กุญแจดอกเอก : ธรรมะของหลวงพ่อเทียน

กุญแจดอกเอก : ธรรมะของหลวงพ่อเทียน
คัดลอกจากหนังสือ "ปกติ : หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภและสิ่งที่ฝากไว้
จากถ้อยแถลงของผู้พิมพ์
สำหรับที่มาของธรรมะสั้นๆที่มีชื่อว่า "กุญแจดอกเอก" นั้น สืบเนื่องมาจากหลวงพ่อได้รับ
นิมนต์จากกลุ่มพุทธศาสน์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อแสดงธรรมในวันที่ 14
มิถุนายน พ.ศ.2531 หลวงพ่อต้องการธรรมะสั้นๆสักหนึ่งหน้ากระดาษเพื่อไปแจกให้แก่ผู้ที่มาฟังธรรม ทางกลุ่มจึงได้คัดเลือกธรรมะสั้นๆจากหนังสือธรรมะของหลวงพ่อ และนำไปอ่านให้ท่านฟัง เมื่อฟังจบแล้วท่านยิ้มและกล่าวทันทีว่า "กุญแจดอกเอก"


กุญแจดอกเอก
ธรรมชาติแห่งพุทธะในตัวคนแต่ละคน อาจเปรียบได้กับผลไม้แต่ละผล หรือเมล็ดข้าวเปลือก ถ้าหากได้เอาลงเพาะในดินที่ชุ่มเย็น มีเงื่อนไขต่างๆพอเหมาะ ก็จะงอกขึ้นมาเป็นต้น ให้ดอกออกผลได้เช่นกัน ส่วนจะช้าหรือเร็วนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของข้าวเมล็ดนั้นๆเป็นเหตุปัจจัย  การตรัสรู้ เหมือนดอกไม้อาศัยแสงตะวัน เมื่อตะวันส่องแสงมายังพื้นโลก เมื่อความร้อนกับความเย็นกระทบกัน จึงเกิดความอบอุ่น ดอกไม้ก็เลยบานได้ตามต้องการ

พุทธะหรือโพธิจิตนี้ เมื่อได้รับการกระตุ้นระดับหนึ่ง จะตื่นขึ้นและผลิบาน จึงเรียกว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น
ผู้เบิกบาน ซึ่งมนุษย์ทุกคนไปถึงได้  การเจริญสติ อันเป็นฐานของการเจริญสมาธิ เจริญปัญญา จะทำให้ธาตุพุทธะในตัวเราแตกตัวและเบ่งบาน  การรู้สึกตัวนั้น เป็นไม้ขีดไฟ เทียนไขนั้นก็คือ มันคิดเรารู้ เราพยายามจุดสองอย่างนี้ จุดแล้วก็สว่างขึ้นมา ก็เดินหนีออกจากถ้ำ ไม่เข้าไปอยู่ในถ้ำ ถึงจะต้องเข้าไปอยู่ในถ้ำ ก็ต้องไม่ให้มันมืดต่อไป ต้องรู้สึกตัวทันที นี่แหละคือการปฏิบัติธรรม

การรู้สึกตัวนี้ ให้รู้สึกลงไป เมื่อมันไหวขึ้นมาให้รู้สึกตามความเป็นจริงที่มันเคลื่อนไหวนั้น เมื่อมันหยุดก็ให้รู้สึกทันทีว่ามันหยุด อันนี้เรียกว่า สงบ สงบแบบรู้สึก
เราจะสร้างโบสถ์สักหลังหนึ่ง ยังไม่เท่าเราพลิกมือขึ้นอย่างนี้ครั้งเดียว แล้วรู้สึกตัว ทำอย่างนี้
ดีกว่าการสร้างโบสถ์หลังหนึ่ง เพราะอันนี้มันรู้แต่สร้างโบสถ์ ไม่รู้อะไรเลยความรู้สึกตัวเป็นรากเหง้าของบุญ ความไม่รู้เป็นรากเหง้าของบาป

การแสวงหาพระพุทธเจ้าก็ตาม แสวงหาพระอรหันต์ก็ตาม แสวงหามรรคผลนิพพานก็ตาม อย่า
ไปแสวงหาที่ๆมันไม่มี แสวงหาตัวเรานี้ ให้เราทำความรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ นี่แหละ จะรู้จะเห็น
ความสงบที่แท้จริงจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ เราหยุดการแสวงหา ต่อเมื่อเราไม่ต้องวิ่งหาบุคคลอื่นนั้น
เรียกว่า ความสงบ

ความสงบมีอยู่แล้วโดยไม่ต้องทำขึ้น เป็นความสงบจาก โทสะ โมหะ โลภะ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น
แก่เรา สติจะมาทันที เนื่องจากสติ สมาธิ ปัญญา อยู่ที่นั่นแล้ว โทสะ โมหะ โลภะ จึงไม่มี ถ้า
บุคคลใดไม่เจริญสติ ไม่ได้ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น บุคคลนั้นจะไม่มีมัน ทั้งๆที่มันมีอยู่ที่นั่นแล้ว
เพียงแต่เคลื่อนไหวทีละครั้งและรู้ เมื่อเธอไม่รู้ปล่อยมันไป เมื่อรู้ปล่อยมันไป บางครั้งเธอรู้
บางครั้งเธอไม่รู้ มันเป็นเช่นนั้น แต่ให้รู้

การรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย คือการเจริญสติ สมาธิคือการตั้งใจใช้สติดูจิตใจ ไม่ว่าความคิดอะไรเกิดขึ้น เห็นมันทันที และเราจะรู้ถึงความหลอกลวง รู้ทันเวลารู้การป้องกัน และรู้การแก้ไข รู้ถึงการเอาชนะความคิดปรุงแต่ง ศีลจะเกิดขึ้นภายในจิตใจของเราเอง ไม่ใช่คนดอกที่รักษาศีล แต่ศีลต่างหากที่รักษาคน

ให้ลืมตาทำเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้ มันเป็นการไหลไปตามธรรมชาติของมัน ตาก็ไม่ต้อง
บังคับให้มันหลับ ให้มันกระพริบขึ้นลงได้ตามธรรมชาติ เหลือบซ้าย แลขวาก็ได้ มันจึงเป็นการปฏิบัติธรรมกับธรรมชาติ และมันก็รู้กับธรรมชาติจริงๆ ถ้ารู้สึกในการเคลื่อนไหวได้ ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ซักเสื้อผ้า ล้างถ้วย ล้างชาม ถ้ารู้สึกที่มันเคลื่อนมันไหวในขณะนั้น ก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้

พุทธศาสนาคือ มารู้สึกต่อการเคลื่อนการไหวในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั่นแหละ คือมันรู้สึกในการ
เคลื่อนไหวของกายและใจ เป็นญาณเข้ามารู้ รู้สึกที่เนื้อที่ตัวตื่นตัว มันจะเป็นใหญ่ในตัวของมัน
ได้เอง รู้สึกใจตื่นใจ มันจะเปลี่ยนแปลงเป็นใหญ่ในใจของมันได้เอง เมื่อมันเปลี่ยนแปลง มันก็
เหมือนกับเราหงายของที่คว่ำขึ้นมา มันก็เห็นว่า มีอะไรอยู่ที่ตรงนั้น

คำว่าติดต่อกันเหมือนลูกโซ่นั้น ไม่ใช่แต่ว่านั่งอยู่ในห้องกรรมฐานเพียงอย่างเดียว จะไปไหนมาไหน อาบน้ำ ซักเสื้อ ซักผ้า ก็ให้มีสติดูการเคลื่อนไหวของรูปกาย และมีสติดูจิตดูใจอยู่เสมอ นั่นแหละท่านเรียกว่า ปฏิบัติให้ติดต่อเหมือนลูกโซ่ทันทีที่ความคิดเกิดขึ้น ปัดมันทิ้งออกไปทันที และให้มาอยู่กับความรู้สึกตัว ความคิดยิ่งเร็ว สติปัญญาก็ยิ่งเร็ว ความคิดยิ่งลึก สติปัญญาก็ยิ่งลึก ถ้าทุกวันสองอย่างนี้ยิ่งลึกเท่ากันแล้วกระทบกัน แตกโพละออกมาเลย เรียกว่า โพลงตัวออกมา ซึ่งสภาวะอันนี้มันมีอยู่แล้วในคนทุกคน

วิธีแห่งการปฏิบัติ คือการรู้สึกตัวเท่าทันความคิด ร่างกายของเราทำงานไปตามหน้าที่ แต่จิตของเราจะต้องดูความคิด  การเห็นการรู้ความคิด เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกัน การรู้คือการเข้าไปในการคิดและความคิดก็คงดำเนินต่อไป เมื่อเราเห็นความคิด เราสามารถหลุดออกมาจากความคิดนั้นได้  เมื่อเราเห็นความคิดในทุกขณะ ไม่ว่ามันจะคิดเรื่องใดก็ตาม เราเอาชนะมันได้ทุกครั้งไป แล้วเราจะมาถึงจุดหนึ่ง ที่บางสิ่งภายในจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน  การรู้ความคิด จึงเป็นความรู้ของ อวิชชา สำหรับผู้มีปัญญา การรู้และการเห็น สามารถแยกออกจากกันได้ นั่นคือวิชชา ปัญญาและวิชชาจะแยกความคิดออกจากกันได้ และนั่นคือที่สุดของทุกข์

ตัวนึกคิดนี่แหละคือสมุทัย มรรคคือการเอาสติมาดูความคิด นี่คือข้อปฏิบัติ  การที่เราเห็นความคิดนี่เอง เป็นต้นทางพระนิพพานแล้ว เมื่อมันคิดวูบขึ้นมา เราก็เห็นปั๊บ อันกระแสความคิดนี้มันไวนัก ไวกว่าแสง ไวกว่าเสียง ไวกว่าไฟฟ้า ไวกว่าอะไรทั้งหมด เมื่อได้เห็นสมุฏฐานความเร็ว ความไวของความคิดแล้ว เรียกว่า อรรถบัญญัติ ให้เห็นความคิด อย่าไปห้ามความคิด และอย่าไปยึดถือ ให้ปล่อยมันไป นี่คือการเห็นความคิด คิดแล้วให้ตัดปุ๊บเลย เหมือนการวิดน้ำออกไปจากก้นบ่อ ทำอย่างนี้นานๆเข้า สติจะเต็มและสมบูรณ์ คิดปุ๊บเห็นปั๊บ อันนี้แหละคือระดับความคิด ที่เรียกว่า ปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด ให้รู้จักสมุฏฐานของความคิด เมื่อเรารู้จักสมุฏฐานของความคิดแล้ว เราจะได้ปฏิบัติจุดนี้เข้าไป เมื่อเราปฏิบัติจุดนี้แล้ว มันจะไปตามทางของมันเอง เมื่อไปตามทางนั้นแปลว่าเห็นถูกต้อง ก็ต้องถึงจุดหมายปลายทาง  ที่เราต้องการความสงบหรือพุทธะ เราไม่ต้องไปทำอะไรให้มาก เพียงให้ดูต้นตอของชีวิตเมื่อมันคิดมา อย่าเข้าไปในความคิด ให้ตัดความคิดออกให้ทัน

วิธีการยกมือขึ้น คว่ำมือลง เป็นวิธีเจริญสติ เป็นวิธีเจริญปัญญา เมื่อได้สัดได้ส่วนสมบูรณ์แล้ว
มันจะเป็นเองไม่ยกเว้นใครๆ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ เด็กๆก็ทำได้ ผู้ใหญ่ก็ทำได้ นุ่งผ้าสีอะไรก็ทำได้
ถือศาสนาลัทธิอะไรก็ทำได้ เรียกว่า ของจริง

วิธีที่จะจัดการกับ ความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น เราไม่ต้องไปคิดหาว่า ความโกรธ ความโลภ ความหลง อยู่ที่ไหน เราเพียงกลับเข้ามาดูจิตดูใจของเรา ก็จะทำลายความโกรธ ความโลภ ความหลงได้เอง

ศีลคือความปกติ ศีลคือผลของจิตใจที่เป็นปกติ นี้เป็นสิ่งเดียวกับสติ สมาธิ ปัญญา วิธีการปฏิบัติ คือ การรู้สึกตัวเท่าทันความคิด เมื่อความคิด ความทุกข์ หรือความสับสนเกิดขึ้น อย่าได้พยายามหยุดมัน แต่ให้สังเกตมัน  หนทางไปสู่ความสิ้นสุดของทุกข์นี้ เป็นหนทางที่ง่าย เหตุที่ยาก เพราะเราไม่รู้มันอย่างแท้จริงเราจึงมีแต่ความลังเล และสงสัย

พระพุทธเจ้าก็คือ คนทุกคน เพราะพืชพันธุ์ที่จะทำให้คนเป็นพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่แล้วในคนทุก
คนไม่ยกเว้นไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม พระธรรมนั้นมีอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเห็นสิ่งนี้อย่างแท้จริง เราจะอยู่เหนือความเชื่อที่งมงายทั้งหลาย ตัวเราเท่านั้นที่จะนำชีวิตของเราเอง มิใช่ใดอื่น นี้คือจุดเริ่มต้นของความสิ้นสุดแห่งทุกข์

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอะไรเลย เพราะมันมีอยู่แล้วทั้งนั้น ขอเพียงว่าให้เรารู้สึกตัวเท่านั้นเอง
ความรู้สึกตัวก็มีอยู่แล้ว แท้จริงแล้วนั้น กิเลสมิได้มีอยู่จริง แล้วเราจะไปชนะมันได้อย่างไร สิ่งที่เราต้องทำเพียงอย่างเดียวคือ เราเพียงแต่ดูจิตใจโดยชัดเจน เผชิญหน้ากับความคิดโดยแจ่มชัด เมื่อเราเห็นใจอย่างชัดเจน โมหะก็จะไม่มีอยู่

ธรรมะคือมนุษย์ เมื่อเรารู้ธรรมะ เราก็จะเข้าใจว่า ทุกๆสิ่งนั้นไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ทุกๆสิ่งคือสมมุติ นี้คือปัญญาที่เกิดขึ้น  การเห็นตัวเราตามที่เป็นจริง คือการเห็นธรรมะ ฉะนั้นการเห็นธรรมก็คือ เห็นในขณะที่เรากำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด เห็นอย่างนี้เห็นธรรมแท้ๆ ไม่แปรผัน


กลับสู่ด้านบน

กลับสู่เว็บหลัก โตสื่อพระธรรม

พลิกโลกเหนือความคิด โดยหลวงพ่อเทียน


คัดจากหนังสือพลิกโลกเหนือความคิด

รู้อารมณ์รูปนาม
พอประมาณตีห้า พอดูลายมือเห็นนี่แหละยังไม่สว่างดี, มันเป็นทุ่งนา ที่ๆ ไปทำนั่น, นั่งอยู่ คราวนั้นนุ่งกางเกงขาสั้น นั่งพับเพียบ, มีแมงป่องตัวนึงตกลงมา มันตกลงมาบนขา เป็นแมงป่องแม่ลูกอ่อน ลูกแมงป่องก็ตกมากับแม่มันใส่ขาอาตมาแล้ววิ่งไปตามขา, ก็นั่งดู ไม่ตกใจ, เห็น-รู้แล้วเข้าใจทันที รูป-นาม; เข้าใจจริงๆ บัดเดี๋ยวนั้นเลย. เข้าใจเรื่องรูป เรื่องนาม เรื่องรูปทำ-นามทำ รูปโรค-นามโรค เข้าใจ ทุกขัง-อนิจจัง-อนัตตา เข้าใจเรื่องสมมุติ ศาสนา-พุทธศาสนา บาป-บุญ ต้นเหตุของบาป-ต้นเหตุของบุญ. เข้าใจจริงๆ ในช่วงระยะสั้น, แว้บ-ขึ้นมาครั้งเดียวเท่านั้น, มันรู้จริงๆ เข้าใจซาบซึ้งโดยไม่เก้อเขิน-รู้ตรงนี้. รู้พุทธศาสนาคือรู้ที่ตัวเรา

