กุญแจดอกเอก : ธรรมะของหลวงพ่อเทียน

กุญแจดอกเอก : ธรรมะของหลวงพ่อเทียน
คัดลอกจากหนังสือ "ปกติ : หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภและสิ่งที่ฝากไว้
จากถ้อยแถลงของผู้พิมพ์
สำหรับที่มาของธรรมะสั้นๆที่มีชื่อว่า "กุญแจดอกเอก" นั้น สืบเนื่องมาจากหลวงพ่อได้รับ
นิมนต์จากกลุ่มพุทธศาสน์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อแสดงธรรมในวันที่ 14
มิถุนายน พ.ศ.2531 หลวงพ่อต้องการธรรมะสั้นๆสักหนึ่งหน้ากระดาษเพื่อไปแจกให้แก่ผู้ที่มาฟังธรรม ทางกลุ่มจึงได้คัดเลือกธรรมะสั้นๆจากหนังสือธรรมะของหลวงพ่อ และนำไปอ่านให้ท่านฟัง เมื่อฟังจบแล้วท่านยิ้มและกล่าวทันทีว่า "กุญแจดอกเอก"


กุญแจดอกเอก
ธรรมชาติแห่งพุทธะในตัวคนแต่ละคน อาจเปรียบได้กับผลไม้แต่ละผล หรือเมล็ดข้าวเปลือก ถ้าหากได้เอาลงเพาะในดินที่ชุ่มเย็น มีเงื่อนไขต่างๆพอเหมาะ ก็จะงอกขึ้นมาเป็นต้น ให้ดอกออกผลได้เช่นกัน ส่วนจะช้าหรือเร็วนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของข้าวเมล็ดนั้นๆเป็นเหตุปัจจัย  การตรัสรู้ เหมือนดอกไม้อาศัยแสงตะวัน เมื่อตะวันส่องแสงมายังพื้นโลก เมื่อความร้อนกับความเย็นกระทบกัน จึงเกิดความอบอุ่น ดอกไม้ก็เลยบานได้ตามต้องการ

พุทธะหรือโพธิจิตนี้ เมื่อได้รับการกระตุ้นระดับหนึ่ง จะตื่นขึ้นและผลิบาน จึงเรียกว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น
ผู้เบิกบาน ซึ่งมนุษย์ทุกคนไปถึงได้  การเจริญสติ อันเป็นฐานของการเจริญสมาธิ เจริญปัญญา จะทำให้ธาตุพุทธะในตัวเราแตกตัวและเบ่งบาน  การรู้สึกตัวนั้น เป็นไม้ขีดไฟ เทียนไขนั้นก็คือ มันคิดเรารู้ เราพยายามจุดสองอย่างนี้ จุดแล้วก็สว่างขึ้นมา ก็เดินหนีออกจากถ้ำ ไม่เข้าไปอยู่ในถ้ำ ถึงจะต้องเข้าไปอยู่ในถ้ำ ก็ต้องไม่ให้มันมืดต่อไป ต้องรู้สึกตัวทันที นี่แหละคือการปฏิบัติธรรม

การรู้สึกตัวนี้ ให้รู้สึกลงไป เมื่อมันไหวขึ้นมาให้รู้สึกตามความเป็นจริงที่มันเคลื่อนไหวนั้น เมื่อมันหยุดก็ให้รู้สึกทันทีว่ามันหยุด อันนี้เรียกว่า สงบ สงบแบบรู้สึก
เราจะสร้างโบสถ์สักหลังหนึ่ง ยังไม่เท่าเราพลิกมือขึ้นอย่างนี้ครั้งเดียว แล้วรู้สึกตัว ทำอย่างนี้
ดีกว่าการสร้างโบสถ์หลังหนึ่ง เพราะอันนี้มันรู้แต่สร้างโบสถ์ ไม่รู้อะไรเลยความรู้สึกตัวเป็นรากเหง้าของบุญ ความไม่รู้เป็นรากเหง้าของบาป

การแสวงหาพระพุทธเจ้าก็ตาม แสวงหาพระอรหันต์ก็ตาม แสวงหามรรคผลนิพพานก็ตาม อย่า
ไปแสวงหาที่ๆมันไม่มี แสวงหาตัวเรานี้ ให้เราทำความรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ นี่แหละ จะรู้จะเห็น
ความสงบที่แท้จริงจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ เราหยุดการแสวงหา ต่อเมื่อเราไม่ต้องวิ่งหาบุคคลอื่นนั้น
เรียกว่า ความสงบ

