หากได้รับการฝึกหัดสอนเทคนิคให้รู้เคล็ดลับนั้น

เมื่อปีพ.ศ.2533 ผมบังเอิญได้อ่านคอลัมน์ในวารสารธรรมะฉบับหนึ่ง กล่าวถึงอาจารย์วิปัสสนาที่โดดเด่นของเมืองไทยนั้นว่า มีท่านอาจารย์พุทธทาส และหลวงพ่อเทียน  ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินชื่อของหลวงพ่อเทียน และแปลกใจที่ว่าทำไมไม่เคยได้ทราบนามของท่านมาก่อน   ทั้งที่ผมก็อยู่ในวงการพุทธศาสนาและวงการปฏิบัติธรรมมานานพอสมควร  จึงเพียงแต่คิดว่าสักวันหนึ่งคงจะต้องพยายามหาคำสอนของท่านมาศึกษาดูให้ได้

ในปีนั้นนั่นเอง  ผมกลับมาเยี่ยมบ้านที่เมืองไทย  อันเป็นช่วงเวลาสำหรับกว้านซื้อหนังสือธรรมะของผมด้วย  บังเอิญไปเจอหนังสือ ‘ปกติ’  ของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ  วางขายอยู่ที่ร้านแพร่พิทยา เลยซื้อมาลองอ่านจึงได้ทราบแน่ชัดว่า   นี้คือหลวงพ่อเทียนที่ผมตามหาและต้องการรู้จัก  แต่ได้ทราบว่าท่านมรณภาพไปแล้ว  เพราะหนังสือเล่มนี้พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานประชุมเพลิงศพของท่าน  กระนั้นก็ดี ธรรมะของท่านมิได้ตายตามท่านไปด้วย  วิธีการปฏิบัติของท่านก็แปลกประหลาด ไม่เคยเห็นมาก่อน แต่มีเหตุผลน่าจูงใจให้ลองปฏิบัติดู  พิจารณาดูแล้วเป็นการปลุกสติให้ตื่นผ่านการเคลื่อนไหวทางกาย และไม่ขัดกับหลักมหาสติปัฏฐาน 4  มิหนำซ้ำยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ทันทีอย่างดีด้วย    อาทิเช่น เวลาขณะขับรถบนท้องถนนในกรุงเทพฯในช่วงระยะนั้น ซึ่งจะต้องมีสติสมาธิพร้อมเผชิญภัยอยู่ตลอดเวลา  เป็นต้น ผมจึงกว้านซื้อหนังสือของหลวงพ่อเทียนบางเล่มที่มีวางตลาดอยู่ขณะนั้น เพื่อนำไปฝากสหธรรมิกที่เมืองเซนต์หลุยส์  สหรัฐอเมริกาด้วย

นับว่าผมได้รับความเมตตากรุณาจากเหล่าสานุศิษย์ของหลวงพ่อเทียนเป็นอย่างมาก นับตั้ง แต่ คุณวิรุจ รอดโพธิ์ทอง ผู้พิมพ์หนังสือ ‘ปกติ’ ซึ่งต่อมาได้ส่งวีดีโอเทป และเทปธรรมะของหลวงพ่อเทียนไปให้ที่สหรัฐ ช่วยให้การปฏิบัติของผมเป็นไปได้อย่างถูกต้อง และ จะเรียกว่าโชคดีเป็นอย่างมากที่ในปีถัดมา (พ.ศ.2534)   ท่านอาจารย์โกวิท เขมานันทะ ได้รับเชิญจากเมืองไทยโดยพระอาจารย์ ดร.สุนทร พลามินทร์ ให้ไปสอนกรรมฐาน ณ วัดพุทธธรรม เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา    จึงเป็นโอกาสอย่างดี ให้วัดพระศรีรัตนารามซึ่งเป็นวัดไทยในเซนต์หลุยส์ ได้ร่วมเชิญท่านอาจารย์โกวิทมาสอนกรรมฐานด้วย ผมจึงได้รู้จักหลวงพ่อเทียนอย่างใกล้ชิดโดยผ่านความเมตตาของท่านอาจารย์โกวิท เขมานันทะนี้เอง  