รู้เรื่องศีล
    ตอนเช้ามืด ขณะที่ผมเดินไปเดินมาอยู่* มีตะขาบตัวหนึ่งวิ่งผ่านหน้าผม, ที่นั่นไม่มีไฟฟ้า มีเพียงเทียนไขที่จุดตั้งเอาไว้ตรงนั้น ตรงนี้สำหรับเดินจงกรม, ผมไปเอาไฟ (เทียนไข) มาส่องดูแต่ไม่เห็น ตะขาบคงไปไกลแล้ว, ตะขาบนี้เคยกัดนานมาแล้ว, เจ็บ – จำได้. เมื่อไม่เห็นผมก็มาเดินดูความคิดของตัวเองต่อ, บัดเดี๋ยวนั้น มันคิด-วูบ-ขึ้นมา, จิตใจผมรู้, รู้จักศีล. ศีลที่รู้จักขึ้นมานั้น ศีลแปลว่าปกติ, ไม่ใช่ศีลห้าศีลแปดศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ด อย่างที่ผมเคยสมาทานรักษาศีลมาตั้งแต่หนุ่มนั้น. บัดนี้ จึงได้รู้จักว่า “ศีลเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ, สมาธิเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง, ปัญญาเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด” – ตาม ตำราว่าไว้อย่างนี้; ตอนนี้ ผม, เพราะกำจัดกิเลสอย่างหยาบได้แล้วศีลจึงสมบูรณ์-รู้. อันที่จริง, ศีลสมบูรณ์นั้น ก็คือตัวสมาธิ-ตัวปัญญานั่นแหละ.
    เมื่อจิตใจเปลี่ยนไปนั้น ผมยังเดินไปเรื่อยๆ , เมื่อผมรู้สิ่งเหล่านั้นแล้ว จิตใจมันจืด – คล้ายกับเราถอนผมออกจากหัว มันเอาไปปลูกอีกไม่ได้ จะเอากลับไปเข้ารูเดิมก็ไม่ได้, หรือคล้ายกับเอาน้ำร้อนไปลวกหนังหมู มันจะซีดขาวจืดไปหมด, หรือเปรียบเหมือนเราเอาสำลีไปจุ่มน้ำ ยกขึ้นมาบีบน้ำออก หนเดียวเท่านั้นมันจืดออกไปหมดจริง; จิตใจนี้ก็เหมือนกัน . เรื่องของความคิดนั้น: จึงขอให้ดูความคิดให้เห็นความคิด, แต่อย่าไปห้ามความคิด, คิดปุ๊บตัดปั๊บเลย. อันนี้แหละ ปัญญา, ปัญญาที่ว่าเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด. เปรียบได้กับน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ไม่มีตะกอน, ซึ่งก็คือตัวชีวิตจิตใจจริงๆที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มันอยู่ของมันเฉยๆ, ซึ่งมันมีอยู่แล้วในคนทุกคน-จะเห็นจะรู้จะเข้าใจได้ก็ต้องทำตามวิธีการของพระพุทธเจ้านี้
*หลวงพ่อเข้านอน ประมาณสาม-สี่ทุ่ม ตื่นขึ้นมาประมาณตีสองตีสาม, ตามประวัติที่ทราบ เป็นวันแรม ๑๐ ค่ำ เดือนแปด ของปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เมื่อสร้างจังหวะนานจนเหนื่อยแล้วท่านก็ลุกออกจากที่มาเดินจงกรมต่อ ประมาณตีสี่ตีห้า-เวลาที่คนอื่นกำลังทำวัตรเช้ากัน ขณะนั้นท่านยังเป็นฆราวาส ไปปฏิบัติธรรมที่ตำบลพันพร้าว (ปัจจุบันคือที่ตั้งอำเภอศรีเชียงใหม่) อายุ ๔๕ ปีเศษ จวนจะ ๔๖ ปี

ทวนกระแสความคิด
    พวกเราคงเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้วว่า พระพุทธเจ้าทรงเคยปฏิบัติโดยวิธีทรมานพระองค์มาก่อน แล้วทรงเห็นว่าเป็นวิธีที่ผิดจึงได้เลิกทำทุกรกิริยา และต่อมาก็ทรงฉันข้าวที่นางสุชาดาจัดมาถวาย พระองค์ทรงถามนางว่า จะถวายเฉพาะข้าวหรือถวายรวมทั้งถาดและขันด้วย นางก็ตอบว่าถวายทั้งหมด เมื่อพระองค์ฉันเสร็จแล้วจึงเอาขันไปอธิษฐานที่ริมแม่น้ำว่า ถ้าพระองค์จะได้บรรลุธรรม ขอให้ขันที่วางลงบนผิวน้ำลอยทวนกระแสของน้ำขึ้นไป, ฯลฯ ข้อความเหล่านี้เป็นบุคลาธิษฐาน คือเอาสิ่งที่เป็นรูปธรรมเป็นข้อเปรียบเทียบเท่านั้น ไม่ใช่พระพุทธเจ้าเอาขันไปลอยน้ำแล้วขันลอยทวนกระแสของน้ำขึ้นไปจริงๆ
    “ถาดขัน” ในที่นี้คือ “ธาตุขันธ์” คือจิตใจ, “น้ำ” คือกิเลส, การบำเพ็ญทางจิตของพระองค์เป็นการกระทำที่ยาก เปรียบได้กับ “การทวนกระแสน้ำ” คือพระองค์ไม่ได้ปล่อยจิตใจไปตามกิเลส, “กระแสน้ำ” คือกระแสความคิด; การไปตามกิเลสนั้นง่าย, ทุกคนไปตามกิเลสอยู่แล้วจึงได้รับแต่ความทุกข์, พระองค์ได้ปฏิบัติโดยทวนกระแสของกิเลสเพื่อดับทุกข์ โดยการเฝ้าดูจิตใจ เห็นจิตใจของพระองค์เองที่กำลังนึกกำลังคิด, พอคดขึ้นมา มันอยากทำตามที่ตาเห็นจมูกได้กลิ่นลิ้นได้รสกายถูกสัมผัส ฯลฯ พระองค์เห็นว่าความคิดนั้นเป็นกิเลสการปฏิบัติ พระองค์ก็ทวนกระแสของความคิด คือไม่ทำไปตามความคิดที่อยากจะทำ, พระองค์ปฏิบัติอย่างนี้แหละญาณจึงได้เกิดมีขึ้นในพระองค์และได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า. สิ่งที่พระพุทธเจ้าชี้บอกให้พวกเราปฏิบัติ คือ ให้เอาสติมากำหนดรู้ความคิด มาคอยดูที่จิตที่ใจของตัวเอง, คิดอะไรขึ้นมาต้องรู้ต้องเข้าใจ มันจะได้ไม่ถูกปรุงแต่งต่อไป, พอคิดอะไรวูบขึ้นมา เราก็เอาสติเข้าไปดู ความคิดนั้นก็จะหยุดไปเอง.

เชือกขาด
เมื่อปฏิบัติต่อไปจนถึงที่สุด จนได้เห็นความคิดของเราเอง เห็นไปถึงสมุฏฐานต้นเหตุของความคิด นั่นคือได้เห็นอาการเกิด-ดับ, เกิด-ดับ มันขาดสูญออกไป; อาตมาเคยเปรียบเทียบให้ฟังว่า เหมือนกับเอาเชือกมาผูกปลายสองข้างดึงให้ตึงแล้วเอามีดตัดตรงกลาง เชือกจะขาดออกจากกัน จะดึงมาให้ถึงกันอีกไม่ได้ คือจะใช้งานต่อไปอีกไม่ได้. กล่าวในทางอาตนะ ๑๒ ก็เหมือนกัน, เช่นที่กล่าวกันว่า ตาเห็นรูปหูได้ยินเสียง ฯลฯ ก็ให้สักแต่ว่าเห็นสักแต่ว่าได้ยิน อย่าไปปรุงแต่งว่าสวยไม่สวยดีไม่ดี เสียงเพราะเสียงไม่เพราะ เสียงผู้หญิงเสียงผู้ชาย ให้เพียงแต่เห็นหรือได้ยินเฉยๆ, อันนั้นยังเป็นคำพูด. ส่วนการปฏิบัตินั้นเราต้องดูเข้าไปให้เห็น ให้มันขาดจากกันไปเลย เมื่อมันขาดออกจากกันแล้วมันจะไม่ปรุงแต่งต่อไป อายตนะนั้นก็ไม่สามารถจะเข้าถึงกันได้อีก.
    สมมติเรามีเชือกเส้นหนึ่ง เอาปลายเชือกผูกใส่หลักนั้นข้างหนึ่ง แล้วเอาปลายเชือกอีกข้างหนึ่งไปผูกใส่หลักนี้ไว้ให้มันตึง, เชือกมันจะดึงกันอยู่สองหลักนี้, เอามีดไปตัดตรงกลางหรือเอาไฟไปจุด, พอดีเชือกมันขาด มันจะสะท้อนกลับเข้าไปหาหลัก พอไปดึงมาต่อกันอีกมันจะไม่ถึงกันเลย ถ้าจะให้ตรงกลางมันถึง ปลายเชือกก็จะไม่ถึงสองหลักนั้น. อันนี้เราก็เลยมายกไว้ในเรื่องอายตนะว่า เมื่อตาเห็นรูปก็อย่าไปยินดียินร้าย – นี้เป็นคำพูด, อันนี้ไม่ขาดแล้ว; มันยังถึงกัน. ส่วนอันนี้ มันขาดแล้ว, หรือว่า จับสอดเข้ากันมันก็ไม่เข้า ; เหมือนน็อตกับแหวนไม่มีเกลียว เอาไปสอดเข้าไปในรถมันก็ไม่เกาะกัน เมื่อมันไม่เกาะกันรถมันก็วิ่งไม่ได้ ; เพราะไม่มีอะไรมาผูกมัดมัน.


รับรองผล
ตำราบอกไว้ว่า “ผู้ใดเจริญสติปัฏฐานสี่ ให้ติดต่อกันเหมือนอย่างลูกโซ่ อย่างนานไม่เกิน ๗ ปี ; อย่างกลาง ๗ เดือน ; อย่างเร็วที่สุด นับแต่ ๑ วัน ถึง ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน, มีอานิสงส์ ๒ ประการคือ เป็นพระอรหันต์ หรือ ถ้าไม่ได้เป็นพระอรหันต์ก็ต้องเป็นพระอนาคามีในปัจจุบันภพนี้ชาตินี้ฯ” – ท่านว่าอย่างนั้น. แต่วิธีที่ผมว่านี้, ผมไม่ได้พูดถึงพระอรหันต์ไม่ได้พูดถึงพระอนาคามี, ผมพูดว่า : ถ้าหากเจริญสติตามแบบที่ผมว่ามานี้ อย่างที่ผมทำจังหวะให้ท่านดูนี้ ทำอย่างนั้นอยู่มีความรู้สึกอยู่ให้มันติดต่อกันเหมือนกับลูกโซ่ ; ไม่ให้มีเวลาหลง – รู้สึกอยู่เสมอตลอดเวลา, ผมรับรองว่า อย่างนานไม่เกิน ๓ ปี ; อย่างนานให้เวลา ๑ ปี ; อย่างเร็วที่สุดให้เวลา ๙๐ วัน, อานิสงส์ไม่ต้องพูดถึงอย่างนั้น –  ถ้ามีทุกข์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อย่างน้อยที่สุดหมด ๖๐ เปอร์เซ็นต์ หรือหมดไปทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์จริงๆ. ทั้งนี้เพราะเรารู้สมุฏฐานต้นเหตุที่เกิดของความทุกข์แล้วจริงๆ.
ตัวบุคคลผู้ที่พูดอยู่เดี๋ยวนี้นี่แหละยืนยันรับรองว่าจะเอาชีวิตเป็นประกัน. ถ้าหากทำติดต่อกันถึงสามปีเป็นลูกโซ่แล้วไม่รู้ ก็เอาปืนมายิงเอามีดเอาพร้ามาฟันได้ หรือจะเอาระเบิดโยนใส่หัวก็ได้ เพราะพูดแล้วมันไม่เป็นของจริง, เอาอย่างนี้เลย. คนมีจริงต้องพูดความจริง ไม่ต้องเกรงขามอะไรทั้งนั้น. เราคงเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วว่า – ยอมเสียสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ, ยอมเสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต, ยอมเสียสละชีวิตเพื่อรักษาสัจจธรรมฯ. ความจริงมันมีอย่างนี้ ต้องเป็นไปอย่างนี้. นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า.

ออกจากความคิด
สมมุติเหมือนกับว่า เราอยู่บนบ้าน เราเข้าไปในห้องแล้วเข้าไปนอนในมุ้ง เราก็จะไม่ได้เห็นห้อง ไม่ได้เห็นนอกห้อง ไม่ได้เห็นนอกบ้าน ไม่ได้เห็นหลังคาบ้าน, มันเป็นชั้นๆ อย่างนี้. ที่ผมพูดนี้ เราไม่ต้องเป็นอย่างนั้น, คือว่า : มันคิด-เราเห็น-เรารู้-เราเลยออกจากความคิดได้, เราไม่เข้าไปในความคิด. เปรียบเหมือนเราไม่ต้องเข้าไปอยู่ในมุ้งไม่ต้องเข้าไปอยู่ในห้องนอนไม่ต้องเข้าไปอยู่ในบ้าน, แต่ออกมาชานเรือนหรือว่ามาอยู่ลานบ้าน เรามองดูประตูเราก็เห็น เหลียวมองในห้องเราก็เห็น เหลียวมองมุ้งเราก็เห็น, อันนี้เรียกว่าเราเห็นความคิด-รู้ความคิด-เข้าใจความคิด
    พอดีมันคิด : ทีแรก – จะเป็นเรื่องไป ติดต่อเป็นอารมณ์ไป, คราวนี้ – มันคิด เราเห็นเรารู้ มันหยุด. พอดีมันคิดขึ้นมา – เราเห็นเรารู้เราเข้าใจ – มันหยุด.