ความสงบมีอยู่แล้วโดยไม่ต้องทำขึ้น เป็นความสงบจาก โทสะ โมหะ โลภะ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น
แก่เรา สติจะมาทันที เนื่องจากสติ สมาธิ ปัญญา อยู่ที่นั่นแล้ว โทสะ โมหะ โลภะ จึงไม่มี ถ้า
บุคคลใดไม่เจริญสติ ไม่ได้ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น บุคคลนั้นจะไม่มีมัน ทั้งๆที่มันมีอยู่ที่นั่นแล้ว
เพียงแต่เคลื่อนไหวทีละครั้งและรู้ เมื่อเธอไม่รู้ปล่อยมันไป เมื่อรู้ปล่อยมันไป บางครั้งเธอรู้
บางครั้งเธอไม่รู้ มันเป็นเช่นนั้น แต่ให้รู้

การรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย คือการเจริญสติ สมาธิคือการตั้งใจใช้สติดูจิตใจ ไม่ว่าความคิดอะไรเกิดขึ้น เห็นมันทันที และเราจะรู้ถึงความหลอกลวง รู้ทันเวลารู้การป้องกัน และรู้การแก้ไข รู้ถึงการเอาชนะความคิดปรุงแต่ง ศีลจะเกิดขึ้นภายในจิตใจของเราเอง ไม่ใช่คนดอกที่รักษาศีล แต่ศีลต่างหากที่รักษาคน

ให้ลืมตาทำเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้ มันเป็นการไหลไปตามธรรมชาติของมัน ตาก็ไม่ต้อง
บังคับให้มันหลับ ให้มันกระพริบขึ้นลงได้ตามธรรมชาติ เหลือบซ้าย แลขวาก็ได้ มันจึงเป็นการปฏิบัติธรรมกับธรรมชาติ และมันก็รู้กับธรรมชาติจริงๆ ถ้ารู้สึกในการเคลื่อนไหวได้ ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ซักเสื้อผ้า ล้างถ้วย ล้างชาม ถ้ารู้สึกที่มันเคลื่อนมันไหวในขณะนั้น ก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้

พุทธศาสนาคือ มารู้สึกต่อการเคลื่อนการไหวในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั่นแหละ คือมันรู้สึกในการ
เคลื่อนไหวของกายและใจ เป็นญาณเข้ามารู้ รู้สึกที่เนื้อที่ตัวตื่นตัว มันจะเป็นใหญ่ในตัวของมัน
ได้เอง รู้สึกใจตื่นใจ มันจะเปลี่ยนแปลงเป็นใหญ่ในใจของมันได้เอง เมื่อมันเปลี่ยนแปลง มันก็
เหมือนกับเราหงายของที่คว่ำขึ้นมา มันก็เห็นว่า มีอะไรอยู่ที่ตรงนั้น

คำว่าติดต่อกันเหมือนลูกโซ่นั้น ไม่ใช่แต่ว่านั่งอยู่ในห้องกรรมฐานเพียงอย่างเดียว จะไปไหนมาไหน อาบน้ำ ซักเสื้อ ซักผ้า ก็ให้มีสติดูการเคลื่อนไหวของรูปกาย และมีสติดูจิตดูใจอยู่เสมอ นั่นแหละท่านเรียกว่า ปฏิบัติให้ติดต่อเหมือนลูกโซ่ทันทีที่ความคิดเกิดขึ้น ปัดมันทิ้งออกไปทันที และให้มาอยู่กับความรู้สึกตัว ความคิดยิ่งเร็ว สติปัญญาก็ยิ่งเร็ว ความคิดยิ่งลึก สติปัญญาก็ยิ่งลึก ถ้าทุกวันสองอย่างนี้ยิ่งลึกเท่ากันแล้วกระทบกัน แตกโพละออกมาเลย เรียกว่า โพลงตัวออกมา ซึ่งสภาวะอันนี้มันมีอยู่แล้วในคนทุกคน

วิธีแห่งการปฏิบัติ คือการรู้สึกตัวเท่าทันความคิด ร่างกายของเราทำงานไปตามหน้าที่ แต่จิตของเราจะต้องดูความคิด  การเห็นการรู้ความคิด เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกัน การรู้คือการเข้าไปในการคิดและความคิดก็คงดำเนินต่อไป เมื่อเราเห็นความคิด เราสามารถหลุดออกมาจากความคิดนั้นได้  เมื่อเราเห็นความคิดในทุกขณะ ไม่ว่ามันจะคิดเรื่องใดก็ตาม เราเอาชนะมันได้ทุกครั้งไป แล้วเราจะมาถึงจุดหนึ่ง ที่บางสิ่งภายในจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน  การรู้ความคิด จึงเป็นความรู้ของ อวิชชา สำหรับผู้มีปัญญา การรู้และการเห็น สามารถแยกออกจากกันได้ นั่นคือวิชชา ปัญญาและวิชชาจะแยกความคิดออกจากกันได้ และนั่นคือที่สุดของทุกข์