ในปีต่อๆ มา  วัดพระศรีรัตนาราม  ได้มีโอกาสนิมนต์ท่านอธิการทอง อาภากโร เจ้าอาวาสวัดสนามใน จ.นนทบุรี ท่านอธิการดา สัมมาคโต เจ้าอาวาสวัดธาตุโข่ง จ.อุดรธานี และ ท่านอธิการหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ เจ้าอาวาสวัดภูเขาทอง จ.ชัยภูมิ และได้เชิญรศ.ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ มาสอนกรรมฐานในแนวของหลวงพ่อเทียน ที่วัดไทยเซนต์หลุยส์  นับเป็นโอกาสทองให้ได้รับการถ่ายทอดธรรมะของหลวงพ่อเทียนผ่านเหล่าสานุศิษย์ และทำให้ผมได้รู้จักหลวงพ่อเทียนมากขึ้นด้วย

ที่น่าประหลาดใจที่สุดคือ ทุกท่านไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาสหากปฏิบัติอย่างจริงใจในแนวสร้างจังหวะของหลวงพ่อเทียนแล้ว สามารถรู้ สามารถเห็น สามารถสัมผัสซึ่งความเจริญ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในธรรมได้ด้วยตนเองทั้งสิ้น  โดยเฉพาะพระผู้ทรงคุณวุฒิเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค 2 รูป คือ ท่านอาจารย์พระมหาไหล โฆสโก (ป.ธ.9  ปัจจุบันคือ ท่านเจ้าคุณพระศรีวรญาณ เจ้าอาวาสวัดป่านาเชือก ศูนย์พัฒนาอบรมจิตเฉลิมพระเกียรติ ร.9 จ.มหาสารคาม)  เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนาราม  เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี่ สหรัฐอเมริกา และ ท่านเจ้าคุณพระราชโมลี (พระมหาพรหมา สปฺปญฺโญ - ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส อดีตพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์  และรองเจ้าอาวาส วัดธัมมาราม เมืองชิคาโก รัฐอิลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งพระทั้งสองรูปนี้ แม้จะรู้จักคุ้นเคยกันเองอย่างดีมาก่อน  แต่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่เคยทราบกันมาก่อนว่า ต่างได้ปฏิบัติในแนวหลวงพ่อเทียนมานานแล้วพอควร  และต่างก็ได้ประสบผลสำเร็จเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมอย่างมาก เกินกว่าที่จะอ้างเอ่ยจากตำราที่ร่ำเรียนจนจบเปรียญธรรมสูงสุดได้
ซึ่งรวมถึงพระภิกษุอีกรูปหนึ่งคือ ท่านอาจารย์พระมหาสมชัย เบ้ามั่น (ป.ธ.6, M.A.) วัดพุทธานุสรณ์ เมืองฟรีม้อนต์ คาลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นผู้มีน้ำใจกว้างขวางและชอบศึกษาค้นคว้า ท่านเกิดสนใจในวิธีปฏิบัติของหลวงพ่อเทียน ทันทีที่ท่านประสบพบเห็นจากการแสดงสาธิตวิธีสร้างจังหวะให้เกิดความรู้สึกตัว ท่านจึงได้นำไปทดลองปฏิบัติดู จนเกิดผลประจักษ์ต่อตัวท่านเองในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งกลับจุดชนวนให้เพื่อนภิกษุรูปอื่นๆเกิดความสนใจ ถึงกับลงมือทดลองปฏิบัติแนวนี้ดูบ้างจนสิ้นสงสัย 
แต่ที่น่าอัศจรรย์ใจที่สุดคือ ท่านทั้งสามรูปต่างไม่เคยเจอหลวงพ่อเทียนมาก่อนเลย ก็สามารถปฏิบัติได้ผลดีเยี่ยม  และ ยอมรับหลวงพ่อเทียนเป็นอาจารย์ของท่านอย่างเต็มพากพูม แม้หลวงพ่อเทียนจะอ่านหนังสือไทยไม่ออกในสมัยที่ท่านบรรลุธรรมด้วยซ้ำไป