แมวจับหนู
อุปมาเหมือนบ้านเรามีหนู มันจึงกัดเสื้อผ้าสิ่งของเสียหายหมด เราไม่มีความสามารถที่จะไปไล่หนูออกจากบ้านได้ จำเป็นต้องไปเอาแมวมาเลี้ยงไว้, แมวกับหนูเป็นปรปักษ์กัน ถ้ามีแมวแล้วหนูมันกลัว. สมมติ ทีแรกหนูตัวใหญ่แมวตัวเล็ก, พอหนูมาแมวถึงตัวจะเล็กมันก็ตะครุบอยู่ดี แต่หนูตัวโตก็วิ่งหนี แมวก็เกาะติดหนูไป พอเหนื่อยแล้วแมวตัวเล็กมันก็วางหนูเอง หนูจึงหนีพ้นไปได้. เราไม่ต้องไปสอนแมวให้จับหนู เพราะเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว, เราเพียงเอาอาหารให้แมวกินให้มันใหญ่ขึ้นอ้วนโตขึ้นมีกำลังแข็งแรงมากขึ้น. ทีนี้เวลาหนูมันมาอีก แมวซึ่งจ้องคอยทีอยู่โดยธรรมชาติและมีกำลังแล้วนั้น จะกระโจนจับทันทีอย่างแรง หนูมันไม่เคยถูกแมวจับมันก็ตกใจช็อคตายทันที เลือดในตัวหนูก็เลยหยุดวิ่ง แมวกินหนูจึงไม่มีเลือด. ความคิดก็เหมือนกัน พอดีมันคิด – เราเห็นเรารู้เราเข้าใจ – มันหยุดทันที, ความคิดมันเลยไม่ถูกปรุงไป เพราะเรามีสติ-มีสมาธิ-มีปัญญาแล้ว. สติแปลว่าตั้งมั่น สมาธิก็แปลว่าตั้งมั่นตั้งใจไว้มั่น ปัญญาแปลว่ารอบรู้ ตัวสติตั้งมั่น ก็คือ มันคอยจ้องความคิดอยู่เหมือนแมวคอยทีจะจับหนูนั่นเอง, พอดีมันคิดปุ๊บ เราไม่ต้องไปรู้กับมัน ให้มาอยู่กับความรู้สึกตัวนี้ มันคิดแล้วก็หายไป. นี้ก็หมายความว่า เมื่อมีสติเห็นรู้เข้าใจอยู่ความหลงไม่มีหรือมีไม่ได้เลย, เมื่อความหลงไม่มีแล้ว โทสะ-โมหะ-โลภะ ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้, นี้เรียกว่า นามรูปไม่ทุกข์ เพราะรู้เท่า-รู้ทัน-รู้กัน-รู้แก้ ซึ่งก็คือ “ตัวสติ” นั่นเอง.

ย้อมสี
เรื่องโทสะ – โมหะ – โลภะ ไม่ต้องอดทนมันดอก, เห็นแล้ว – มันหายไปเอง. สมมติ, น้ำสีมีคุณภาพมีอยู่เต็มกระป๋องนำไปย้อมผ้า จะเป็นน้ำสีสีดำก็ตามสีแดงก็ตาม เมื่อเอาไปย้อมผ้าขาวมันจะกินผ้าขาวนั้นจนดำทั้งหมดหรือแดงทั้งหมดตามน้ำสีนั้นเลย, ถ้าน้ำสีนั้นเสื่อมคุณภาพหรือว่าสีมันตายแม้จะมีอยู่เต็มกระป๋องอย่างเดิม เอาไปย้อมผ้าจะไม่กินผ้าเลย หากติดผ้าก็น้อยที่สุด พอถูกน้ำซักก็หลุดออกหมด. อันนี้ก็เหมือนกัน, ถ้าเห็นสมุฏฐานความคิดแล้วจริงๆ เมื่อมีคนโน้นคนนี้มาพูดมาว่าให้เรา ตัวสติมันจะวิ่งเข้าไป – ปุ๊บ – นั่นทันทีเลย, มันไวขนาดนั้น, ความหลงผิดจึงไม่มี.

บาป-บุญ
ดังนั้น ในชั้นนี้ บาปคือความหลง บุญคือความมีสติ.
    บาปมากที่สุดอยู่ที่ไหน ;
    บาปมากที่สุด ก็คือ ความหลงผิด ความไม่รู้จริงนั่นแหละ.
    บุญมากที่สุดอยู่ที่ไหน ;
    บุญมากที่สุด ก็คือ ความมีสติ ความเห็นแจ้งความรู้จริง ; เรียกว่า วิปัสสนา.
    วิปัสสนา แปลว่า เห็นแจ้ง – รู้จริง – ต่างเก่า – ล่วงภาวะเดิม.


จิตเหมือนดวงตะวัน
เมื่อผมเห็นวัตถุ – เห็นปรมัตถ์ – เห็นอาการนี่แหละ เลยเข้าใจว่าโทสะ – โมหะ – โลภะ นี้ก็เช่นกัน เป็นวัตถุชนิดหนึ่ง : และก็เป็นอาการชนิดหนึ่ง, มันไม่ได้เกาะอยู่กับตัวจิตของเราจริงๆ. หากจะสมมติให้ฟังก็เปรียบได้กับดวงตะวัน : เมื่อเมฆมาบังเราก็จะพูดว่า ฟ้ามืด ฟ้าหม่น ตะวันมืด ตะวันบด ความจริงแล้ว เมฆ ฟ้า หมอก ควัน ฯลฯ มาบังเฉยๆ เมฆหาได้ไปเกาะอยู่ที่ดวงตะวันไม่ มันผ่านไปเฉยๆ เมื่อผ่านไปแล้วแสงตะวันก็พุ่งออกมา, อันที่จริง ดวงตะวันมันก็ส่องสว่างของมันอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเมฆจะบังหรือไม่ แต่เราไม่เห็น, มันเป็นอย่างนั้น. อันความคิดเรานั้น ก็เหมือนกันกับเมฆนั่นแหละ, ส่วนตัวชีวิตจิตใจของเราจริงๆ นั้น มันเป็นปกติอยู่, มันไม่ได้บิดเบี้ยวไปอย่างนั้นอย่างนี้, มันเป็นอุเบกขา ; อุเบกขาแปลว่าเฉย มันมีอยู่เฉยๆ. ลักษณะที่ผมพูดนี้, ความเป็นอุเบกขาที่ผมยกมาพูดนี้, มันมีอยู่แล้วในคนทุกคน.

วิดน้ำในบ่อ
    ให้เอาสติมาดูความคิด มันคิดให้รู้ ให้เห็น ให้เข้าใจ ให้สัมผัสได้ คิดปุ๊บตัดปั๊บทันที ทำเหมือนแมวจับหนู เหรือเหมือนนักมวยขึ้นเวที ต้องชกทันที ไม่ต้องรอไหว้ครู แพ้ชนะเป็นเรื่องของนักมวยต้องชกทั้งนั่น ไม่ต้องรอใครทั้งนั้น หรือเหมือนกับขุดบ่อน้ำ เมื่อเจอน้ำแล้วเป็นหน้าที่ที่จะต้องวิดตม วิดเลน วิดน้ำออกให้หมด น้ำเก่าก็ตักออกให้หมด น้ำใหม่ก็ตักออกให้หมด บัดนี้น้ำใหม่ที่อยู่ข้างในจะออกมา เราต้องกวนปากบ่อ ล้างปากบ่อ ล้างตมล้างเลนเหล่านั่น ทำบ่อยๆ น้ำจะสะอาดขึ้นเอง เมื่อน้ำสะอาดแล้ว อะไรตกลงในบ่อ จะรู้ จะเห็น จะเข้าใจได้ทันที การตัดความคิดออกก็เช่นเดียวกัน ตัดได้ไวเท่าใดยิ่งดีเท่านั้น

สวิตซ์ไฟ
    จะทำให้เห็นกิเลสได้นั้น เราต้องทำให้ถูกวิธีของมัน ให้รู้จักสมุฏฐานของมัน. อุปมาเหมือนเราต้องการความสว่าง แต่เราไม่เคยใช้ไฟฟ้า ก็เลยไม่รู้จักวิธีใช้ไฟฟ้า ไม่รู้จักสมุฏฐานที่จะทำให้ไฟฟ้ามันเกิดขึ้นมา แต่เคยเห็นความสว่างอยู่ที่หลอดไฟฟ้า, ทีนี้ พอจะให้มันสว่าง มันก็จะไปจับที่หลอดไฟพลิกหมุนอยู่อย่างนั้น ถึงทำไปจนตายมันก็ไม่สว่างขึ้นมาได้ เพราะไปทำไม่ถูกจุดของมัน ไม่รู้จักต้นเหตุสมุฏฐานของมัน. ส่วนคนที่ฉลาดคนที่รู้จักสมุฏฐานที่ไฟฟ้ามันเกิดขึ้นมาสว่างขึ้นมา เขาจะไม่ต้องไปจับที่หลอดโน่นเลย เขาจะมาจับที่สวิตซ์นี่ – ปั๊บ – แล้วมันจะไปทำความสว่างอยู่ที่หลอดไฟฟ้านู่น. การปฏิบัติวิปัสสนานี้ก็เหมือนกัน, ถ้าหากเราฉลาด เรารู้ – เราเห็น – เราเข้าใจตามแบบของพระพุทธเจ้าแล้ว เราจะรู้จักว่าความโกรธความโลภความหลงนั้น ความทุกข์ประเภทนั่น จริงๆแล้วมันไม่ได้มีอยู่ที่เรา เมื่อเราเจริญวิปัสสนาแบบถูกต้องแล้ว ว่าแต่มีคนพูดขึ้นมา – ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม สติปัญญาของเรานี้มันจะไวถึงที่สุด, มันจะทำหน้าที่ของมัน

ลืมตาทำ
วิธีปฏิบัติแบบลืมตาที่หลวงพ่อสอนนี้ ไปไหนมาไหนก็ทำได้ ใครผ่านไปมาก็เห็น  จิตใจมันนึกมันคิดก็รู้ก็เห็น, หลวงพ่อเข้าใจเช่นนี้. เรื่อง “นิมิต” ก็เหมือนกัน. นิมิตแปลว่า เครื่องหมาย เครื่องสัญญา หรือสิ่งที่สัญญาเรารู้, หมายอย่างไร ก็หมายให้เรามีสติรู้สึกจับอยู่กับสิ่งเหล่านั่น อย่างพลิกมือขึ้นรู้สึกตัว นั่นละนิมิต มันคิดมาก็เห็นก็รู้ อันนั้นเรียกว่าเป็นนิมิต. ส่วนการที่คนไปนั่งสมาธิต้องการเห็นดวงแก้ว เห็นพระพุทธรูป แต่ไม่เห็นจิตใจตัวเอง จิตใจคิดแวบไปไม่เห็นเลย นั่งอยู่ที่นี่คิดลอยไปถึงไหนๆ, อย่างนั้นไม่มีประโยชน์, มันเป็นมายา, หลวงพ่อกล้ายืนยันกล้ารับรองได้ว่า การทำวิปัสสนาแบบลืมตาเอาไปใช้ทำงานทำการได้ ทำอะไรอยู่ก็ทำได้, จิตใจนึกคิดจะโกงขึ้นมาก็รู้ คนจะมาหยิบของขโมยของก็เห็นก็รู้ ทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็ไม่เอา จิตใจมันอยากคิดอยากได้ความสุขก็รู้ว่ามันไม่ได้ไม่ควร สุขวันนี้พรุ่งนี้ทุกข์ก็มาแล้ว, มันเป็นอย่างนี้
ดังนั้น การเห็นธรรมต้องเห็นที่ตัวเรานี้เอง, ไม่ใช่ไปเห็นพระพุทธรูป หรือรูปพระพุทธเจ้า, ไม่ใช่อย่างนั้น. พระพุทธเจ้านั้นท่านตายไปนานแล้ว

อากาศในแก้วน้ำ

ขอยกตัวอย่างอีกสักเรื่อง, เอาแก้วน้ำมาวางไว้ ๑ ใบ เราจะเห็นว่าในแก้วมีอากาศ, พอเราเทน้ำใส่ลงไป อากาศก็ไหลออก น้ำเข้าไปแทนที่, พอเทน้ำออกอากาศก็เข้าไปแทนที่ใหม่, อันนี้ก็เปรียบได้กับเราพลิกมือ เรารู้เรามีสติ สติเข้าไปแทนที่ความไม่รู้ความหลง, ความไม่รู้ก็หลุดออกไปจากจิตใจของเรา. ให้เราทำบ่อยๆ จับความรู้สึกอยู่บ่อยๆ ทุกอิริยาบถ สติก็จะมีมากขึ้นๆ ความหลงความไม่รู้ก็จะลดลงๆ เหมือนน้ำเข้าไปแทนที่อากาศในแก้ว ฉันนั้น

โอ่งใส่น้ำ
การเจริญสตินี้ ต้องทำมากๆ ทำบ่อยๆ นั่งทำก็ได้ นอนทำก็ได้ ขึ้นรถลงเรือทำได้ทั้งนั้น เวลาเรานั่งรถเมล์ เรานั่งรถยนต์ก็ตาม เราเอามือวางไว้บนขา พลิกขึ้นคว่ำลงก็ได้ หรือเราไม่อยากพลิกขึ้นคว่ำลง เราเพียงเอานิ้วมือสัมผัสนิ้วอย่างนี้ก็ได้ สัมผัสอย่างนี้ ให้มีความตื่นตัว ทำช้าๆ หรือจะกำมือ เหยียดมืออย่างนี้ก็ได้
คำว่า “ให้ทำอย่างนั้นตลอดเวลานั้น” คือ เราทำความรู้สึกซักผ้าซักเสื้อ ถูบ้านกวาดบ้าน ล้างถ้วยล้างชาม เขียนหนังสือ หรือซื้อขายก็ได้ เพียงเรามีความรู้สึกเท่านั้น แต่ความรู้สึกอันนี้แหละ มันจะสะสมเอาไว้ทีละเล็กทีละน้อยเหมือนกับเราที่มีขันหรือมีโอ่งน้ำ หรือมีอะไรก็ตามที่มันดี ที่รองรับมันดี ฝนตกลงมา ตกทีละนิด ทีละนิด เม็ดฝนเม็ดน้อยๆ ตกลงนานๆ แต่มันเก็บได้ดี น้ำก็เลยเต็มโอ่งเต็มขันขึ้นมา
อันนี้ก็เหมือนกันเราทำความรู้สึก ยกเท้าไปยกเท้ามา ยกมือไปยกมือมา เรานอนกำมือเหยียดมือ ทำอยู่อย่างนั่น หลับแล้วก็แล้วไปป เมื่อนอนตื่นขึ้นมาเราก็ทำไป หลับแล้วก็แล้วไป ท่านสอนอย่างนี้ เรียกว่า ทำบ่อยๆ อันนี้เรียกว่าเป็นการเจริญสติ

สติปัฏฐานสี่
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราเจริญสติ. สติปัฏฐานสี่ ได้แก่ กาย – เวทนา – จิต – ธรรม. คนมีปัญญานำไปปฏิบัติได้ทันที. สตินั้น เราก็ยังไม่เข้าใจเพราะเป็นภาษาบาลี ท่านสอนว่า ธรรมที่มีอุปการะมากมีคุณมาก คือ สติ – ความระลึกได้ สัมปชัญญะ – ความรู้ตัว, ในทางปฏิบัติมันเป็นอันเดียวกัน คือ “รู้สึกตัว” นี่แหละ, รวมความแล้วก็ว่า – “รู้สึกตัว – ตื่นตัว  รู้สึกใจ – ตื่นใจ” สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจ ท่านก็สอนเข้าไปอีกว่า ให้เรามีสติกำหนดรู้ในอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน – เดิน – นั่ง – นอน แต่เท่านั้นก็ยังไม่พอ, ท่านยังสอนเข้าไปอีกว่า ให้มีสติกำหนดรู้ในอิริยาบถย่อย ; คู้ – เหยียด – เคลื่อน – ไหวโดยวิธีใด ก็ให้มีสติเข้าไปกำหนดรู้. แล้วทีนี้พวกเรากลับไม่ทำตามอย่างนี้ พากันไปทำตามอย่างอื่นวิธีอื่นเสีย แต่ก็ยังพูดว่าจนทำตามพระพุทธเจ้า, สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนกลับไม่เอา ไม่ฟัง. แล้วจะเป็นผู้รู้ตามเห็นตามได้อย่างไร

เจริญสติ
วิธีปฏิบัตินั้นต้องเป็นวิธีเจริญสติ. คำว่า “เจริญสติ” นี้ ก็มีหลายคนพูดถึงอยู่เหมือนกัน. เจริญสติปัฏฐานสี่ คือ กาย – เวทนา – จิต – ธรรม, หรืออิริยาบถสี่ คือ ยืน – เดิน – นั่ง – นอน. ส่วนวิธีที่ผมจะพูดถึงนี้จะถือว่าเป็นสติปัฏฐานสี่หรือไม่เป็นสติปัฏฐานสี่ก็ได้ – โดยให้ทำความรู้สึกตัว. เมื่อทำความรู้สึกตัวแล้ว ความไม่รู้สึกตัวก็หายไปเอง. ทำความรู้ตัว : พลิกมือขึ้น, คว่ำมือลง, ยกมือไป, เอามือมา, เดินหน้า, ถอยหลัง, เอียงซ้าย, เอียงขวา, ก้ม, เงย, กระพริบตา, อ้าปาก, หายใจเข้า, หายใจออก, กลืนน้ำลายผ่านลงไปในลำคอ, คู้, เหยียด, เคลื่อนไหว, ฯลฯ ; เหล่านี้ – ให้ทำความรู้สึก. เมื่อมีความรู้สึกอยู่แล้วความไม่รู้สึกมันหายไปเอง. ความไม่รู้สึกนั้น ภาษาธรรมะท่านเรียกว่า “โมหะ” ภาษาบ้านเราเรียกว่า “หลง”. เมื่อมีความรู้สึกอยู่นั้น เรียกว่ามีสติ, เมื่อทำความรู้สึกอย่างนี้อยู่ ก็เรียกว่าเป็นการเจริญสติ. คำว่า “เจริญ” นั้น หมายถึงการทำบ่อยๆ, “เจริญสติ” ก็คือ ให้รู้สึกบ่อยๆ ; จะเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้มีความรู้สึก.

 คำสอนหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
 จากหนังสือ พลิกโลกเหนือความคิด






คำทักท้วงจาก ท. ถึง ว. (อย่ามัวทำตัวเป็นโพธิสัตว์)

          ครั้งหนึ่ง จากเรื่องจริงของนักปฏิบัติธรรม   ชายคนหนึ่งมีนามว่า ว. มีอาชีพค้าขาย  อาศัยอยู่แถบใจกลางเมืองหลวงของเรานี่เอง   เขาเป็นคนมีอัธยาศัยดี  จิตใจโอบอ้อมอารี ชอบช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ เป็นที่รักใคร่ของเพื่อน ๆ และผู้คนที่ได้รู้จักกับเขาอย่างมากมาย

          ก่อนที่เขาจะเรียนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง    เขาและเพื่อนๆ มีความเห็นพ้องต้องกันว่า  ควรจะทำประโยชน์อะไรสักอย่างให้กับสังคมเรา   จึงได้ตกลงจัดรายการพิเศษ   เดินทางไปศึกษาธรรมะที่สวนโมกข์ จ.สุราษฎร์ธานี  โดยเชิญชวนเพื่อนๆ และผู้ที่สนใจในธรรมะทั่วไป  ร่วมไปในรายการที่จัดขึ้นนี้

         เหมือนกับว่ามีอะไรบางอย่าง มาดลใจเขาและเพื่อน ๆ   ขณะที่ได้สดับฟังการบรรยายธรรมของท่านอาจารย์ที่สวนโมกข์   พวกเขาเกิดความประทับใจในธรรมะของพระพุทธศาสนามากขึ้น   จึงคิดจะช่วยงานเผยแพร่ธรรมะแห่งพุทธศาสนาให้กับผู้ที่สนใจทั่วไป  เพื่อให้ได้ทั้งประโยชน์ทั้งส่วนตนและผู้อื่น

         หลังจากกลับจากสวนโมกข์แล้ว   พวกเขาจึงช่วยกันเผยแพร่ธรรมะ ด้วยการคัดลอก ตีพิมพ์บทความธรรมะที่คิดว่า จะเป็นประโยชน์ให้แก่สมาชิกที่สนใจมากมาย ภายใต้การนำของ ว.

         จนกระทั่งวันหนึ่ง ว. ได้ไปพบวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงสำนักปฏิบัติธรรม   ซึ่งมาภายหลังพบว่าเป็นวัดเก่าแก่ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้า   ที่นั่น เขาได้พบกับพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อว่า ท. เดินทางลงมาจากแถบภาคอิสานเหนือ สำเนียงถ้อยคำทีท่านพูด เป็นภาษาอิสานปนภาษาไทยภาคกลาง   ฟังได้พอเข้าใจ แต่สิ่งที่น่าแปลกก็คือ พระภิกษุรูปนี้ ไม่รู้หนังสือเลย  แต่สามารถสอนธรรมะขั้นสูงด้วยภาษาพูดง่ายๆ  ระดับชาวบ้าน ซึ่งฟังง่าย แต่ความหมายนั้นลึกซื้ง เป็นเรื่องวิถีทางหลุดพ้นจากทุกข์  นั่นก็คือแก่นแท้ของศาสนาพุทธ

          สิ่งที่ ว. ได้พบ  ทำให้เขาประทับใจในการปฏิบัติธรรมแบบง่ายๆ โดยฝึกสติสร้างความรู้สึกตัว ใช้ในชีวิตประจำวันได้ทุกขณะ  และบรรยากาศของวัด ก็เป็นลักษณะของวัดป่า  แต่ตั้งอยู่ในเขตชานเมืองแถบฝั่งธนบุรีนี้เอง  จึงคิดจะเผยแพร่การปฏิบัติธรรมแบบง่ายๆ นี้ให้กับสมาชิกกลุ่มและเพื่อนๆของเขา   โดยการจัดให้มีการฟังธรรมและปฏิบัติธรรมอยู่เป็นประจำเสมอมา ณ ที่วัดแห่งนี้  จนเป็นที่รู้จักของนักปฏิบัติธรรมว่า   เป็นวิธีปฏิบัติธรรมแบบลัดสั้น  ซึ่งบังเอิญเหมือนกับพุทธศาสนาในญี่ปุ่นนิกายหนึ่ง  ชื่อว่าแบบ "เซ็น"   คือทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ตนเองหลุดพ้นจากทุกข์ ด้วยระยะเวลาอันสั้น โดยข้องแวะกับตำราหรือพิธีรีตองให้น้อยที่สุด   ถือว่าการเรียนรู้ตัวแก่นแท้ของพระพุทธศาสนานี้ ต้องเรียนจากร่างกายที่ยาวประมาณวา หนาประมาณคืบนี้เท่านั้น   

          การจัดรายการปฏิบัติธรรมที่วัดนี้  บ่อยครั้งแทบจะทุกๆเดือน    ทำให้สมาชิกสนใจการปฏิบัติธรรมและเข้าใจตัวธรรมะภาคปฏิบัติมากยิ่งขึ้น ซึ่ง ว. เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทุกครั้ง

          อยู่มาวันหนึ่ง  ว. ก็เข้าไปที่วัดแห่งนี้อีก เพื่อจะปรึกษากับพระภิกษุ ท. สำหรับการจัดรายการ
ให้สมาชิกในครั้งต่อไป   มาคราวนี้แปลกกว่าครั้งก่อน  พระภิกษุ ท. ไม่ได้แนะนำเรื่องจัดรายการปฏิบัติธรรมเหมือนกับครั้งที่แล้วๆมา  แต่พูดกับ ว.  ว่า “ทำไม ? คุณถึงมัวแต่ทำงานของโพธิสัตว์อยู่เล่า  เที่ยวโปรดแต่สัตว์ผู้อื่น   กิจกรรมที่พวกคุณทำนะ ทราบไหมว่า  มันเป็นเพียงทางไปสวรรค์เท่านั้นหรอก  หาใช่ทางนิพพานสำหรับตนเองไม่ เหตุใดเล่า จึงไม่สนใจตัวเองก่อน  สร้างความเป็นพุทธะให้เกิดในใจเสียก่อน  ชีวิตนี้มันสั้นนัก  ระวัง ! ตัวคุณเองเกิดมาแล้วจะเสียเวลาเปล่า”
          ว. ได้ยินได้ฟังแล้วถึงกับตะลึงงัน ลืมเรื่องที่จะคิดจัดรายการให้กับผู้อื่นเสียหมดสิ้น เพราะนี่เป็นการชี้ขุมทรัพย์ครั้งยิ่งใหญ่ที่เขาไม่เคยได้รับจากผู้ใดมาก่อนเลย

          เขากลับไปและครุ่นคิดอย่างมากมาย ถึงคำพูดที่ได้ฟังวันนั้น "ทำไมเราช่วยทำให้คนอื่น อาบอิ่มไปกับรสแห่งธรรมกันไปตามๆ กัน แต่เรากลับปฏิเสธหนทางนี้เสียเอง  เปรียบประดุจพนักงานเสริฟในร้านอาหารซึ่งบริการเสริฟอาหารอันอุดมด้วยรสชาดแก่ลูกค้า    โดยที่ตนเองไม่มีโอกาสลิ้มรสอาหารอันอร่อยนั้น ๆ เลย"

          เมื่อ ว. คิดได้เช่นนั้น  จึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่  ที่จะเข้าปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง ณ ที่วัดนี้
แต่โอกาสก็ยังไม่อำนวยให้  เนื่องจากเขามีอาชีพค้าขาย และตัวเขาเองก็เป็นกำลังสำคัญในการทำงาน  ของบางอย่างที่ขายในร้าน เขารู้รายละเอียดแต่เพียงผู้เดียว  
          โชคดียังเป็นของ ว. เขามีกัลยาณมิตรอยู่มากมาย  ซึ่งคนเหล่านี้ได้ยอมเสียสละ ลางานของตนเองมาสับเปลี่ยนกัน ช่วยขายของที่ร้านของ ว.

          โอ้ ! โอกาสอันงามเป็นของเขาแล้ว  เขารีบไปปฏิบัติธรรมแบบเก็บอารมณ์ 7 วัน  กับพระภิกษุ
ท. ที่วัดแห่งนั้นทันที เพื่อค้นหาธาตุแห่งความเป็นพุทธะให้ปรากฏแก่ตัวเอง

          ในสองสามวันแรก ๆ ของการปฏิบัติ  ว. ก็เหมือนกับนักปฏิบัติโดยทั่วไป ซึ่งมักจะจดจำข้อความจากหนังสือธรรมะที่ได้เคยอ่านมา เคยคิดคำนึงไว้ นำไปฝึกปฏิบัติ  แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิดเสียแล้ว  ภาคปฏิบัติธรรมมันต่างจากภาคปริยัติธรรม "สิ่งที่เราคิดว่าใช่ ตามความเข้าใจของเรา  มันก็กลับไม่ใช่(ธรรมะชั้นสูง)"

         พระภิกษุ ท. มาสอบอารมณ์ ว. เป็นระยะๆ แนะนำให้พยายามลืมอดีต อนาคต ความรู้เก่า
ที่ได้ศึกษามาให้หมดสิ้น  ในระหว่างที่ปฏิบัติธรรมตามแบบของท่าน   เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค   มีสติอยู่เพียง รู้ อยู่ ทำความรู้สึกตัวอยู่กับปัจจุบัน  เพียงเฝ้าดูปรากฏการณ์ที่เกิดกับกายและจิตใจของตนเท่านั้น   ซึ่ง ว. ก็เชื่อฟังและทดลองทำดู

          ในวันต่อมา เขาเริ่มจะทำได้ถูกทาง  เขาเห็นอาการที่ความคิด (ความทุกข์) เริ่มก่อตัวในจิต
ของเขาอย่างไร    และสามารถดับมันลงได้ด้วยการมีสติ   รู้สึกตัวอยู่เท่านั้น    สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็ดับลงไปได้ด้วยตัวของมันเอง  ไม่ต้องคิดใช้เหตุผลพยายามลบล้างมัน

          พระภิกษุ ท. มาสอบอารมณ์เขา  และกล่าวว่า “ใช่แล้ว  จิตโยมเริ่มเข้ากระแสทางธรรมแล้ว
ถูกต้องโดยไม่ต้องอาศัยหนังสือตำรับตำราหรือครูอาจารย์ชักจูงชีวิตอีกต่อไป   บัดนี้  พระธรรมที่โยมได้พบด้วยตนเองแล้ว นี่จะเป็นสิ่งนำทางชีวิตของโยมตลอดไปจนถึงที่สุดของทุกข์  นี่แหละ ที่เรียกว่า ผู้ปฏิบัติธรรมพึงเห็นได้ด้วยตนเอง (ปัจจัตตัง)”

         ว. เหมือนกับได้ชีวิตใหม่ จิตใจมีความรู้สึกอิสระจากสิ่งทั้งปวงได้  แม้ว่าจะยังไม่เป็นการถาวร
แต่แน่แท้ว่า วันหนึ่งความหมดทุกข์อย่างสิ้นเชิงจะต้องเป็นของเขา

          บัดนี้ ความชั่วเขาก็จะไม่ทำอีกแล้ว  ความดีล่ะ ! ก็เป็นสิ่งควรจะทำต่อไป  แต่คราวนี้  เขาจะ
ไม่ทำความดีด้วยความงมงายอีกแล้ว  การคิดจะช่วยผู้อื่น  โดยที่ตัวเองยังเอาตัวไม่รอดละก็  ไม่ขอทำอีกแล้ว  เพราะในการเดินนำทางผู้อื่น   ถ้ายังไม่รู้จักเส้นทางนั้นดีพอ  ก็อาจทำให้ชีวิตของทั้งผู้นำทางและผู้เดินตามนั้นเดินวกวนไปอย่างไร้ประโยชน์ ไม่รู้จักจุดหมายแท้จริงแน่นอน ...