ตัวนึกคิดนี่แหละคือสมุทัย มรรคคือการเอาสติมาดูความคิด นี่คือข้อปฏิบัติ  การที่เราเห็นความคิดนี่เอง เป็นต้นทางพระนิพพานแล้ว เมื่อมันคิดวูบขึ้นมา เราก็เห็นปั๊บ อันกระแสความคิดนี้มันไวนัก ไวกว่าแสง ไวกว่าเสียง ไวกว่าไฟฟ้า ไวกว่าอะไรทั้งหมด เมื่อได้เห็นสมุฏฐานความเร็ว ความไวของความคิดแล้ว เรียกว่า อรรถบัญญัติ ให้เห็นความคิด อย่าไปห้ามความคิด และอย่าไปยึดถือ ให้ปล่อยมันไป นี่คือการเห็นความคิด คิดแล้วให้ตัดปุ๊บเลย เหมือนการวิดน้ำออกไปจากก้นบ่อ ทำอย่างนี้นานๆเข้า สติจะเต็มและสมบูรณ์ คิดปุ๊บเห็นปั๊บ อันนี้แหละคือระดับความคิด ที่เรียกว่า ปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด ให้รู้จักสมุฏฐานของความคิด เมื่อเรารู้จักสมุฏฐานของความคิดแล้ว เราจะได้ปฏิบัติจุดนี้เข้าไป เมื่อเราปฏิบัติจุดนี้แล้ว มันจะไปตามทางของมันเอง เมื่อไปตามทางนั้นแปลว่าเห็นถูกต้อง ก็ต้องถึงจุดหมายปลายทาง  ที่เราต้องการความสงบหรือพุทธะ เราไม่ต้องไปทำอะไรให้มาก เพียงให้ดูต้นตอของชีวิตเมื่อมันคิดมา อย่าเข้าไปในความคิด ให้ตัดความคิดออกให้ทัน

วิธีการยกมือขึ้น คว่ำมือลง เป็นวิธีเจริญสติ เป็นวิธีเจริญปัญญา เมื่อได้สัดได้ส่วนสมบูรณ์แล้ว
มันจะเป็นเองไม่ยกเว้นใครๆ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ เด็กๆก็ทำได้ ผู้ใหญ่ก็ทำได้ นุ่งผ้าสีอะไรก็ทำได้
ถือศาสนาลัทธิอะไรก็ทำได้ เรียกว่า ของจริง

วิธีที่จะจัดการกับ ความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น เราไม่ต้องไปคิดหาว่า ความโกรธ ความโลภ ความหลง อยู่ที่ไหน เราเพียงกลับเข้ามาดูจิตดูใจของเรา ก็จะทำลายความโกรธ ความโลภ ความหลงได้เอง

ศีลคือความปกติ ศีลคือผลของจิตใจที่เป็นปกติ นี้เป็นสิ่งเดียวกับสติ สมาธิ ปัญญา วิธีการปฏิบัติ คือ การรู้สึกตัวเท่าทันความคิด เมื่อความคิด ความทุกข์ หรือความสับสนเกิดขึ้น อย่าได้พยายามหยุดมัน แต่ให้สังเกตมัน  หนทางไปสู่ความสิ้นสุดของทุกข์นี้ เป็นหนทางที่ง่าย เหตุที่ยาก เพราะเราไม่รู้มันอย่างแท้จริงเราจึงมีแต่ความลังเล และสงสัย

พระพุทธเจ้าก็คือ คนทุกคน เพราะพืชพันธุ์ที่จะทำให้คนเป็นพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่แล้วในคนทุก
คนไม่ยกเว้นไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม พระธรรมนั้นมีอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเห็นสิ่งนี้อย่างแท้จริง เราจะอยู่เหนือความเชื่อที่งมงายทั้งหลาย ตัวเราเท่านั้นที่จะนำชีวิตของเราเอง มิใช่ใดอื่น นี้คือจุดเริ่มต้นของความสิ้นสุดแห่งทุกข์

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอะไรเลย เพราะมันมีอยู่แล้วทั้งนั้น ขอเพียงว่าให้เรารู้สึกตัวเท่านั้นเอง
ความรู้สึกตัวก็มีอยู่แล้ว แท้จริงแล้วนั้น กิเลสมิได้มีอยู่จริง แล้วเราจะไปชนะมันได้อย่างไร สิ่งที่เราต้องทำเพียงอย่างเดียวคือ เราเพียงแต่ดูจิตใจโดยชัดเจน เผชิญหน้ากับความคิดโดยแจ่มชัด เมื่อเราเห็นใจอย่างชัดเจน โมหะก็จะไม่มีอยู่

ธรรมะคือมนุษย์ เมื่อเรารู้ธรรมะ เราก็จะเข้าใจว่า ทุกๆสิ่งนั้นไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ทุกๆสิ่งคือสมมุติ นี้คือปัญญาที่เกิดขึ้น  การเห็นตัวเราตามที่เป็นจริง คือการเห็นธรรมะ ฉะนั้นการเห็นธรรมก็คือ เห็นในขณะที่เรากำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด เห็นอย่างนี้เห็นธรรมแท้ๆ ไม่แปรผัน


กลับสู่ด้านบน

กลับสู่เว็บหลัก โตสื่อพระธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น