ชี้ให้เห็นว่า การรู้ธรรมเห็นธรรมที่แท้จริงนั้น ไม่ขึ้นกับว่าจะรู้หรือไม่รู้หนังสือ จบหรือไม่จบปริญญาวิชาชีพใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมันเป็นภาษาใจ รู้ได้ด้วยใจ ไม่ขึ้นกับอรรถบัญญัติ สมมติบัญญัติหรือทางภาษาโลก แต่อย่างใด

สำหรับนักวิชาการแล้ว หากจะเปรียบเทียบการเจริญสติ-ความรู้สึกตัวโดยการสร้างจังหวะของหลวงพ่อเทียนกับมหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว  วิธีสร้างจังหวะของหลวงพ่อนั้นจัดอยู่ใน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ในลักษณะของการปฏิบัติด้วย  อิริยาปถบรรพ   คือมีสติในอิริยาบถใหญ่ ในการยืน เดิน นั่ง นอน และ  สัมปชัญญบรรพ (วิธีสร้างความรู้สึกตัว)  คือมีสติในอิริยาบถย่อยต่างๆ เช่น คู้ขา  เหยียดแขน  กลืนน้ำลาย กระพริบตา  แต่งกาย กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มรส พูด นิ่ง เป็นต้น รวมไปถึงกลวิธีประยุกต์ด้วยการเคลื่อนไหวมือสร้างจังหวะ (หรือจงกรมด้วยมือนั่นเอง) เพื่อให้เกิดความรู้สึกตัว

นอกจากนี้ ยังตกเข้าในลักษณะของ  เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ในแง่ที่ว่า เมื่อเกิดความรู้สึกตัวสดๆขึ้นในการเคลื่อนไหว นั่นคือ รู้ในความรู้สึกที่เป็นกลางๆ ไม่สุขไม่ทุกข์  แต่เป็นการรู้ซึ่งความปกติตามธรรมชาติที่แท้ของกาย-จิต รู้ซื่อๆ (สวสํเวทนา) เป็นความรู้สึกด้วยสภาพจิตที่แท้จริงคือจิตที่เป็นกลางซึ่งเป็นต้นตอของชีวิตจิตใจ  

เมื่อมีความรู้สึกตัวมากขึ้นๆ สติจะทำหน้าที่ของมันเอง คือ คอยจับการเคลื่อนไหวของจิต ซึ่งก็คือ ความคิดนั่นเอง เห็นสภาพจิตที่ถูกย้อมด้วยความคิด เมื่อหลุดเข้าไปอยู่ในความคิด ด้วยไม่เห็นไม่รู้เท่าทันความคิด ทำให้เกิดจิตที่ประกอบไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งซ่อนเร้นแอบแฝงมาพร้อมกับความคิด ความรู้สึกตัวทำให้รู้เท่าทันว่า จิตกำลังกวัดแกว่ง หวั่นไหว ส่ายแส่ ไม่ตั้งมั่น หรือจิตยังตั้งมั่นดีอยู่เมื่อปราศจากความคิดปรุงแต่ง เข้าลักษณะของ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อสติ-ความรู้สึกตัวรู้เท่าทันจิต เห็นการกระทำของจิต เห็นความคิด โดยไม่เข้าไปในความคิด ความลักคิดจะขาดสะบั้นลง จะทำให้รู้เห็นเท่าทันความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงว่า เป็นไปตามหลักพระไตรลักษณ์ – อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้เห็นว่าสภาวธรรมทั้งปวงล้วนแล้วแต่ปราศจากตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร ทำให้รู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น รู้เห็นเท่าทันทุกสิ่งด้วยจิตที่เป็นกลาง ไม่บ่ายเบี่ยงเอนเอียง ด้วยปราศจากอัตตาตัวตน และประจักษ์แจ้งในโพธิปักขิยธรรม สัมผัสซึ่งประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงทางกายและประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงทางจิต เป็นการปฏิบัติใน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  เป็นที่สุด 