          ท่านทั้งหลาย ท่านเคยได้รับคำทักท้วงอย่างเช่น  ว.  แล้วหรือยัง ?  หากท่านเคยได้รับละก็
ท่านจะปล่อยโอกาสของคุณให้ผ่านไปอย่างง่ายดายหรือ    รีบทำให้ชีวิตของเราพบกับความสุขอันถาวรของชีวิตด้วยการปฏิบัติธรรมเถิด  ผลลัพท์ก็จะเกิดกับคุณในไม่ช้า

          และหากท่านทั้งหลายไม่เคยได้รับคำทักท้วงเช่นนี้มาก่อน    ก็ยังมีอีกผู้หนึ่งที่สามารถจะมาทักท้วงท่านได้  เขาผู้นั้นก็คือ ตัวท่านเอง


จากเรื่องที่ท่านได้อ่านจบไปแล้วนี้
          ท. ก็คือ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ   

 

          ว. ก็คือ คุณวุฒิชัย  ทวีศักดิ์ศิริผล 
อดีตประธานกลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม ผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยอายุเพียง 35 ปีเท่านั้น








      


          ท่านทั้งหลายคงไม่ปรารถนาให้ความตายมาพลัดพราก  โอกาสการเข้าถึงธรรมที่ทุกคนสามารถทำให้มีได้ในชีวิต หากเพียงเริ่มเสียแต่วันนี้  

          สำหรับกรณี "คุณวุฒิชัย" นั้น มันเกือบจะสายไปเสียแล้ว เพราะธรรมจากการปฏิบัติที่เขาได้รับในวันนั้น เป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดในชีวิตที่สุดของเขา คือเขาได้เห็นธรรมในระดับ เข้าใจเรื่องรูปนาม อันเป็นการเข้าเส้นทางเบื้องต้นที่ถูกต้องตามแบบเส้นทางพระอริยะนั่นเอง

          " ท่านทั้งหลาย จงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด "  พุทธพจน์



จากข้อเขียนลงในเอกสารประจำเดือนของ
กลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม (ไกวัลย์)
มิถุนายน ๒๕๓๒
ย้อนรอยอดีตโดย โตสื่อพระธรรม



หนังสือสว่างที่กลางใจ หนังสือ ๓ เล่มแรก ที่ทำให้หลวงพ่อเทียนเริ่มเป็นที่รู้จักแก่ปัญญาชน

หนังสือเหล่านี้เป็นหนังสือที่หลวงพ่อเทียน อนุญาตให้จัดพิมพ์ด้วยเมตตาธรรมของท่าน แม้จะมีคำสอนของท่านเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เป็นหนังสือจำหน่ายในราคาถูก แต่หนังสือนี้ก็ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มปัญญาชนและผู้ปฏิบัติธรรม เพราะเนื้อหาคำสอนที่ง่ายๆ สอนสัจธรรมความจริง มีเหตุมีผลอย่างวิทยาศาสตร์

หนังสือเหล่านี้รวบรวมและจัดพิมพ์โดยกลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม (วุฒิชัย ทวีศักดิ์ศิริผล) ร้านไกวัลย์ ร่วมกับวัดสนามใน บางกรวย นนทบุรี ได้รับความนิยมมากจนต้องพิมพ์ซ้ำหลายๆครั้งด้วยกัน แต่น่าเสียดายหาหนังสือสว่างที่กลางใจมาอ่านเป็นการยากเสียแล้ว และไม่ได้รับอนุญาตให้พิมพ์อีก เนื่องจากเป็นหนังสือขาย

















หนังสือสว่างที่กลางใจทั้ง ๓ เล่มนี้ หากท่านผู้อ่านสนใจอย่างไร ก็ลองติดต่อที่มูลนิธิหลวงพ่อเทียนดูนะครับ  คิดว่าคงยังเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์ของหลวงพ่อเทียนเป็นแน่

กลับสู่ด้านบนของเว็บนี้

กลับสู่เว็บหลักโตสื่อพระธรรม

หนังสือผลงานคำสอนที่น่าสนใจของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ อีกหลายเล่มที่น่าสนใจ










สนใจดูหนังสือเหล่านี้ ลองติดต่อมูลนิธิหลวงพ่อเทียน นะครับ เพราะมีกฏเหล็กว่าห้ามวางจำหน่าย ก็เลยหาไม่ได้ง่ายๆในท้องตลาด น่าาาาเสียดายจัง






หลวงพ่อเทียนเคยคิดจะสึกจากความเป็นพระภิกษุ

"หลวงพ่อเทียนเคยคิดจะลาสิกขา สึกจากความเป็นพระ" (เหตุที่หลวงพ่อเทียนแต่งชุดดำนิกายเซน) 

ย้อนอดีตโดย ทวีเกียรติ โตจำเริญ (โต) กองทุนโตสื่อพระธรรม http://toesuepratam.blogspot.com/



ในสมัยปัจจุบันนี้ เครื่องแต่งกายนิกายเซนชุดสีดำดูจะไม่ค่อยแปลกตาแก่ชาวไทยเท่าไดนัก เพราะความนิยมในตัวพระนิกายเซนอย่างท่านติช นัชฮันในหมู่บ้านพลัม ฝรั่งเศส ออกจะเป็นกระแสที่ฮิตแรงมากอยู่  ใครๆ ก็นิยมอยากได้ไปฟังคำสอนและได้ปฏิบัติธรรมแนวทางของท่าน ซึ่งกล่าวถึงการสร้างสันติภาพด้วยการฝึกสติของแต่ละคน

แต่ถ้าเป็นในสมัยที่หลวงพ่อเทียนยังมีชีวิตอยู่ การแต่งสีดำดูจะเป็นเรื่องแปลกมากเลย  เนื่องจากในสมัยก่อนๆ คนไทยจะไม่สนใจกับพระในนิกายอื่นๆ เลย คิดว่าแบบเถรวาท ห่มจีวรสีเหลืองดูน่าเลื่อมใสที่สุด  พระที่แต่งกายสีอื่นๆ มาเทศน์สอน พวกเราจะไม่ศรัทธาเลื่อมใสกันนัก บางทีไม่เปิดใจฟังกันเลยก็ว่าได้ ยิ่งเป็นฆราวาสมาสอนธรรมะด้วย อาจไม่ศรัทธาตั้งใจฟังเท่ากับการฟังพระสอน  หลวงพ่อเทียนมีความคิดลึกซึ้งต่างไปจากพวกเราปุถุชนคนธรรมดา หรือเป็นปรีชาญาณของคนไม่รู้หนังสือ (มีบางท่านได้กล่าวไว้)  ในขณะที่การเผยแผ่ธรรมปฏิบัติแบบเจริญสติของท่านกำลังไปได้ดี มีคนศรัทธาการปฏิบัติธรรมอย่างหลวงพ่อมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  แต่มีเหตุการณ์วันหนึ่ง ท่านได้ประกาศตัวว่า "หลวงพ่อจะลา
สิกขาบท (สึกจากพระ) ออกมาเป็นฆราวาสสอนธรรมะ"  ญาติธรรมหลายๆคนที่ได้ฟังหลวงพ่อเทียนกล่าวดังนั้น หัวใจแทบช๊อค เหตุใดเล่าท่านจึงกล่าวเช่นนั้น  ...เรื่องมันมีอยู่ว่า...

ในราวปี พ.ศ.๒๕๒๖  การปฏิบัติธรรมเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียนกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น จนหลวงพ่อได้มีโอกาสไปเผยแพร่ธรรมที่ประเทศสิงคโปร์หลายครั้งด้วยกัน  มีโอกาสไปเทศน์ในวัดของพุทธศาสนานิกายเซน โดยมีลูกศิษย์ที่ติดตามไปแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ท่าน  หลวงพ่อเทียนยังได้พบกับ
พระอาจารย์ใหญ่ของเซนผู้หนึ่ง คือท่านยามาด้า โรชิ ยังมีโอกาสถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึกอีกด้วย 

คำสอนของหลวงพ่อเทียนประทับใจชาวสิงคโปร์มาก โดยขณะที่ท่านเทศน์ในวัดเซน หลวงพ่อแต่งกายชุดพระเซนสีดำห่มทับจีวร เพื่อเพิ่มความศรัทธาแก่ผู้ฟัง ผู้เขียนยังได้เคยเห็นรูปของผู้ที่ติดตามไปด้วย
ถ่ายภาพท่านไว้  ในภาพหลวงพ่อเทียนแต่งชุดนิกายเซนสีดำ สองมือถือโซ่เส้นหนึ่งไว้ในขณะที่กำลังเทศน์ ผู้ที่ไปด้วยกล่าว หลวงพ่อเทียนเทศน์ว่า "การปฏิบัติธรรมเจริญสติแบบหลวงพ่อนี้ ต้องปฏิบัติให้มีความรู้สึกตัวต่อเนื่องดังโซ่เส้นที่ท่านถืออยู่ในมือนี้ จะมีอานิสงส์ดับทุกข์ได้ภายใน ๓ เดือน หรือ  ๑ ปี อย่างนาน ๓ ปี จะพ้นทุกข์ในจิตใจได้อย่างแน่นอน ..."  แม้แต่การสอนในเมืองไทยในช่วงเวลานั้น ผมยังเคยได้ยินท่านเทศน์สอนอย่างนี้ด้วยเสมอๆ เช่นกัน

ในเวลานั้นผมกำลังศึกษาวิชาการถ่ายภาพอย่างมืออาชีพ แบบจัดไฟสตูดิโอ แต่ใช้อุปกรณ์ไฟแฟลชเล็กเพียง ๒ เครื่องเท่านั้น  หากมีโอกาสทำ ผมคิดจะถ่ายภาพโดยให้หลวงพ่อเทียนเป็นนายแบบ แล้วจะถ่ายภาพให้สวยงามที่สุดด้วย ให้สมกับท่านเป็นปรมาจารย์แห่งการเจริญสติ  จึงรอวันหลวงพ่อเทียนมาที่กรุงเทพฯ

ผมตั้งใจจะถ่ายภาพท่านที่วัดสนามในซึ่งอยู่ใกล้บ้านผม  ขณะนั้นผมยังทำงานที่บริษัทในเวลากลางวัน จึงต้องถ่ายภาพท่านในเวลาหัวค่ำเท่านั้น ช่วงเวลานั้นหลวงพ่อเทียนเดินทางไปมาระหว่างจังหวัดเลยและกรุงเทพฯ เป็นประจำ จะพักอยู่กรุงเทพฯ เพียง ๔ - ๕ วันเท่านั้น  ผมจึงต้องทำงานรีบด่วน ในการนัดถ่ายภาพท่านให้เสร็จก่อนท่านกลับจังหวัดเลย  เมื่อนัดท่านได้แล้วผมก็ขนอุปกรณ์ถ่ายภาพไปที่วัดสนามใน โดยได้รับการช่วยเหลือขนของจากคุณวุฒิชัย  ทวีศักดิ์ศิริผล ประธานกลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม  ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทในการทำให้หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เป็นที่รู้จักโด่งดังแก่นักปฏิบัติธรรม ด้วยการร่วมกันพิมพ์หนังสือธรรมะคำสอนของหลวงพ่อเทียน เป็นหนังสือชุดแรกของท่าน เรื่อง "สว่างที่กลางใจ" เป็นหนังสือพิมพ์ขาย ซึ่งได้รับอนุญาตจากหลวงพ่อเทียนโดยเฉพาะ หนังสือเรื่องนี้พิมพ์ออกได้ ๓ เล่มด้วยกัน ได้รับความนิยมมากทีเดียว ทำให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อเทียนเริ่มขจรไปทั่ว  น่าเสียดายในปัจจุบันไม่มีการอนุญาตให้พิมพ์ซ้ำหนังสือ "สว่างที่กลางใจ" ชุดนี้อีกแล้ว เนื่องจากไม่มีหลักฐานต้นฉบับเทปที่เทศน์ไว้ อันเป็นกฏเหล็กที่ต้องทำในการพิมพ์หนังสือของ
หลวงพ่อเทียนในปัจจุบัน

เมื่ออุปกรณ์ถ่ายภาพตั้งไว้พร้อมบนศาลาหลังแรกของวัดสนามใน ซึ่งเป็นศาลาอเนกประสงค์แบบผนังเปิดโล่ง แต่ด้วยวัดสนามในตั้งอยู่ในสวน ความมืดปกคลุมไปทั่วบริเวณ จึงเปรียบเสมือนอยู่ในห้องสตูดิโอถ่ายภาพมาตรฐานทีเดียว ภาพฉากหลังที่ได้จึงมืดสนิทสวยเด่น  ผมจึงนิมนต์หลวงพ่อเทียนมานั่งเป็นนายแบบถ่ายภาพ  ช่วงแรกๆ ถ่ายภาพท่านแบบห่มจีวรสีเหลืองตามปกติ เมื่อถ่ายไปไม่กี่ภาพ หลวงพ่อเทียนท่านสั่งให้ลูกศิษย์ไปนำชุดดำนิกายเซนมาให้ท่านใส่ถ่ายภาพด้วย ท่านได้เสื้อชุดเหล่านี้มาอย่างไรไม่ทราบ ผมก็ไม่ได้ถามอะไรมาก ก็ถ่ายภาพให้ท่านไปตามปกติ ได้ภาพสวยงามมาก ดูหลวงพ่อเทียนเป็นดั่งปรมาจารย์แห่งการเจริญสติจริงๆ  ต่อจากนั้นก็ถ่ายภาพให้คนอื่นๆ ที่ร่วมอยู่ในกิจกรรมนี้ด้วย เช่น อาจารย์ทวีวัฒน์  ปุณฑริกวิวัฒน์ แห่ง ม.มหิดล ผู้ติดตามให้ความช่วยเหลือหลวงพ่อเทียนโดยตลอด , หลวงพี่สมชาย ผู้รับใช้ใกล้ชิดของหลวงพ่อเทียน ซึ่งเป็นผู้ที่หลวงพ่อพลิกชีวิตให้พ้นจากอบายสิ่งชั่วได้ด้วยการแนะให้บวชพระ , คุณยุ่น สุวรรณา เพื่อนผู้สนใจปฏิบัติธรรม , รวมทั้งตัวผม ทวีเกียรติ โตจำเริญ ด้วย โดยให้คุณยุ่นช่วยถ่ายภาพให้ผม

                              

                              
ในวันต่อมา ผมได้อัดขยายรูปที่ถ่ายไว้แล้วนำไปให้หลวงพ่อเทียนและญาติธรรมชมในวัดสนามในอีก  แต่คราวนี้ไปได้ยินข่าวที่ทำให้พวกเราแทบช๊อค เป็นข่าวว่า "หลวงพ่อเทียนจะลาสิกขาบท (สึกจากพระ) จะอยู่อย่างอนาคาริก แต่งกายด้วยเสื้อชุดเซนสีดำที่ผมได้ถ่ายภาพไว้นั้นแหละ"  ข่าวนี้นานวันก็ยิ่งล่ำลือออกไปถึงลูกศิษย์ลูกหาหลายๆ คนด้วยกัน ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการจะสึกของหลวงพ่อเทียนด้วยกันทั้งนั้น  แต่ในช่วงเวลานั้นหลวงพ่อเทียนมักจะเทศน์ให้ฟังซ้ำๆกันว่า
"การปฏิบัติธรรมเจริญสตินี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะพระสงฆ์เท่านั้น  ทั้งฆราวาส คนไทย คนอังกฤษ คนจีน คนอเมริกัน สามารถปฏิบัติธรรมแบบนี้ให้พ้นทุกข์ได้ทั้งสิ้น ไม่มีจำกัด"  เมื่อผมมีโอกาสสอบถามท่านเรื่องการสึกของท่านว่า "หลวงพ่อจะสึกไปทำไม อยู่ในผ้าเหลืองนี้ดีแล้วครับ พูดสอนใคร ผู้นั้นก็ต้องเชื่อฟัง"
หลวงพ่อเทียนตอบผมอย่างมั่นใจยิ่ง "หลวงพ่อจะพิสูจน์ว่า การปฏิบัติธรรมแบบหลวงพ่อนี้เป็นฆราวาสก็ปฏิบัติธรรมให้พ้นทุกข์ได้จริงๆ  ผมจะสึกออกไปเพื่ออยู่อย่างฆราวาสปฏิบัติธรรมให้ดู ...."

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริงที่อีกหลายคนไม่เคยทราบเลยว่า หลวงพ่อเทียนเคยคิดทำเช่นนี้ ก็เพียงเพื่อพิสูจน์สัจธรรมที่ท่านพบแล้วว่า "ปฏิบัติธรรมเจริญสติแล้วจะพ้นทุกข์ได้จริง ไม่ว่าใคร....."  จึงเป็นที่มาของภาพที่หลวงพ่อเทียนแต่งกายชุดสีดำแบบพระนิกายเซนนั่นเอง  ซึ่งในสมัยนั้นพวกลูกศิษย์กลัวจะเป็นปัญหาในทางฝ่ายปกครองของพระสงฆ์ จึงไม่ได้เผยแพร่ภาพนี้ออกไปกันเท่าใดนัก เกรงผู้คนที่ไม่เข้าใจและกลุ่มที่จ้องโจมตีคำสอนของท่านตำหนิ จนกลายเป็นบาปกรรมติดตัวแต่ละคนไปหมดโอกาสได้เข้าถึงธรรมะปฏิบัติแบบลัดสั้นของหลวงพ่อเทียน  ส่วนรูปชุดเซนที่ถ่ายหลวงพ่อเทียนไว้ ผมได้เผยแพร่ออกไปเพียง ๒ รูปเท่านั้นเอง

ต่อจากนั้นไม่นานนัก หลวงพ่อเทียนจึงได้เลิกล้มความตั้งใจที่จะลาสิกขาบท ซึ่งอาจเป็นเพราะท่านฟังเสียงคัดค้านจากลูกศิษย์หลายฝ่ายไม่ไหวนั่นเอง ส่วนตัวผมนั้น ผมก็ไม่อยากให้หลวงพ่อสึกเช่นกัน แต่ผมเข้าใจความคิดของท่านดีว่า หลวงพ่อต้องการจะแสดงธรรมอย่างแบบเซน ไม่ให้พวกเราปฏิบัติธรรม
อย่างติดยึดในรูปแบบใดทั้งสิ้น

จาก ทวีเกียรติ โตจำเริญ  กองทุนโตสื่อพระธรรม http://toesuepratam.blogspot.com/



การตื่นขึ้นของศรัทธาเนื่องในชาตกาล ๑๐๐ ปีของพันธุ์ อินทะผิว

บทความ อ.โกวิท เอนกชัย (เขมานันทะ) 


    ขอนอบน้อมแด่สาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย

    สำหรับคนขยันมีวิริยะภาพนั้น วันทุกวันเสมอกันในกิจภาวนา มันพิเศษตรงที่ว่าบุคคลใดถือกำเนิดมาแล้วก่อเกิดประโยชน์สุขสันติสุขแก่มวลมนุษย์ ครั้งท่านจากไปโลกได้อะไรสูญเสียอะไร วันเช่นนั้นถือว่าเป็นวันดีเพราะเป็นวันแห่งการเตือนสติและเพิ่มกำลังใจในการเจริญภาวนา

    อีกทั้งผู้ภาวนานั้น ถึงตาจะบอด หูจะหนวก ขาจะเสีย ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะอาภัพ แต่สภาพเช่นนี้หาได้เป็นอุปสรรคของการภาวนาแต่อย่างใด ถึงหูหนวก ตาบอด เป็นใบ้ แต่ย่อมไม่อาจกางกั้นไม่ให้รู้สึกตัวได้ ดังที่พระศาสดาสัมมาสัมพุทธะทรงตรัสว่า “เราสอนธรรมแก่ผู้ที่รู้สึกตัวได้” นับว่าเป็นวาสนาสำหรับชาวเราอดีตสยามประเทศที่เกิดเป็นไทและพบพระพุทธศาสนาในดินแดนที่ร่องรอยแห่งความรู้สึกตัวถูกระบุถึงแม้ในชีวิตประจำวันคือวลี “รู้สึกตัว” (สวสํเวทนา) และมันได้ถูกพิสูจน์ความถูกต้องผ่านวาทะของพันธุ์ อินทะผิว

    ในฐานะศิษย์ร่วมสำนัก ผมจะขอกล่าวธรรมิกถาโดยตั้งเป็นคำถามความในใจต่อศิษยานุศิษย์ กระทั่งผู้ร่วมเป็นสักขีพยานในวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาลของพระพันธุ์ อินทะผิว หรือที่ใคร ๆ รู้จักท่านในนามหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ดังนี้ว่า เราเริ่มภาวนาแบบเล่น ๆ ที่พระพันธุ์ อินทะผิวสอนไว้ เป็นแล้วหรือยัง

    ท่านสอนวิปัสสนาแบบเคลื่อนไหว ยกมือเป็นจังหวะและดูความคิด จับความรู้สึกตัวสด ๆ การเปลี่ยนแปลงอันเป็นเพียงอาการไหวตัวของวัตถุภายในอย่างแนบแน่น การสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่แผ่วเบาอันนี้มีความสำคัญใหญ่หลวง มันคือการเปลี่ยนแปลงโลก ทั้งของปัจเจกและโลกโดยรวม เมื่อการไหวตัวของคลื่นใต้น้ำสมทบกับคลื่นที่ผิวน้ำเป็นเอกภาพ สังสารจักรก็ถูกลบลางเลือน

    เราอยู่ในโลกของความมีความเป็น จึงไม่อาจเข้าใจโลกแห่งความไม่มีไม่เป็น และเพราะเราอยู่ในโลกของวัตถุที่หนาทึบ เราจึงเข้าใจทะลุปรุโปร่งในโลกของความเบาบางไม่ได้ โลกของความมีบังเกิดแล้วก็บดบังโลกของความไม่มีสิ้น

    แทบจะกล่าวได้ว่า ในการปฏิบัติกิจภาวนานั้น เราไม่ต้องทำอะไรเลยเพียงอนุญาตให้กระแสคลื่นความคิดไหลไป เมื่อมันสงบหรือปั่นป่วนด้วยคลื่นอารมณ์ก็ให้เป็นเรื่องของมัน เราไม่มีภาระอะไร ประสบการณ์ของความปั่นป่วนรวนเรนั้นเองจะบอกเล่าสภาพทุกข์ยากของชีวิตอย่างตรงไปตรงมา แล้วเราก็จะเจริญขึ้นในอริยสัจจ์ธรรม ไม่เป็นไปโดยประการอื่น เราจะเห็นมันต่อเมื่อเราได้ฐานเป็นพลังแห่งความสดใหม่ คือความรู้สึกตัวเบาบางแต่ว่าชัดเจนพอให้รู้ได้ของชีวิต

    มีอะไรบางอย่างในจิตใจของมนุษย์เรา ที่เหมือนนกมีปีกไว้บินและร่อนอย่างอิสระ ทว่าปีกคู่นั้นถูกจำกัดขอบเขตจนความสามารถในการบินหมดเรี่ยวแรง ความรู้สึกตัวที่แผ่ไปในอนันต์คือปีกแห่งอิสรภาพไม่รู้สิ้นสุด

    การเคลื่อนไหวทางปัญญานั้นอ่อนไหวว่องไวยิ่ง นับวันมันทำความเข้าใจอะไรได้อย่างรวดเร็วจึงถูกเรียกชื่อว่าเป็นปรีชาญาณหรือญาณของปัญญา โดยปราศจากความคิดกางกั้น

    เราจะถวายกิจภาวนาเป็นเครื่องสักการะด้วยใจจริงไม่ใช่การกระทำตามทางพิธีกรรมเพื่อให้ดูเป็นงานเอิกเกริก เราต้องปลุกใจให้ตื่นตระหนัก ผ่านการโพลงตัวอย่างระมัดระวังที่จะไม่ยึดถือผลเป็นความสงบนิ่งอย่างนักพรตอุทกะและอาฬาระ ผู้เรืองปัญญาทว่าขาดความเฉลียวใจ (ขาดการเอะใจ)

    หัวใจของนักภาวนาต้องไม่ดายนิ่งอยู่กับที่ มันเป็นเช่นนั้นมาหลายเวลาเกินไป ก้าวต่อไปข้างหน้าหรือถอยหลังทำให้เรารู้จักตัวเองได้ดีกว่าสงบนิ่ง อันเราไม่เขยื้อนศรัทธาในภาคภาวนา เราอย่ามัวเดินจงกรมอย่างเลื่อนลอยหรือเอาเป็นเอาตาย แต่เราได้ก้าวข้ามพ้นการเดินและกิริยาทั้งหมดของชีวิตอย่างผ่อนคลาย จุดหมายปลายทางไม่ใช่ถึงได้โดยความอยากของเราหรือของใคร ๆ แต่เราต้องการความรู้แจ้งประจักษ์โดยไม่เกี่ยวข้องกับพระนิพพาน แต่ปรารถนาพระโพธิญาณเพื่อช่วยค้ำจุนโลกตามทางปรารถนาอันแรงกล้าของพันธุ์ อินทะผิว

    แรงดลใจของพระพันธุ์ อินทะผิว ภายหลังแต่บวชแล้วปรากฏต่อศิษย์ทั้งพระและคฤหัสถ์อย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่าเป็นพลังตามปกป้องศรัทธาต่อกิจภาวนาอยู่อย่างเงียบ ๆ เนื่องแต่สภาพรู้สึกตัวเป็นสิ่งเบาบางราวกับซ่อนตัว ครั้นเวลาได้มาถึง จึงเปิดเผยธรรมชาติของความเบาบางนั้นให้ประจักษ์ในทันใด ดั่งนักโบราณคดีหลงค้นพลิกแผ่นดินเพื่อหาแผ่นดินที่คิดว่าหายไป หลายครั้งที่ผมเห็นอาการเสมือนว่าร้อนรนในการเร่งเดินทางไปให้ทันการติดอารมณ์ของศิษย์ ความกระวนกระวายต่อผลได้ของศิษย์ผู้เพียรภาวนาโดยไม่เยื่อใยต่อสุขภาพของตัวเอง รวมทั้งการตามเจือจุนความเป็นอยู่และคำแนะนำเคล็ดการภาวนาเฉพาะราย ดูเหมือนว่างานปลุกดวงจิตผู้คนให้ตื่นของพันธุ์ อินทะผิว จะเป็นเกมส์การละเล่นสำหรับท่านและผู้ดูที่ดูออกดูเป็นแลเห็นอย่างง่ายดาย

    พันธุ์ อินทะผิวได้อุทิศตนตามวิถีทางธรรม คือเป็นกัลยาณมิตรของผู้ใฝ่ธรรมเสมอมา ตราบกระทั่งวันเวลาล่วงเลยอายุสังขาร ๑๐๐ ปีเต็ม ควรที่พวกเราจะเฉลิมฉลองชาตกาลนี้ด้วยปฏิบัติบูชาอันเป็นยอดสุดแห่งการบูชาอันพระพุทธเจ้าสรรเสริญ ผมขอร่วมอนุโมทนาต่อกุศลสำนึกนี้ของท่านทั้งหลายด้วยใจจริง

    ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยดลบันดาลให้สันติธรรมแผ่กำจายทั่วประเทศและทั่วโลก ขอความรู้สึกตัวล้วน ๆ จงปรากฎเป็นพรประเสริฐ ขอลมเย็น ๆ พัดต้องกายผู้ภาวนาและรู้สึกได้ทันใดในการไหวตัวของอินทรีย์ อันเป็นผลของการฝึกปรือการภาวนาแบบเคลื่อนไหว กล่าวคือก่อนที่ความคิดจะฉุดคร่าสติไปตามทางของมัน เราชิงลงมือทันที

    ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่านเทอญ

    โกวิท เอนกชัย (เขมานันทะ)
    ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓


กลับสู่ด้านบนของเว็บนี้

กลับสู่หน้าเว็บหลัก โตสื่อพระธรรม

อ.โกวิท อเนกชัย (ท่านเขมานันทะ) เล่าเรื่องหลวงพ่อเทียน

ฟังอ.โกวิท อเนกชัย เล่าเรื่องหลวงพ่อเทียน

    ช่วงบ่ายอ่อน ๆ ของวันสุดท้ายในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๓  เรา  ๒  คน สมคิด  มหิศยาและสิริรัตน์  เจ้าประเสริฐ ได้รับความกรุณาจากท่านอาจารย์โกวิท เอนกชัย (เขมานันทะ) ให้ไปพบท่านเพื่อกราบขออนุญาตจัดพิมพ์หนังสือที่ท่านเขียนเกี่ยวกับหลวงพ่อเทียน  จิตฺตสุโภจำนวน  ๒  เล่มคือ  “ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ” และ “ดั่งสายน้ำไหล” เพื่อนำมาเผยแพร่เป็นธรรมทานเนื่องในงาน ๑๐๐ ปี ชาตกาล หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ 
    นอกจากท่านอาจารย์โกวิทจะได้อนุญาตด้วยจิตเมตตายิ่งแล้ว ท่านยังกรุณาเล่าเรื่อง หลวงพ่อเทียน  กัลยาณมิตรของท่าน ให้ฟังด้วย เราจึงอยากถ่ายทอดเรื่องเหล่านั้น เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ธรรมกับทุกๆ ท่านด้วยสำนวนที่เสมือนว่า ทุกท่านได้มาฟังจากปากของท่านเขมานันทะเอง 

... หลวงพ่อเทียนคือหลวงพ่อเทียน ...
    ประโยคแรกที่ท่านเขมานันทะถามพวกเราคือ  “ทำไมต้องเอาหลวงพ่อเทียนไปอิงกับเซ็น”  สิ่งที่เซ็นใฝ่ฝันที่จะมี  หลวงพ่อมีให้หมด  อย่าเอาหลวงพ่อมาอยู่ล่างเซ็น “บาป”  เราจะทำให้หลวงพ่อเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้  หลวงพ่อก็คือหลวงพ่อ
    สมัยที่หลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้เดินทางไปสอนการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวให้ญาติธรรมที่ประเทศสิงคโปร์หลายครั้ง  ครั้งหนึ่งมิสเตอร์ยามาดา โรชิ ผู้นำเซ็นและเจ้าของโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่น  ร่วมกับนักบวชนิกายเซ็นของประเทศญี่ปุ่น  ได้มาเยี่ยมศูนย์ซึ่งเป็นสาขา ร่วมกับนักบวชเซ็นในประเทศสิงคโปร์  แต่เมื่อคนกลุ่มนี้ได้มาพบกับหลวงพ่อ  พวกเขาก็หันมาศึกษากับหลวงพ่อแทบจะหมดทั้งกลุ่ม

... หลวงพ่อเทียนสอนคนโดยใช้  “อารมณ์ภาวนา” ...
    ในช่วงท้ายของชีวิต หลวงพ่อเทียนใช้  “อารมณ์ภาวนา” สอนลูกศิษย์ลูกหาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบ การสอนโดยไม่มีอารมณ์ภาวนาเปรียบเสมือนคนเดินทางโดยสารรถไฟ จากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่  ขึ้นรถไฟแล้วก็หลับตลอดทาง ไปถึงชียงใหม่ก็จริง  แต่บอกทางไม่ถูก  ไม่ทราบว่าไปทางไหน  ผ่านที่ใดบ้าง 