หลวงพ่อเทียนท่านเน้นให้เห็นความคิด  ซึ่งก็คือจิตและการเคลื่อนไหวของจิตนั่นเอง สุขทุกข์ล้วนเกิดจากจิต แต่จิตนั้นปราศจากรูปร่างหน้าตา  กระนั้นก็ตาม จิตก็ยังทิ้งร่องรอยไว้ให้ทวนกระแสไปถึงตัวจิตได้  โดยผ่านทางความรู้สึก  (เวทนา)   และความหมายรู้จำได้ (สัญญา)  และความคิดปรุงแต่ง (สังขาร)  นั่นคือ อาการของจิต (เจตสิก)  ซึ่งต่างก็เปรียบได้เสมือนแขนขาของจิต  

ในด้านวิทยายุทธและการสงคราม ท่านกล่าวว่าอาวุธที่จะสู้ระเบิดปรมาณูซึ่งร้ายแรงที่สุดได้ดีที่สุด คือระเบิดปรมาณูด้วยกัน  ความคิดก็เช่นกัน  จิตท่องเที่ยวไปไกลในความคิดได้อย่างเร็วกว่าสายฟ้าแลบ  สิ่งที่จะประชิดประชันกันได้อย่างเท่าทันนั้น ก็คือ อาการของจิตอีกตัว นั่นคือสติ-ความรู้สึกตัว ซึ่งเป็นสัญญาชนิดหนึ่ง คือ สัญญาบริสุทธิ์ หมายรู้ระลึกได้ซึ่งความรู้สึกตัวที่กำลังสัมผัสปรากฏสดๆอยู่ที่ตนเอง  (แต่ถูกลืมไป หรือมองข้ามไป) การพัฒนาจิตด้วยการทำความรู้สึกตัว จะส่งผลให้เกิด สติ-ความรู้สึกตัว ตื่นตัว รู้สึกใจ ตื่นใจ โดดเด่นและทรงความรู้สึกตัวไว้ได้อย่างต่อเนื่องด้วยพลังความตั้งมั่นของจิตเป็นสัมมาสมาธิ สติ-ความรู้สึกตัวจะว่องไวทัดเทียมเท่าทันกันกับความคิดที่กำลังผุดขึ้น ปะทะสลายตัวไปพร้อมกัน คงเหลือไว้แต่ปัญญาล้วนๆ ว่าง สว่าง สงบ ปราศจากการปรุงแต่ง ปลอดจากความลักคิด ไม่โง่ ให้ถูกหลอกลวงด้วยความคิดอีกต่อไป