... การสอนของหลวงพ่อเทียนเปลี่ยนคนได้จริง ...
    ตอนหนึ่งท่านเขมานันทะเล่าว่า  สมัยที่หลวงพ่อเทียนจำพรรษาอยู่ที่วัดสวนแก้ว  จังหวัดนนทบุรี  มีสามเณรรูปหนึ่งชื่อ  สามเณรสมควร  มีลักษณะ  “โง่ทึบ”  ไม่น่าจะสอนได้  ปรากฏว่า  ตลอดพรรษานั้น  หลวงพ่อเทียนจับสามเณรสมควรขังไว้ในกลด  ให้ซอยเท้าอยู่กับที่  จนพื้นดินซึ่งเป็นดินเหนียวเป็นรอยลึกลงไปเกือบคืบ สิ้นพรรษา สามเณรสมควรสามารถเรียนอารมณ์ปฏิบัติได้ดีเหมือนผู้ใหญ่ หลวงพ่อเทียนสามารถเปลี่ยนสามเณรสมควรจาก “โง่ทึบ” เป็น “สว่างไสว” ได้ในช่วงเวลาเพียงพรรษาเดียว  ปัจจุบันพระสมควรกลายเป็นพระผู้ใหญ่อยู่ทางภาคอีสาน สอนการเจริญสติตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน
    หลวงพ่อเทียนเปรียบเสมือนพระพุทธเจ้าที่สอนพระจุลบัณฐก ท่านถูกพี่ชายซึ่งเป็นพระด้วยกัน ไล่ให้สึก เพราะหาว่า “โง่” เรียนธรรมไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระจุลบัณฐกได้ โดยให้นั่งลูบผ้าขี้ริ้ว (เพื่อทำความรู้สึกตัว) พร้อมกับบริกรรมว่า “ผ้าเช็ดพื้นก็เช็ดพื้น ผ้าเช็ดพื้นก็เช็ดพื้น” ทำอยู่เท่านี้เอง พระจุลบัณฐกเริ่มทำในตอนเช้า ตกเย็นท่านบรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์  นับเป็นความฉลาดของผู้สอนที่มีกลวิธีต่างๆ สามารถเอาชนะความโง่ได้จนเป็นที่ร่ำลือ
    หลายคนมีศรัทธา  แต่ไม่รู้วิธีปฏิบัติ  หากเขาได้เจอครูสอนที่เหมาะสม  เรื่องมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นได้

... งานเชิดชูเกียรติของหลวงพ่อเทียน “จำเป็น” ...
    ท่านเขมานันทะยอมรับว่า  “งานเชิดชูเกียรติของหลวงพ่อเทียนเป็นสิ่งจำเป็น  ผมโชคดีที่ได้พบมนุษย์แท้คนหนึ่งหลังจากโซซัดโซเซไปเรียนหนังสือมา  หลังจากเรียนเทคนิคการปฏิบัติ แบบนั่งสงบ ที่ทำกันมาสาม-สี่พันปีมาแล้ว  ทั้งปวดเมื่อย  ทั้งทรมาณ  กลายมาเป็นลืมตา  เคลื่อนไหวทั้งกาย ใจ  ทำให้ผมสนุกกับการภาวนา  ผมกลัวใจท่าน  หากท่านจะทำอะไร  ท่านต้องทำให้ได้...  ตกดึกวันหนึ่งที่จังหวัดเลย  ฟังมาว่าหลวงพ่อได้ข่าวว่า  คุณยุ่น  ลูกศิษย์ของท่าน  ที่กำลังปฏิบัติอยู่ที่กรุงเทพฯ ติดอารมณ์  หลวงพ่อนั่งรถรวดเดียวจากจังหวัดเลยมากรุงเทพฯ  มาแก้อารมณ์ให้คุณยุ่น”

... ความไม่มีตัวตนของหลวงพ่อเทียน ...
    มีหลายคนเคยเห็นหลวงพ่อเทียนนอนพังพาบกับพื้น  ชุนจีวรให้สามเณร
    บ่อยครั้งที่หลายคนเห็นหลวงพ่อเทียนมายืนดักรอพระที่เพิ่งกลับจากการบิณฑบาตในยามเช้า  เพื่อขอเศษเหรียญจากบาตรพระ  รวบรวมเอาไปจ้างคนในภาคอีสานให้มาปฏิบัติภาวนา  นั่งยกมือสร้างจังหวะ 
    หลวงพ่อเดินไปหาชาวบ้าน  เห็นพวกเขากำลังทำงานอยู่  จึงถามว่า  “ทำอะไร”
    ชาวบ้าน  “กำลังรับจ้างดายหญ้าขอรับ”
    หลวงพ่อ  “ได้ค่าจ้างวันละเท่าไหร่”
    ชาวบ้าน  “๕  บาทขอรับ”
    หลวงพ่อเทียนยื่นเหรียญให้  ๕  บาท  บอกว่า  “หลวงพ่อจ้างให้ไปปฏิบัติธรรม”
    หลวงพ่อท่านทราบดีว่า  ชาวอีสานยากจน  ต้องทำงาน  ความไม่มีตัวตนของหลวงพ่อเทียนชัดเจนมาก  แต่มิใช่ว่านั่งสงบแล้วก็สำเร็จ เป็นอนัตตาได้

... ความสำเร็จของการปฏิบัติ ไม่ขึ้นอยู่กับความเป็น “พระ” หรือเป็น “โยม” ...
    หลังจากที่ท่านเขมานันทะลาสิกขาที่ประเทศออสเตรเลีย กลับมาประเทศไทย หลายคนไม่ยอมรับและแสดงปฏิกิริยาต่อต้านท่าน  แต่หลวงพ่อเทียนไม่ว่าอะไรแม้แต่คำเดียว  ไม่ถามถึงสาเหตุของการสึกทั้ง ๆ ที่บวชมานาน  หลวงพ่อบอกแต่เพียงว่า “ให้ปฏิบัติ บางคนเหมาะขณะเป็นพระ บางคนเหมาะขณะเป็นโยม ไม่มีข้อจำกัดในการปฏิบัติตามแนวทางของหลวงพ่อ การปฏิบัติ ได้ หรือ ไม่ได้ เป็นเรื่องของแต่ละคน  ไม่เกี่ยวกับการเป็น พระ หรือเป็นโยม”  หลวงพ่อเทียนยังคงจัดให้ท่านเขมานันทะบรรยายธรรมให้ญาติโยมฟังทุกวันอาทิตย์
    แล้ววันหนึ่งหลวงพ่อเทียนก็แก้ข้อกังขาให้ญาติโยมรู้ว่า  ความสำเร็จของการปฏิบัติ มิใช่ อยู่ที่ความเป็นพระ  เป็นโยมก็ได้
    ท่านถามผม (หมายถึงท่านอาจารย์โกวิท  เขมานันทะ) ว่า  “มีเสื้อไหม”
    ผมเอาเสื้อคลุมอาบน้ำและหมวกกุ้ยเล้ย (แบบคนจีนใส่) ให้ท่าน  หลวงพ่อสวมเสื้อคลุม  สวมหมวกกุ้ยเล้ย ออกไปนั่งกลางลานวัด คนมาวัดบางคนไม่เข้าใจ  ก็ออกจากวัดไป  ไม่กลับมาอีกเลย
    การกระทำเช่นนั้นของหลวงพ่อก็เพื่อจะสอนว่า  ธรรมะอยู่เหนือสมมุติ  เป็นพระหรือเป็นโยม  หากตั้งใจปฏิบัติก็สำเร็จได้

... การแก้อารมณ์ของศิษย์หลวงพ่อเทียน ...
    บทบาทการสอนของหลวงพ่อมีหลากหลายมากมาย  ลูกศิษย์ของหลวงพ่อก็มีมาก  หลากหลาย  บางคนไม่ชอบพูด  ไม่ชอบแสดงตัว
    คนทั่วๆ ไป “ดื้อ” เพราะไม่รู้ความจริง  หากลงมือปฏิบัติก็จะเงียบเอง  หายดื้อ  ก่อนนั้นผมก็ดื้อ  คือไปตระเวนหาความรู้  ไม่เข้าใจการปฏิบัติ
    หลวงพ่อไม่ใช่ตัวประกอบของลัทธิใดลัทธิหนึ่ง  หลวงพ่อคือหลวงพ่อ  ท่านอยู่เหนือการคาดเดาทุกอย่าง
    ความจริงมี  ๒  อย่างคือ  จริงแท้กับจริงสมมุติ  เราต้องเคารพความจริงทั้ง  ๒  อย่าง
    ครั้งหนึ่งเจ้าคณะจังหวัดเลยมาที่วัดสนามใน นนทบุรี  ผมถือตัว  ไม่ไปฟังท่านเทศน์  หลวงพ่อเทียนเดินมาตามผมถึงกุฏิ  พูดเรียบๆ ว่า  “ผมว่าลงไปฟังเขาพูด มันสวยดี”
    ผมกระด้างกระเดื่องเพราะถือว่ามีความรู้  รู้มากจนจมไม่ลง ลอยไปกับความรู้ต่าง ๆ จนลืมตัว
    การปฏิบัติตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน มิใช่ การโฆษณาสินค้าตัวใหม่  อย่าตื่นตูม  ให้ยืนพื้นหลักภาวนา  ครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร  มีพระ  ๒  กลุ่มขัดแย้งกันเรื่องวิธีการเจริญสติตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน  กลุ่มหนึ่งต้องการให้ยกเลิกการยกมือสร้างจังหวะ  แต่อีกกลุ่มหนึ่งมีความเห็นว่า  ไม่ควรยกเลิก ... โชคดีที่ผลสรุปคือไม่ยกเลิก   

        ... หน้าที่ของเราคือการทำความรู้สึกตัวเท่านั้น ...
    หลวงพ่อเทียนเคยบอกว่า  ผู้ปฏิบัติมาก ... ซาบซึ้งมาก  ปฏิบัติน้อย ... ซาบซึ้งน้อย
    คำว่า “เกิด” “ดับ” มีการตีความกันมาก
    สิ่งที่หลวงพ่อเทียนพูด  ลึกก็มี  ตื้นก็มี เหมือนสระน้ำ เหมาะที่ปลานานาชนิดได้อาศัย
    วันหนึ่ง ผมสอนสามเณรว่า  โลกกลม  หากแล่นเรือออกไปโดยไม่หันหลังกลับ  จะกลับมาที่เดิม 
    หลวงพ่อเทียนบอกว่า กลมได้ไง มันแบนนี่
    สามเณรเริ่มสับสน ผมจึงสอนซ้ำอีกครั้งว่า โลกกลม
    หลวงพ่อจึงพูดเบา ๆว่า โลกจะกลมหรือแบน ไม่เกี่ยวกับความรู้สึกตัว
    เรามักจะออกนอกลู่นอกทาง  มักจะพยายามจ้อง จับ ดูความคิด  ซึ่งเป็นสิ่งที่เสียหายมาก  เพราะหน้าที่ของเราคือการทำความรู้สึกตัวเท่านั้น การปฏิบัติที่ผิด พูดผิด สอนผิด จะก่อให้เกิดความผิดพลาดสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ
    หน้าตาของหลวงพ่อเป็นคนเมืองเลย พูดเสียงเหน่อ แต่กิจภาวนาของหลวงพ่อเป็นเลิศ
    คนทั่วไปมักยึดรูปแบบ แสวงหาของวิเศษ มิได้แสวงหาพระ หลวงพ่อมีความวิเศษ แต่มีความเป็นปุถุชนเป็นเปลือกหุ้ม ยามใดที่ได้คุยเล่น ๆ กับหลวงพ่อ จะปรากฏประกายเพชรแปลบออกมา สอนโดยไม่ต้องสอนอะไร หลวงพ่อเป็นของจริง  อยู่เหนือการเปรียบเทียบกับสิ่งใดๆ

... หลวงพ่อมิใช่บุคคลที่พึงบูชาเท่านั้น  แต่ท่านเป็นกัลยาณมิตรของนักภาวนา ...
    นักฟุตบอลขณะเล่นฟุตบอล เมื่อลูกฟุตบอลผ่านหน้าเขาจะชู้ตทันที ทำนองเดียวกัน  การนั่งฟังหลวงพ่อคุย ทำให้เกิดความคิดแปลบปลาบ 
    ครั้งหนึ่งผมนั่งสมาธิอย่างยึดติดในสมถะ หลวงพ่อเทียนมาจี้ที่สีข้างถามว่า “ทำอะไร”
    ผม “ทำสมาธิ”
    หลวงพ่อ “ทำทำไม”
    ผม “เมื่อจิตสงบ ปัญญาก็เกิด”
    หลวงพ่อจับมือผมมาบีบ กล่าวว่า “การปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าต้องทำอย่างนี้”
    ผมไม่เข้าใจเพราะขณะนั้นยังไม่มีพื้นฐาน  ผมเข้าใจว่าการปฏิบัติคือการทำสมาธิ  ทำการปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ผมยังไม่รู้เรื่องการทำความรู้สึกตัว
    ครั้งหนึ่งที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ปากเกร็ด  จังหวัดนนทบุรี  หลังจากที่ผมจบการบรรยายแก่พระนวกะ หลวงพ่อมาดักถามผมว่า “ความรู้เหล่านี้เอามาจากไหน” ผมสะดุดเพราะคำถามนี้เขาไม่ถามกัน
    ตก ๔ ทุ่มคืนนั้น  ขณะที่นักศึกษาที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดชลประทานฯ แยกย้ายกลับที่พักกันหมด  ไม่มีใครรบกวน  หลวงพ่อมาเคาะประตูห้องผม  ถามว่า  “มีด้ายไหม”
    ผมดึงเส้นด้าย ขึงออก ถามท่านว่า  “จะเอาเท่าไร”
    หลวงพ่อถามหามีดโกน  แล้วเอามาตัดด้ายแล้วมองหน้าผม บอกว่า “ถ้าอาจารย์ยังมาไม่ถึงจุดนี้แล้ว ยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้า”
    หลังจากนั้น เวลาสี่ทุ่มของทุกคืน  ท่านมาหาผมที่ห้อง  เปิดย่ามเพื่อหาของมาเป็นอุปกรณ์ในการคุยเรื่องต่างๆ ให้ผมฟัง  ผมฟังไม่ค่อยจะเข้าใจนักเพราะท่านพูดภาษาอีสานแบบเหน่อๆ  แต่หลังจากนั้น ผมก็เริ่มชอบหลวงพ่อขึ้นมาเรื่อย ๆ
    ปีนั้นผมจะเดินทางไปประเทศอินเดีย  หลวงพ่อขอไปด้วย  ผมบอกว่า “หลวงพ่อไปไม่ได้ หลวงพ่อไม่มีพาสปอร์ต”    แต่หลวงพ่อก็ยืนยันจะไปด้วยให้ได้ ผมคิดว่าหลวงพ่อเหมือนเด็กอยากไปเที่ยว สิบปีให้หลัง ผมจึงรู้และเข้าใจว่าท่านตั้งใจจะไปช่วยผม เพราะขณะนั้นจิตใจผมเลื่อนลอยมาก อยู่ในความคิดตลอดเวลา หลวงพ่อคอยดึงให้ผมกลับมาดูสภาพจริงแท้ โดยผมไม่รู้ตัวด้วยการถามอยู่เรื่อย ๆ  เช่นว่า  “นั่นเสาอะไร” “โน่นหญ้าอะไร” ทั้งหมดก็เพื่อให้จิตออกจากความคิด

... ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน ...
    ผลงานของหลวงพ่อเทียน  สื่อให้เห็นถึงความสัตย์ซื่อของท่านที่มีต่อพระรัตนตรัย  ไม่บิดเบือนความจริง
    ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหลวงพ่อเทียนคือหลักประกันของความสงบสุขที่แท้จริงของชีวิต  ชนิดที่เรียกได้ว่า  ๒๐ ต่อ ๑  ลูกศิษย์ของหลวงพ่อเทียนที่ปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง ต่อเนื่อง จนเข้าใจอารมณ์ภาวนาแล้ว  จิตจะมีสติตั้งมั่นอยู่ยาวนาน  บางคนลาออกจากงาน  บางคนลาออกจากการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เพราะเห็นความเหลวไหลของทางโลก  แต่หากศิษย์คนใดศรัทธาไม่ตั้งมั่น  จิตใจก็จะเปลี่ยนไป  ตามโลกที่เปลี่ยนแปลงทุกขณะ