เนื่องจากวิธีการสร้างจังหวะของหลวงพ่อเทียน  ปฏิบัติด้วยการลืมตา ประกอบพร้อมกันไปกับการเคลื่อนไหวสร้างจังหวะ  ดังนั้น จิตจะมีความตื่นตัวอยู่อย่างมาก  และสมาธิจะแนบแน่นอยู่ได้แม้ในขณะดำรงชีวิตประจำวัน (เช่นเดียวกับอานิสงส์ของการเดินจงกรม ซึ่งสมาธิที่เกิดจะแนบแน่น ด้วยเป็นการลืมตาเดินอยู่แต่เดิมแล้ว สมาธิจึงไม่สูญหรือหลุดหายไปได้ง่ายๆ เยี่ยงกับหลังออกจากการนั่งสมาธิ)   และจะไม่ปรากฏภาพนิมิตหลอกหลอนจิตต่างๆ ให้หลงทาง หรือทำให้น่ากลัว หากจะเกิดนิมิตเครื่องหมายก็จะเป็นในลักษณะของการรู้สึกตัว  ซึ่งเป็นลักษณะของความเป็นปกติของจิตใจ ทรงอยู่ในอุเบกขาจิตซึ่งเป็นต้นตอของชีวิตจิตใจ  ปลุกประสาทวิญญาณในกาย-จิต ให้ตื่นตัว-ตื่นใจขึ้น  ไม่ถูกบดบังด้วยสิ่งหลอกล่อจากภายนอก ซึ่งทำให้จิตกวัดแกว่งไปตามอำนาจความโลภ ความโกรธ ความหลง  การลืมตาปฏิบัตินั้นยังสอดคล้องกับความเป็นไปในชีวิต ประจำวัน ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา   นับตั้งแต่ การหายใจ การกิน เคี้ยว ดื่ม พูด ทำกิจกรรมการงานต่างๆ   ล้วนสามารถผูกสติ-ความรู้สึกตัวได้ในทุกอิริยาบถใหญ่น้อย  และ สามารถผูกความรู้สึกตัวเลยลึกลงไป รู้เท่าทันถึงความเคลื่อนไหวของจิตซึ่งก็คือความคิด ด้วยความรู้สึกใจ   ดังนั้น  เมื่อสร้างความรู้สึกตัวได้มากขึ้น    ผู้ปฏิบัติสามารถผูกสติ-ความรู้สึกตัวอยู่กับชีวิตประจำวัน เจริญสติปัฏฐาน 4 ได้ตลอดวันและตลอดเวลาโดยปกติตามธรรมชาติ  สามารถเชื่อมโยงผูกสติให้ต่อเนื่องดุจลูกโซ่ได้โดยอัตโนมัติ ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวทั้งหยาบและละเอียด ดังที่หลวงพ่อเทียนได้เน้นไว้เสมอว่า

“รู้สึกตัว ตื่นตัว
  รู้สึกใจ ตื่นใจ”
นอกจากนี้ หลวงพ่อเทียนยังได้เมตตาให้หลักง่ายๆในการปฏิบัติไว้ว่า
“ดูกาย เห็นจิต
  ดูความคิด เห็นธรรม
 ดู(พฤติ)กรรม เห็นนิพพาน
 ดูอาการ เห็นปรมัตถ์”