... การแก้อารมณ์ ...
    มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อ  “ปรกติ”  มีคุณภาพสูงมาก  เอื้ออำนวยต่อผู้ภาวนาเป็นอย่างดี  หนังสือเล่มนี้พูดถึงอารมณ์ภาวนา  การแก้อารมณ์  และวิธีการปฏิบัติเพื่อการรู้สึกตัว
    เราควรเรียนรู้ทฤษฎีพอประมาณ การแก้อารมณ์หมายถึงหากผิดเพี้ยนมาจะแก้อย่างไร  เวลาติดอารมณ์จะพูดไม่รู้เรื่อง  บางคนออกอาการเดินเร็ว พูดเร็ว ร้องไห้ คนติดอารมณ์มักจะไม่รู้ตัว ไม่ยอมรับ เหมือนคนเมาที่ไม่รู้สึกตัวและไม่ยอมรับว่าตนเมา
    การติดอารมณ์ถือเป็นสภาวะผิดปกติ เหมือนรถที่ขับแฉลบออกไปนอกเส้นทาง คนที่ติดอารมณ์ง่ายคือคนที่ชอบหวัง ปฏิบัติธรรมเพื่อหวังผล เป็นต้นว่าอยากเหาะได้ บางคนปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ ก็มีความรู้สึกอยากสอน เจอคนที่นาน ๆ พบกันทีแทนที่จะถามทุกข์สุขเขา พูดคุยกันดี ๆ  ก็ไปสอน ไปว่าเขา บางคนแรง ธาตุไฟกล้า ก็จะติดอารมณ์แรง
    คนที่จะแก้อารมณ์ได้ ต้องเป็นบุคคลที่ผู้ติดอารมณ์ให้ความเชื่อถือ สนิทและรู้ใจกัน
    วิธีแก้อารมณ์ ทำโดยการลูบหน้า ลูบมือ ให้เดินถอยหลังบ้าง กางมือบ้าง หรือเก็บใบไม้ ซักผ้า
    ครั้งหนึ่งหลวงพ่อเทียนเล่าว่าพระรูปหนึ่งปฏิบัติดีมาก แต่แก้อารมณ์ตนเองไม่เป็น พอถึงจุด ๆ หนึ่ง  เกิดอาการติดอารมณ์โดยไม่รู้สึกตัว เที่ยวเดินไปด่าชาวบ้าน เอาชะแลงไล่ทุบรถที่วิ่งเข้ามาในวัด ใครก็แก้อารมณ์ให้ไม่ได้ จนหลวงพ่อเทียนมาถึง ทันทีที่เห็นหน้าหลวงพ่อ พระรูปนั้นก็ทุเลาจากการติดอารมณ์

... การปฏิบัติธรรมกับการป่วยไข้ “ไปด้วยกันได้” ...
    ขณะนี้ท่านอาจารย์โกวิท เขมานันทะ ยังคงปฏิบัติอยู่เรื่อย ๆ ต่อเนื่อง ตลอดเวลา โดยไม่คาดหวังอะไร  ท่านอาจารย์บอกว่า
    “การปฏิบัติกับสุขภาพไปด้วยกันได้ ความเจ็บไข้ได้ป่วยคือความรู้สึกตัวที่ผิดปกติ ไม่มีอุปสรรคใดที่ทำให้ปฏิบัติไม่ได้ ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดา”

... หากใครเห็นหลวงพ่อเทียนปฏิบัติ  นั่นคือท่านกำลังสอนคน ...
    สมัยพุทธกาล  ภิกษุรูปหนึ่งเห็นพระพุทธเจ้ากำลังเดินจงกรม  จึงกราบทูลถามว่า  “ท่านกำลังปฏิบัติธรรมหรือ”
    พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า  การเดินจงกรมของท่านคือการบริหารน่อง
    สมัยหลวงพ่อเทียนยังมีชีวิตอยู่  หากใครเห็นท่านปฏิบัติธรรม  นั่นหมายถึงท่านกำลังสอนคน
    ชาวพุทธไทยฉลาด รู้จักประยุกต์การเดินเล่นมาเป็นการเจริญสติภาวนา เราเคย “ตื่น” ฝรั่ง แต่ตอนนี้ฝรั่ง “ตื่น” คนไทย
    ผมอยากให้ทุกคนตั้งใจปฏิบัติกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ อย่าทำเล่น ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทำอะไรเอาหัวใจทำ ให้สุดหัวใจ เอาจริง ทำจริง
    ผลเกิดจากเหตุคือความจริงใจ ให้บูชาการภาวนา
    อย่าบูชาหลวงพ่อเทียน  แต่ให้ปฏิบัติตามคำสอนของท่าน “นี่คือสิ่งที่หลวงพ่อเทียนต้องการ  นี่คือการบูชาหลวงพ่อเทียน”

... หลวงพ่อเทียนมีปรีชาญาณ ...
    ชาติกำเนิดเลือกไม่ได้ แต่หลวงพ่อเทียนมีปรีชาญาณ ท่านเป็นคนธรรมดา ถ้อยคำธรรมดา แต่แทงทะลุใจคน  ท่านเอาแก่นมอบให้คนที่เข้าร่วมปฏิบัติด้วยใจจริง ๆ ถือเป็นนิมิตที่ดีที่มีคนเข้าร่วมเรื่อย ๆ
    หลวงพ่อบอกว่า แทบทุกจังหวัดมีคนปฏิบัติตามแนวทางของท่าน ปฏิบัติแบบเงียบ ๆ ชนิดที่  “ทุ่มชีวิต” ให้ทั้งชาติไปเลย ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกกิจกรรมของชีวิตคือการภาวนา แต่ไม่เคร่งเครียด ไม่คาดหวัง และไม่เป็นทุกข์
    การปฏิบัติภาวนานี้ ไม่มีใครช่วยปฏิบัติแทนใครได้ นอกจากต้องปฏิบัติเอง ต้องช่วยตัวเองก่อน
    ที่สิงคโปร์ เวลาหลวงพ่อเทียนสอนปฏิบัติจะคึกคักมาก ชาวสิงคโปร์เดินมากมายเหมือนสายน้ำ 
    สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าตรัสกับนักบวชว่า ทุกลมหายใจคือการภาวนา ทั้งยืน เดิน นอน นั่ง ล้วนแล้วแต่ภาวนาทั้งสิ้น ที่เมืองสาวัตถี คนปฏิบัติเจริญสติกันทั้งเมือง อิทธิพลคำสอนของพระพุทธเจ้าครอบคลุมทั่วทั้งชมพูทวีป เป็นคำสอนที่ลัด ตรง ทุกคนทุกวัยได้รับประโยชน์ จนพราหมณ์คนหนึ่งถึงกับอุทานว่า  “เจอช้าง เจอเสือ เอาตัวรอดได้ แต่พอมาเจอพระสมณโคดม ไม่มีรอดสักราย”   
    คนรุ่นหลังๆ ให้ข่าวสารเรื่องชีวิต  แต่ชีวิตมิได้มีเท่าที่ตาเห็น  เราได้ตอบสนองต่อพระศาสดา  ต่อศรัทธาของพระองค์ท่านหรือไม่  ดูพระพุทธเจ้า  ดูวิถีทางของพระองค์  จากเจ้าชายผู้มั่งคั่ง  มาเป็นขอทาน  เพื่อแลกกับสติปัญญาระดับสูง

... ของดีเป็นของไทย  หลวงพ่อเทียนนำมาเปิดเผย ...
    ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของสติปัญญาระดับสูง  เป็นของดีของคนไทย  ฝรั่งตามหากันมาก  แต่คนไทยไม่เข้าใจ หลงลืมไป หลวงพ่อเทียนนำมาเปิดเผย ท่านทำเรื่องเล่าลือให้เป็นจริง คนทุกคนที่ปฏิบัติตามแนวทางของหลวงพ่ออย่างจริงจังแล้ว เขาจะเป็นสื่อที่ดี หลวงพ่อฝากลายไว้ให้โลกลือ เล่าลูกเล่าหลานในวันหน้า ท่านสอนโดยวิถีทางเฉพาะราย ท่านทำในสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาทำไม่ได้ “ให้โลกดู”  เหมือนเมื่อครั้งสมัยก่อนหน้านี้ที่มีพระอรหันต์นั่งตายให้โลกดู
    การนำการปฏิบัติภาวนามาประยุกต์เข้ากับการเต้น การรำ เพื่อดึงดูดให้คนสนใจเข้ามาร่วมปฏิบัติธรรมมาก ๆ นั้น เป็นการกระทำที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง เป็นการต่อรอง อาจทำให้การเจริญในธรรมเป็นไปอย่างเชื่องช้า จริงอยู่การกระทำดังกล่าวอาจทำให้คนเข้าร่วมได้มาก แต่เราไม่ได้วัดกันที่ตรงนั้น หากได้คนเข้าร่วม  ๑๐,๐๐๐  คน แต่ไม่ได้กรรมฐานก็เหมือนคนป่า หากธรรมะสร้างคนแล้ว คนจะเป็นสื่อเอง
    หลวงพ่อเป็นคนธรรมดา พูดเหน่อ มิใช่ผู้วิเศษ แต่ท่านเข้าถึงจริง ๆ  ท่านบอกว่า หากพระพุทธเจ้าเสด็จมาสนามหลวง ท่านจะไม่ไปเยี่ยม ฟังเหมือนอวดดี แต่จริง ๆ แล้วท่านให้กำลังใจ เพราะการภาวนายาก คนมักเกียจคร้านและเบื่อหน่าย หรือที่ง่ายเกินไป นี่ก็เป็นปัญหาได้เท่ากัน
    หลวงพ่อไม่กระหายจะมีสาวก หากเขาไม่พร้อมจะเอาหัวใจให้ เราก็ต้องรอก่อน นักฟุตบอล หากไม่มีลูกฟุตบอลผ่านหน้า ชู้ตไปก็เหนื่อยเปล่า เราต้องการความแน่วแน่ มิใช่ตึงเครียด เอาเป็นเอาตาย อาจเป็นบ้าได้

... การตั้งสติคือการภาวนา ...
    คนเรามักกังวลเรื่องสุขภาพจนลืมปฏิบัติธรรม แล้วหลงเรียกว่าภาวนา จริง ๆ แล้วไม่ใช่ การตั้งสติคือการภาวนา ปฏิบัติแบบธรรมดา ๆ ไม่หวังอะไร ผลย่อมเกิดแต่เหตุ ทุกครั้งที่ปรารภความเพียร คือทุกครั้งที่ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
    เรื่องสุขภาพ อาหารการกิน ธุรกิจ ถือเป็นเรื่องเล็ก ๆ อย่าไปทุ่มเทมาก เรื่องใหญ่กว่านั้น “มี” ให้นั่งยกมือสร้างจังหวะ เจริญสติ จับความรู้สึกตัว แล้วชีวิตจิตใจจะงอกงามไปเรื่อย ๆ โดยที่เราคาดไม่ถึง เราจะพบว่าเรื่องใหญ่ได้เกิดขึ้นแล้ว มันเปลี่ยนได้จริง ๆ เคยกลัวความยากจน กลัวผี กลับกลายเป็นไม่กลัว ไม่กังวลกับเรื่องใด ๆ จิตใจที่เดิมเต็มไปด้วยความทุกข์ จะกลับทุเลา เบาบางลง น้อยใจคนไม่เป็น บางเรื่องที่คิดว่าเราไม่น่าจะทำได้ แต่เราทำได้ เรื่องนี้เราน่าจะทุกข์ แต่เราไม่ทุกข์ เรื่องเช่นนี้เราน่าจะโกรธ แต่เรากลับเฉยมิใช่เก่งกล้าที่ละกิเกสได้ กิเลสยังมีอยู่ แต่เราไม่อุ้มฉวยมันมา มันก็ไม่หนัก
    มิใช่กิเลสหมด  มันยังมี  แต่เราไม่ยึดถือ  มันก็ไม่หนัก  ขอให้วันคืนเป็นวันคืนแห่งการภาวนา  อย่าให้ผลประโยชน์เล็กน้อยช่วงชิงผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของชีวิต
    เมื่อไรที่จับความรู้สึกตัวได้  เมื่อนั้นหลวงพ่อเทียนอยู่ตรงนั้น  พระพุทธเจ้าอยู่ตรงนั้น  คือ อยู่กับปัจจุบัน  แต่อย่าเกาะกับปัจจุบัน
    อยู่กับปัจจุบัน  แต่อย่ายึดถือปัจจุบัน
    ดูใจอย่างเดียวคือการปฏิบัติ
    การภาวนาเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรม  เปลี่ยนมารู้สึกตัว  พอรู้ตัวว่าขาดสติ  นั่นคือสติ
    การภาวนาอย่างต่อเนื่องจะทำให้รู้สึกตัวถี่ขึ้น  ความไม่รู้สึกตัวจะถดถอย  ความไม่รู้สึกตัวมีรากเหง้าคืออวิชชา  เหมือนการเล่นเก้าอี้ดนตรี  หากคนหนึ่งนั่งแล้ว  อีกคนก็นั่งไม่ได้
    การไม่รู้สึกตัว การรู้สึกตัวอย่างไม่ต่อเนื่อง การดิ้นรนที่จะรู้สึกตัว ถือเป็นความทุกข์ทั้งสามอย่าง    อุปสรรคของการปฏิบัติคือ ปฏิบัติไม่ต่อเนื่อง ปฏิบัติแบบเล็งผลเลิศ
    การปฏิบัติเพื่อความรู้สึกตัวตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน เป็นเรื่องง่าย ๆ แต่ยากสำหรับคนเหยาะแหยะ แล้วจะมากินแหนงตัวเองภายหลังว่า หากรู้อย่างนี้ปฏิบัติจริง ๆ จัง ๆ ตั้งแต่ต้นก็ดี
    ท่านอาจารย์โกวิท เขมานันทะเล่าเรื่องหลวงพ่อเทียนให้พวกเราฟังมาถึงตรงนี้แล้วท่านก็รู้สึกเหนื่อยมาก  สำหรับวันนี้จึงขอหยุดพักไว้เพียงเท่านี้ก่อน
    เราทั้งสองเห็นว่า  ตลอดเวลา  ๒ ชั่วโมงที่ท่านอาจารย์กรุณาเล่าเรื่องธรรมะของหลวงพ่อเทียนให้พวกเราฟังนั้นมีประโยชน์มาก จึงขออนุญาตท่านอาจารย์นำไปเผยแพร่ ท่านก็อนุญาตและกรุณาตรวจต้นฉบับให้ด้วย พวกเรา คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน ๔ ภาค ๑๐๐ ปี ชาตกาลหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ  ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์โกวิท เขมานันทะเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้

เรา  ๒  คน สมคิด  มหิศยาและสิริรัตน์  เจ้าประเสริฐ  ผู้เล่าเหตุการณ์


- - - - - - - - - - - - - - - - -
กลับสู่ด้านบนเว็บนี้

ไปสู่เว็บหลัก