สิ่งที่สำคัญที่สุด และเป็นประโยชน์มากที่สุด ก็คือ วิธีสร้างจังหวะของหลวงพ่อเทียนมีความคล่องตัวสูงมากสำหรับชีวิตฆราวาส สามารถนำไปประยุกต์ใช้ผูกสติ-สร้างความรู้สึกตัวไปกับชีวิตประจำวันได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีภารกิจมากน้อยเพียงไร ไม่ว่าจะกระพริบตา  กลืนน้ำลายหายใจ เคลื่อนไหวร่างกายส่วนหนึ่งใด สติ-สัมปชัญญะหรือความรู้สึกตัวก็สามารถจับความเคลื่อนไหวต่างๆทั้งกายและจิตได้อย่างเท่าทัน ผูกสติลงได้อย่างง่ายดายตามธรรมชาติ  มีจิตที่ตื่นตลอดเวลา  เวลาทำงานก็ไม่เหน็ดเหนื่อย  เพราะไม่เครียด ด้วยจิตทรงอยู่ด้วยความเป็นปกติในวิปัสสนากรรมฐาน  ปฏิบัติธรรมอบรมจิตอยู่ได้ตลอดเวลา สตินทรีย์ (ลูกแมว) เมื่อได้รับอาหาร (ด้วยการฝึกฝนสร้างจังหวะ)   จะเกิดความรู้สึกตัวมากขึ้นๆ เติบโตเป็น  สติพละ (แมวใหญ่) สามารถตะปบจับความคิด (หนู) ให้กระแสความคิดหยุดขาดสะบั้นลงซึ่ง ชวนะจิต วิถีจิต  (หนูช๊อคตาย)  ความโลภ ความโกรธ ความหลง  ไม่อาจแทรกเข้ามากับความคิดได้อีก  ทุกข์หรือความขัดแย้งภายในจิตใจของตนเองจะหมดไปหรือลดน้อยลง  รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมได้โดยไม่ต้องสงสัยอีกต่อไป   ความสงสัยว่าจะต้องทำอย่างไรสติจึงจะต่อเนื่องประดุจลูกโซ่ จะหมดไป    เพราะเมื่อมีสติ-ความรู้สึกตัวอยู่กับการเคลื่อนไหว   ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งในตัวเรา   ประสาทวิญญาณจะตื่น จะรู้สึกตัว ตื่นตัว และด้วยสติตัวเดียวกันนี้จะรู้สึกใจ ตื่นใจ  รู้เห็นซึ่งความคิดปรุงแต่ง (สังขาร- ซึ่งเป็นต้นสายของปฏิจจสมุปบาท หรือวงจรให้ทุกข์ อันสืบต่อเนื่องมาจาก  อวิชชา)    ขณะที่กระแสจิตหรือความคิดกำลังเกิดขึ้น (หนูกำลัง ออกจากรู)  จับความคิดที่เต็มไปด้วยอุปาทาน ความหลง (ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความโกรธ และความโลภ) ได้ทันท่วงที  มีแต่สติปัญญาล้วนๆในการดำรงชีวิตประจำวัน  แม้จะเผชิญปัญหาต่างๆนานา  ก็รู้จักกัน รู้จักแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ กล่าวโดยย่อคือ    เมื่อมีความรู้สึกตัว (สติ-สัมปชัญญะ)  ความไม่รู้สึกตัว (ความประมาท) จะหายไป เพราะโดยลักษณะคุณสมบัติของจิตนั้น จิตจะทรงอารมณ์อยู่ได้ในอารมณ์เดียวในชั่วขณะใดขณะหนึ่ง และ เมื่อมีความรู้สึกตัวมากขึ้นๆ  จะมีแต่ความรู้ล้วนๆ (ญาณปัญญา) ทรงตัวอยู่อย่างเดียว  ความไม่รู้ (อวิชชา) และความลักคิดซึ่งประกอบด้วยโลภ โกรธ หลง จะหายไป ดังนั้นท่านจึงกล่าวไว้ว่า เมื่อถึงที่สุดแล้วญาณย่อมมี  และ บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ด้วยปัญญา  ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้

หลวงพ่อเทียนนับได้ว่าเป็นปรมาจารย์ทางวิปัสสนากรรมฐานแห่งยุค  ที่สามารถนำเคล็ดลับแห่งชีวิต หรือความลับของธรรมชาติมาตีแผ่ให้เราได้เข้าใจในพุทธธรรม ท่านชี้แนะแนวทางและทำของซึ่งเราเห็นว่ายากให้เป็นของง่าย  ท่านได้วางรากฐานแนวปฏิบัติโดยการสร้างจังหวะไว้เป็นสูตรสำเร็จ  ซึ่งเป็นวิธีตรงและลัดสั้นให้ทุกคนเข้าถึงธรรมะได้ในระยะเวลาอันสั้น  ท่านชี้ให้เห็นว่า   นิพพานสามารถและต้องบรรลุในปัจจุบัน ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่นิพพานในชาติหน้า ภพหน้า เมื่อตายไปแล้ว  ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ของพระพุทธองค์ที่ทรงอุตส่าห์พร่ำสอน ให้ทุกคนรู้ธรรมะเห็นธรรมในปัจจุบันนี้ และหลายต่อหลายท่านในครั้งพุทธกาลได้บรรลุธรรมต่อหน้าพระพักตร์ เมื่อได้ฟังธรรมจากพระศาสดา  หรือ  ด้วยการปฏิบัติในแนวมหาสติปัฏฐาน 4  ซึ่งปัจจุบันกลับกลายเป็นเรื่องเหลวไหลเหลือเชื่อไป ถึงกับมีบางคนที่กล่าวสรุปว่า การรู้ธรรมเห็นธรรมนั้นเป็นเพียงเรื่องเล่าบันทึกบอกกล่าวถึงเรื่องราวในอดีต ในตำรา ในพระคัมภีร์ ในพระไตรปิฎก ในสมัยพุทธกาล ซ้ำยังประกาศสำทับว่า ปัจจุบันมรรค ผล นิพพานไม่มีอีกแล้ว เหตุเพียงเพราะว่า ตัวบุคคลที่กล่าวเช่นนั้นเองเป็นผู้ประมาท ไม่เคยศึกษาให้รู้แจ้งในพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง ไม่เคยแม้แต่ทดลองปฏิบัติอย่างจริงใจหรือจริงจัง หรือถ้าปฏิบัติก็ทำแบบไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้มีวิริยะอุตสาหะหรือความเพียรตั้งมั่น จึงพูดพล่อยๆปัดความไม่เข้าใจในสิ่งที่ตนไม่เคยได้รู้ ไม่เคยได้เห็น ไม่เคยได้สัมผัส ว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพื่อให้คนอื่นเห็นคล้อยตามความโง่เขลาของตนไปด้วย การพูดเช่นนั้นจึงเป็นการพูดชนิดที่เรียกได้ว่า เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาโดยตรง เพราะปิดประตูสัจธรรมต่อผู้ที่หลงเชื่อคล้อยตามคำพูดเยี่ยงนั้น และเป็นการทำลายเจตน์จำนงของพระศาสดา ที่ได้ทรงมีเมตตากรุณาพร่ำเพียรสั่งสอนให้ทุกคนปฏิบัติธรรม ทำใจให้ผ่องแผ้ว ให้รู้ว่าทุกคนสามารถทำได้ สามารถรู้ธรรมเห็นธรรมได้ เยี่ยงดังที่พระองค์ทรงทำสำเร็จและสัมผัสมาแล้ว จึงได้ทรงพร่ำสอนบอกทางสายกลางอันประเสริฐนี้ไว้ให้เป็นแนวปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ พร้อมทั้งได้มอบสูตรสำเร็จที่สมบูรณ์ให้ไว้อย่างพร้อมเพรียง เพื่อใช้ในการปฏิบัติได้อย่างพิสดาร คือ มหาสติปัฏฐานสูตร พระองค์จึงทรงเป็นบรมครูที่ยอดเยี่ยมไม่มีใครเสมอเหมือน ไม่มีการปิดบังอำพราง ไม่มีสิ่งที่ซ่อนเร้นไว้ในกำมือ ซ้ำแนวทางที่ทรงสอนให้ปฏิบัตินั้นก็ยังทรงแสดงบอกทางไว้อย่างละเอียดลออด้วยความเมตตาและความเป็นห่วงเป็นใย และแสดงแนวทางวิธีปฏิบัติต่างๆไว้ให้ผู้ปฏิบัติสามารถเลือกให้ตรงตามความเหมาะสมต่อตน ถูกต้องกันกับจริตของตน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ผู้ที่พูดว่า ปัจจุบันนี้ มรรค ผล นิพพานเป็นเรื่องเหลวไหลเป็นไปไม่ได้แล้วเยี่ยงนั้น คือเป็นผู้ที่ไม่เคยแยแสศึกษาพระสูตรคำสอนให้ถูกต้องถ่องแท้ให้เห็นน้ำพระทัยและความเมตตาของพระศาสดา และไม่ได้บูชาพระศาสดาด้วยปฏิบัติบูชา ซ้ำยังไม่รู้ตัวด้วยว่า ตนกำลังทำร้ายพระศาสดาและทำลายพระพุทธศาสนาทั้งทางตรงและทางอ้อม

หลวงพ่อเทียนท่านกล้ายืนยันและกล้าท้าทายให้ทุกคนไม่จำกัดเพศ วัย เชื้อชั้น วรรณะ ภาษา รู้หรือไม่รู้หนังสือ อาชีพ ทรัพย์สมบัติ ความรวยหรือจน หรือ ความเชื่อในศาสนาต่างๆ ให้ทดลองปฏิบัติพิสูจน์ด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้ยังเป็นไปได้  และ ยังสอนวิธีประยุกต์ที่ลัดสั้นไว้ให้อย่างถี่ถ้วนครบครันถึงวิธีสร้างความรู้สึกตัวด้วยการสร้างจังหวะ ซึ่งหลายๆท่านที่ได้นำไปปฏิบัติอย่างจริงจังกล้ายืนยันผลที่ได้รับว่า เป็นความจริงและเป็นเรื่องง่ายจนเหลือเชื่อ  ตรงกับที่หลวงพ่อเทียนท่านกล่าวสอนไว้ว่า พระพุทธองค์ไม่ได้สอนเรื่องยาก แต่เราทำให้มันยากไปเอง

หลวงพ่อเทียนมีความเมตตากรุณาสูงมาก    ต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้เห็นซึ่งสัจธรรมความจริงในชีวิต   ให้ล่วงพ้นความทุกข์แต่ในปัจจุบัน  แม้ในช่วงท้ายของชีวิตของท่าน  เหล่าสานุศิษย์ต่างยืนยันว่า  หลวงพ่อไม่หวั่นไหวต่อสุขภาพที่กำลังทรุดโทรมเจ็บป่วยอยู่อย่างหนัก  ท่านจะรีบลุกขึ้นมาแนะนำสั่งสอนเมื่อศิษย์มีปัญหาธรรมะติดขัดขึ้น  โดยไม่ห่วงถึงความเจ็บป่วยของตัวท่านเอง พร้อมทั้งสาธิตการปฏิบัติธรรมสร้างจังหวะเจริญสติอย่างพร้อมบริบูรณ์ให้ปรากฏแก่สานุศิษย์โดยทั่วกัน

แม้ผมจะไม่ได้มีโอกาสได้พบหลวงพ่อเทียน แต่ก็เสมือนรู้จักท่านเป็นอย่างดี และซาบซึ้งในพระคุณของท่านเป็นอย่างยิ่งที่ได้กรุณาหงายของที่คว่ำให้ปรากฏ   ผมขอกราบนมัสการสักการบูชาหลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภด้วยจิตด้วยใจไว้ ณ ที่นี้


• น.พ. คงศักดิ์ ตันไพจิตร เป็นศาสตราจารย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์คลีนิค มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี่ เป็นแพทย์ผู้ชำนาญทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ทางโรคข้อ และทางอายุรศาสตร์
Diplomate, American Board of Allergy & Immunology, American Board of Rheumatology,  และ American Board of Internal Medicine
ประธานสมัชชากลุ่มชาวพุทธแห่งมหานครเซนต์หลุยส์ (Chairman, Buddhist Council of Greater St. Louis)
เลขานุการวัดพระศรีรัตนาราม เมืองเซนต์หลุยส์  รัฐมิสซูรี่ สหรัฐอเมริกา
นายกสมาคมไทยแห่งมหานครเซนต์หลุยส์
กรรมการสมาคมสหประชาชาติแห่งมหานครเซนต์หลุยส์ (Member, Board of Directors,     United Nations Association of Greater St. Louis)
เหรัญญิกมูลนิธิแพทย์ไทย-อเมริกัน (Thai-American Physicians Foundation)
สมรส กับ ดร. สิริรัตน์ ตันไพจิตร และ มีบุตรชาย ๑ คน และบุตรสาว ๑ คน
ได้รับเลือกลงหนังสือรายชื่อบุคคลดีเด่น Marquis Who’s Who in America และ Marquis Who’s Who in the World.

e-mail: kongsakt@sbcglobal.net


กลับสู่หน้าบนของเว็บนี้

กลับสู่หน้าเพจหลักของกองทุนโตสื่อพระธรรม

1 ความคิดเห็น: