หลวงพ่อเทียนเคยคิดจะสึกจากความเป็นพระภิกษุ

"หลวงพ่อเทียนเคยคิดจะลาสิกขา สึกจากความเป็นพระ" (เหตุที่หลวงพ่อเทียนแต่งชุดดำนิกายเซน) 

ย้อนอดีตโดย ทวีเกียรติ โตจำเริญ (โต) กองทุนโตสื่อพระธรรม http://toesuepratam.blogspot.com/



ในสมัยปัจจุบันนี้ เครื่องแต่งกายนิกายเซนชุดสีดำดูจะไม่ค่อยแปลกตาแก่ชาวไทยเท่าไดนัก เพราะความนิยมในตัวพระนิกายเซนอย่างท่านติช นัชฮันในหมู่บ้านพลัม ฝรั่งเศส ออกจะเป็นกระแสที่ฮิตแรงมากอยู่  ใครๆ ก็นิยมอยากได้ไปฟังคำสอนและได้ปฏิบัติธรรมแนวทางของท่าน ซึ่งกล่าวถึงการสร้างสันติภาพด้วยการฝึกสติของแต่ละคน

แต่ถ้าเป็นในสมัยที่หลวงพ่อเทียนยังมีชีวิตอยู่ การแต่งสีดำดูจะเป็นเรื่องแปลกมากเลย  เนื่องจากในสมัยก่อนๆ คนไทยจะไม่สนใจกับพระในนิกายอื่นๆ เลย คิดว่าแบบเถรวาท ห่มจีวรสีเหลืองดูน่าเลื่อมใสที่สุด  พระที่แต่งกายสีอื่นๆ มาเทศน์สอน พวกเราจะไม่ศรัทธาเลื่อมใสกันนัก บางทีไม่เปิดใจฟังกันเลยก็ว่าได้ ยิ่งเป็นฆราวาสมาสอนธรรมะด้วย อาจไม่ศรัทธาตั้งใจฟังเท่ากับการฟังพระสอน  หลวงพ่อเทียนมีความคิดลึกซึ้งต่างไปจากพวกเราปุถุชนคนธรรมดา หรือเป็นปรีชาญาณของคนไม่รู้หนังสือ (มีบางท่านได้กล่าวไว้)  ในขณะที่การเผยแผ่ธรรมปฏิบัติแบบเจริญสติของท่านกำลังไปได้ดี มีคนศรัทธาการปฏิบัติธรรมอย่างหลวงพ่อมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  แต่มีเหตุการณ์วันหนึ่ง ท่านได้ประกาศตัวว่า "หลวงพ่อจะลา
สิกขาบท (สึกจากพระ) ออกมาเป็นฆราวาสสอนธรรมะ"  ญาติธรรมหลายๆคนที่ได้ฟังหลวงพ่อเทียนกล่าวดังนั้น หัวใจแทบช๊อค เหตุใดเล่าท่านจึงกล่าวเช่นนั้น  ...เรื่องมันมีอยู่ว่า...

ในราวปี พ.ศ.๒๕๒๖  การปฏิบัติธรรมเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียนกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น จนหลวงพ่อได้มีโอกาสไปเผยแพร่ธรรมที่ประเทศสิงคโปร์หลายครั้งด้วยกัน  มีโอกาสไปเทศน์ในวัดของพุทธศาสนานิกายเซน โดยมีลูกศิษย์ที่ติดตามไปแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ท่าน  หลวงพ่อเทียนยังได้พบกับ
พระอาจารย์ใหญ่ของเซนผู้หนึ่ง คือท่านยามาด้า โรชิ ยังมีโอกาสถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึกอีกด้วย 

คำสอนของหลวงพ่อเทียนประทับใจชาวสิงคโปร์มาก โดยขณะที่ท่านเทศน์ในวัดเซน หลวงพ่อแต่งกายชุดพระเซนสีดำห่มทับจีวร เพื่อเพิ่มความศรัทธาแก่ผู้ฟัง ผู้เขียนยังได้เคยเห็นรูปของผู้ที่ติดตามไปด้วย
ถ่ายภาพท่านไว้  ในภาพหลวงพ่อเทียนแต่งชุดนิกายเซนสีดำ สองมือถือโซ่เส้นหนึ่งไว้ในขณะที่กำลังเทศน์ ผู้ที่ไปด้วยกล่าว หลวงพ่อเทียนเทศน์ว่า "การปฏิบัติธรรมเจริญสติแบบหลวงพ่อนี้ ต้องปฏิบัติให้มีความรู้สึกตัวต่อเนื่องดังโซ่เส้นที่ท่านถืออยู่ในมือนี้ จะมีอานิสงส์ดับทุกข์ได้ภายใน ๓ เดือน หรือ  ๑ ปี อย่างนาน ๓ ปี จะพ้นทุกข์ในจิตใจได้อย่างแน่นอน ..."  แม้แต่การสอนในเมืองไทยในช่วงเวลานั้น ผมยังเคยได้ยินท่านเทศน์สอนอย่างนี้ด้วยเสมอๆ เช่นกัน

ในเวลานั้นผมกำลังศึกษาวิชาการถ่ายภาพอย่างมืออาชีพ แบบจัดไฟสตูดิโอ แต่ใช้อุปกรณ์ไฟแฟลชเล็กเพียง ๒ เครื่องเท่านั้น  หากมีโอกาสทำ ผมคิดจะถ่ายภาพโดยให้หลวงพ่อเทียนเป็นนายแบบ แล้วจะถ่ายภาพให้สวยงามที่สุดด้วย ให้สมกับท่านเป็นปรมาจารย์แห่งการเจริญสติ  จึงรอวันหลวงพ่อเทียนมาที่กรุงเทพฯ

ผมตั้งใจจะถ่ายภาพท่านที่วัดสนามในซึ่งอยู่ใกล้บ้านผม  ขณะนั้นผมยังทำงานที่บริษัทในเวลากลางวัน จึงต้องถ่ายภาพท่านในเวลาหัวค่ำเท่านั้น ช่วงเวลานั้นหลวงพ่อเทียนเดินทางไปมาระหว่างจังหวัดเลยและกรุงเทพฯ เป็นประจำ จะพักอยู่กรุงเทพฯ เพียง ๔ - ๕ วันเท่านั้น  ผมจึงต้องทำงานรีบด่วน ในการนัดถ่ายภาพท่านให้เสร็จก่อนท่านกลับจังหวัดเลย  เมื่อนัดท่านได้แล้วผมก็ขนอุปกรณ์ถ่ายภาพไปที่วัดสนามใน โดยได้รับการช่วยเหลือขนของจากคุณวุฒิชัย  ทวีศักดิ์ศิริผล ประธานกลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม  ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทในการทำให้หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เป็นที่รู้จักโด่งดังแก่นักปฏิบัติธรรม ด้วยการร่วมกันพิมพ์หนังสือธรรมะคำสอนของหลวงพ่อเทียน เป็นหนังสือชุดแรกของท่าน เรื่อง "สว่างที่กลางใจ" เป็นหนังสือพิมพ์ขาย ซึ่งได้รับอนุญาตจากหลวงพ่อเทียนโดยเฉพาะ หนังสือเรื่องนี้พิมพ์ออกได้ ๓ เล่มด้วยกัน ได้รับความนิยมมากทีเดียว ทำให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อเทียนเริ่มขจรไปทั่ว  น่าเสียดายในปัจจุบันไม่มีการอนุญาตให้พิมพ์ซ้ำหนังสือ "สว่างที่กลางใจ" ชุดนี้อีกแล้ว เนื่องจากไม่มีหลักฐานต้นฉบับเทปที่เทศน์ไว้ อันเป็นกฏเหล็กที่ต้องทำในการพิมพ์หนังสือของ
หลวงพ่อเทียนในปัจจุบัน

เมื่ออุปกรณ์ถ่ายภาพตั้งไว้พร้อมบนศาลาหลังแรกของวัดสนามใน ซึ่งเป็นศาลาอเนกประสงค์แบบผนังเปิดโล่ง แต่ด้วยวัดสนามในตั้งอยู่ในสวน ความมืดปกคลุมไปทั่วบริเวณ จึงเปรียบเสมือนอยู่ในห้องสตูดิโอถ่ายภาพมาตรฐานทีเดียว ภาพฉากหลังที่ได้จึงมืดสนิทสวยเด่น  ผมจึงนิมนต์หลวงพ่อเทียนมานั่งเป็นนายแบบถ่ายภาพ  ช่วงแรกๆ ถ่ายภาพท่านแบบห่มจีวรสีเหลืองตามปกติ เมื่อถ่ายไปไม่กี่ภาพ หลวงพ่อเทียนท่านสั่งให้ลูกศิษย์ไปนำชุดดำนิกายเซนมาให้ท่านใส่ถ่ายภาพด้วย ท่านได้เสื้อชุดเหล่านี้มาอย่างไรไม่ทราบ ผมก็ไม่ได้ถามอะไรมาก ก็ถ่ายภาพให้ท่านไปตามปกติ ได้ภาพสวยงามมาก ดูหลวงพ่อเทียนเป็นดั่งปรมาจารย์แห่งการเจริญสติจริงๆ  ต่อจากนั้นก็ถ่ายภาพให้คนอื่นๆ ที่ร่วมอยู่ในกิจกรรมนี้ด้วย เช่น อาจารย์ทวีวัฒน์  ปุณฑริกวิวัฒน์ แห่ง ม.มหิดล ผู้ติดตามให้ความช่วยเหลือหลวงพ่อเทียนโดยตลอด , หลวงพี่สมชาย ผู้รับใช้ใกล้ชิดของหลวงพ่อเทียน ซึ่งเป็นผู้ที่หลวงพ่อพลิกชีวิตให้พ้นจากอบายสิ่งชั่วได้ด้วยการแนะให้บวชพระ , คุณยุ่น สุวรรณา เพื่อนผู้สนใจปฏิบัติธรรม , รวมทั้งตัวผม ทวีเกียรติ โตจำเริญ ด้วย โดยให้คุณยุ่นช่วยถ่ายภาพให้ผม

                              

                              
ในวันต่อมา ผมได้อัดขยายรูปที่ถ่ายไว้แล้วนำไปให้หลวงพ่อเทียนและญาติธรรมชมในวัดสนามในอีก  แต่คราวนี้ไปได้ยินข่าวที่ทำให้พวกเราแทบช๊อค เป็นข่าวว่า "หลวงพ่อเทียนจะลาสิกขาบท (สึกจากพระ) จะอยู่อย่างอนาคาริก แต่งกายด้วยเสื้อชุดเซนสีดำที่ผมได้ถ่ายภาพไว้นั้นแหละ"  ข่าวนี้นานวันก็ยิ่งล่ำลือออกไปถึงลูกศิษย์ลูกหาหลายๆ คนด้วยกัน ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการจะสึกของหลวงพ่อเทียนด้วยกันทั้งนั้น  แต่ในช่วงเวลานั้นหลวงพ่อเทียนมักจะเทศน์ให้ฟังซ้ำๆกันว่า
"การปฏิบัติธรรมเจริญสตินี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะพระสงฆ์เท่านั้น  ทั้งฆราวาส คนไทย คนอังกฤษ คนจีน คนอเมริกัน สามารถปฏิบัติธรรมแบบนี้ให้พ้นทุกข์ได้ทั้งสิ้น ไม่มีจำกัด"  เมื่อผมมีโอกาสสอบถามท่านเรื่องการสึกของท่านว่า "หลวงพ่อจะสึกไปทำไม อยู่ในผ้าเหลืองนี้ดีแล้วครับ พูดสอนใคร ผู้นั้นก็ต้องเชื่อฟัง"
หลวงพ่อเทียนตอบผมอย่างมั่นใจยิ่ง "หลวงพ่อจะพิสูจน์ว่า การปฏิบัติธรรมแบบหลวงพ่อนี้เป็นฆราวาสก็ปฏิบัติธรรมให้พ้นทุกข์ได้จริงๆ  ผมจะสึกออกไปเพื่ออยู่อย่างฆราวาสปฏิบัติธรรมให้ดู ...."

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริงที่อีกหลายคนไม่เคยทราบเลยว่า หลวงพ่อเทียนเคยคิดทำเช่นนี้ ก็เพียงเพื่อพิสูจน์สัจธรรมที่ท่านพบแล้วว่า "ปฏิบัติธรรมเจริญสติแล้วจะพ้นทุกข์ได้จริง ไม่ว่าใคร....."  จึงเป็นที่มาของภาพที่หลวงพ่อเทียนแต่งกายชุดสีดำแบบพระนิกายเซนนั่นเอง  ซึ่งในสมัยนั้นพวกลูกศิษย์กลัวจะเป็นปัญหาในทางฝ่ายปกครองของพระสงฆ์ จึงไม่ได้เผยแพร่ภาพนี้ออกไปกันเท่าใดนัก เกรงผู้คนที่ไม่เข้าใจและกลุ่มที่จ้องโจมตีคำสอนของท่านตำหนิ จนกลายเป็นบาปกรรมติดตัวแต่ละคนไปหมดโอกาสได้เข้าถึงธรรมะปฏิบัติแบบลัดสั้นของหลวงพ่อเทียน  ส่วนรูปชุดเซนที่ถ่ายหลวงพ่อเทียนไว้ ผมได้เผยแพร่ออกไปเพียง ๒ รูปเท่านั้นเอง

ต่อจากนั้นไม่นานนัก หลวงพ่อเทียนจึงได้เลิกล้มความตั้งใจที่จะลาสิกขาบท ซึ่งอาจเป็นเพราะท่านฟังเสียงคัดค้านจากลูกศิษย์หลายฝ่ายไม่ไหวนั่นเอง ส่วนตัวผมนั้น ผมก็ไม่อยากให้หลวงพ่อสึกเช่นกัน แต่ผมเข้าใจความคิดของท่านดีว่า หลวงพ่อต้องการจะแสดงธรรมอย่างแบบเซน ไม่ให้พวกเราปฏิบัติธรรม
อย่างติดยึดในรูปแบบใดทั้งสิ้น

จาก ทวีเกียรติ โตจำเริญ  กองทุนโตสื่อพระธรรม http://toesuepratam.blogspot.com/



การตื่นขึ้นของศรัทธาเนื่องในชาตกาล ๑๐๐ ปีของพันธุ์ อินทะผิว

บทความ อ.โกวิท เอนกชัย (เขมานันทะ) 


    ขอนอบน้อมแด่สาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย

    สำหรับคนขยันมีวิริยะภาพนั้น วันทุกวันเสมอกันในกิจภาวนา มันพิเศษตรงที่ว่าบุคคลใดถือกำเนิดมาแล้วก่อเกิดประโยชน์สุขสันติสุขแก่มวลมนุษย์ ครั้งท่านจากไปโลกได้อะไรสูญเสียอะไร วันเช่นนั้นถือว่าเป็นวันดีเพราะเป็นวันแห่งการเตือนสติและเพิ่มกำลังใจในการเจริญภาวนา

    อีกทั้งผู้ภาวนานั้น ถึงตาจะบอด หูจะหนวก ขาจะเสีย ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะอาภัพ แต่สภาพเช่นนี้หาได้เป็นอุปสรรคของการภาวนาแต่อย่างใด ถึงหูหนวก ตาบอด เป็นใบ้ แต่ย่อมไม่อาจกางกั้นไม่ให้รู้สึกตัวได้ ดังที่พระศาสดาสัมมาสัมพุทธะทรงตรัสว่า “เราสอนธรรมแก่ผู้ที่รู้สึกตัวได้” นับว่าเป็นวาสนาสำหรับชาวเราอดีตสยามประเทศที่เกิดเป็นไทและพบพระพุทธศาสนาในดินแดนที่ร่องรอยแห่งความรู้สึกตัวถูกระบุถึงแม้ในชีวิตประจำวันคือวลี “รู้สึกตัว” (สวสํเวทนา) และมันได้ถูกพิสูจน์ความถูกต้องผ่านวาทะของพันธุ์ อินทะผิว

    ในฐานะศิษย์ร่วมสำนัก ผมจะขอกล่าวธรรมิกถาโดยตั้งเป็นคำถามความในใจต่อศิษยานุศิษย์ กระทั่งผู้ร่วมเป็นสักขีพยานในวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาลของพระพันธุ์ อินทะผิว หรือที่ใคร ๆ รู้จักท่านในนามหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ดังนี้ว่า เราเริ่มภาวนาแบบเล่น ๆ ที่พระพันธุ์ อินทะผิวสอนไว้ เป็นแล้วหรือยัง

    ท่านสอนวิปัสสนาแบบเคลื่อนไหว ยกมือเป็นจังหวะและดูความคิด จับความรู้สึกตัวสด ๆ การเปลี่ยนแปลงอันเป็นเพียงอาการไหวตัวของวัตถุภายในอย่างแนบแน่น การสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่แผ่วเบาอันนี้มีความสำคัญใหญ่หลวง มันคือการเปลี่ยนแปลงโลก ทั้งของปัจเจกและโลกโดยรวม เมื่อการไหวตัวของคลื่นใต้น้ำสมทบกับคลื่นที่ผิวน้ำเป็นเอกภาพ สังสารจักรก็ถูกลบลางเลือน

    เราอยู่ในโลกของความมีความเป็น จึงไม่อาจเข้าใจโลกแห่งความไม่มีไม่เป็น และเพราะเราอยู่ในโลกของวัตถุที่หนาทึบ เราจึงเข้าใจทะลุปรุโปร่งในโลกของความเบาบางไม่ได้ โลกของความมีบังเกิดแล้วก็บดบังโลกของความไม่มีสิ้น

    แทบจะกล่าวได้ว่า ในการปฏิบัติกิจภาวนานั้น เราไม่ต้องทำอะไรเลยเพียงอนุญาตให้กระแสคลื่นความคิดไหลไป เมื่อมันสงบหรือปั่นป่วนด้วยคลื่นอารมณ์ก็ให้เป็นเรื่องของมัน เราไม่มีภาระอะไร ประสบการณ์ของความปั่นป่วนรวนเรนั้นเองจะบอกเล่าสภาพทุกข์ยากของชีวิตอย่างตรงไปตรงมา แล้วเราก็จะเจริญขึ้นในอริยสัจจ์ธรรม ไม่เป็นไปโดยประการอื่น เราจะเห็นมันต่อเมื่อเราได้ฐานเป็นพลังแห่งความสดใหม่ คือความรู้สึกตัวเบาบางแต่ว่าชัดเจนพอให้รู้ได้ของชีวิต

    มีอะไรบางอย่างในจิตใจของมนุษย์เรา ที่เหมือนนกมีปีกไว้บินและร่อนอย่างอิสระ ทว่าปีกคู่นั้นถูกจำกัดขอบเขตจนความสามารถในการบินหมดเรี่ยวแรง ความรู้สึกตัวที่แผ่ไปในอนันต์คือปีกแห่งอิสรภาพไม่รู้สิ้นสุด

    การเคลื่อนไหวทางปัญญานั้นอ่อนไหวว่องไวยิ่ง นับวันมันทำความเข้าใจอะไรได้อย่างรวดเร็วจึงถูกเรียกชื่อว่าเป็นปรีชาญาณหรือญาณของปัญญา โดยปราศจากความคิดกางกั้น

    เราจะถวายกิจภาวนาเป็นเครื่องสักการะด้วยใจจริงไม่ใช่การกระทำตามทางพิธีกรรมเพื่อให้ดูเป็นงานเอิกเกริก เราต้องปลุกใจให้ตื่นตระหนัก ผ่านการโพลงตัวอย่างระมัดระวังที่จะไม่ยึดถือผลเป็นความสงบนิ่งอย่างนักพรตอุทกะและอาฬาระ ผู้เรืองปัญญาทว่าขาดความเฉลียวใจ (ขาดการเอะใจ)

    หัวใจของนักภาวนาต้องไม่ดายนิ่งอยู่กับที่ มันเป็นเช่นนั้นมาหลายเวลาเกินไป ก้าวต่อไปข้างหน้าหรือถอยหลังทำให้เรารู้จักตัวเองได้ดีกว่าสงบนิ่ง อันเราไม่เขยื้อนศรัทธาในภาคภาวนา เราอย่ามัวเดินจงกรมอย่างเลื่อนลอยหรือเอาเป็นเอาตาย แต่เราได้ก้าวข้ามพ้นการเดินและกิริยาทั้งหมดของชีวิตอย่างผ่อนคลาย จุดหมายปลายทางไม่ใช่ถึงได้โดยความอยากของเราหรือของใคร ๆ แต่เราต้องการความรู้แจ้งประจักษ์โดยไม่เกี่ยวข้องกับพระนิพพาน แต่ปรารถนาพระโพธิญาณเพื่อช่วยค้ำจุนโลกตามทางปรารถนาอันแรงกล้าของพันธุ์ อินทะผิว

    แรงดลใจของพระพันธุ์ อินทะผิว ภายหลังแต่บวชแล้วปรากฏต่อศิษย์ทั้งพระและคฤหัสถ์อย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่าเป็นพลังตามปกป้องศรัทธาต่อกิจภาวนาอยู่อย่างเงียบ ๆ เนื่องแต่สภาพรู้สึกตัวเป็นสิ่งเบาบางราวกับซ่อนตัว ครั้นเวลาได้มาถึง จึงเปิดเผยธรรมชาติของความเบาบางนั้นให้ประจักษ์ในทันใด ดั่งนักโบราณคดีหลงค้นพลิกแผ่นดินเพื่อหาแผ่นดินที่คิดว่าหายไป หลายครั้งที่ผมเห็นอาการเสมือนว่าร้อนรนในการเร่งเดินทางไปให้ทันการติดอารมณ์ของศิษย์ ความกระวนกระวายต่อผลได้ของศิษย์ผู้เพียรภาวนาโดยไม่เยื่อใยต่อสุขภาพของตัวเอง รวมทั้งการตามเจือจุนความเป็นอยู่และคำแนะนำเคล็ดการภาวนาเฉพาะราย ดูเหมือนว่างานปลุกดวงจิตผู้คนให้ตื่นของพันธุ์ อินทะผิว จะเป็นเกมส์การละเล่นสำหรับท่านและผู้ดูที่ดูออกดูเป็นแลเห็นอย่างง่ายดาย

    พันธุ์ อินทะผิวได้อุทิศตนตามวิถีทางธรรม คือเป็นกัลยาณมิตรของผู้ใฝ่ธรรมเสมอมา ตราบกระทั่งวันเวลาล่วงเลยอายุสังขาร ๑๐๐ ปีเต็ม ควรที่พวกเราจะเฉลิมฉลองชาตกาลนี้ด้วยปฏิบัติบูชาอันเป็นยอดสุดแห่งการบูชาอันพระพุทธเจ้าสรรเสริญ ผมขอร่วมอนุโมทนาต่อกุศลสำนึกนี้ของท่านทั้งหลายด้วยใจจริง

    ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยดลบันดาลให้สันติธรรมแผ่กำจายทั่วประเทศและทั่วโลก ขอความรู้สึกตัวล้วน ๆ จงปรากฎเป็นพรประเสริฐ ขอลมเย็น ๆ พัดต้องกายผู้ภาวนาและรู้สึกได้ทันใดในการไหวตัวของอินทรีย์ อันเป็นผลของการฝึกปรือการภาวนาแบบเคลื่อนไหว กล่าวคือก่อนที่ความคิดจะฉุดคร่าสติไปตามทางของมัน เราชิงลงมือทันที

    ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่านเทอญ

    โกวิท เอนกชัย (เขมานันทะ)
    ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓


กลับสู่ด้านบนของเว็บนี้

กลับสู่หน้าเว็บหลัก โตสื่อพระธรรม

อ.โกวิท อเนกชัย (ท่านเขมานันทะ) เล่าเรื่องหลวงพ่อเทียน

ฟังอ.โกวิท อเนกชัย เล่าเรื่องหลวงพ่อเทียน

    ช่วงบ่ายอ่อน ๆ ของวันสุดท้ายในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๓  เรา  ๒  คน สมคิด  มหิศยาและสิริรัตน์  เจ้าประเสริฐ ได้รับความกรุณาจากท่านอาจารย์โกวิท เอนกชัย (เขมานันทะ) ให้ไปพบท่านเพื่อกราบขออนุญาตจัดพิมพ์หนังสือที่ท่านเขียนเกี่ยวกับหลวงพ่อเทียน  จิตฺตสุโภจำนวน  ๒  เล่มคือ  “ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ” และ “ดั่งสายน้ำไหล” เพื่อนำมาเผยแพร่เป็นธรรมทานเนื่องในงาน ๑๐๐ ปี ชาตกาล หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ 
    นอกจากท่านอาจารย์โกวิทจะได้อนุญาตด้วยจิตเมตตายิ่งแล้ว ท่านยังกรุณาเล่าเรื่อง หลวงพ่อเทียน  กัลยาณมิตรของท่าน ให้ฟังด้วย เราจึงอยากถ่ายทอดเรื่องเหล่านั้น เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ธรรมกับทุกๆ ท่านด้วยสำนวนที่เสมือนว่า ทุกท่านได้มาฟังจากปากของท่านเขมานันทะเอง 

... หลวงพ่อเทียนคือหลวงพ่อเทียน ...
    ประโยคแรกที่ท่านเขมานันทะถามพวกเราคือ  “ทำไมต้องเอาหลวงพ่อเทียนไปอิงกับเซ็น”  สิ่งที่เซ็นใฝ่ฝันที่จะมี  หลวงพ่อมีให้หมด  อย่าเอาหลวงพ่อมาอยู่ล่างเซ็น “บาป”  เราจะทำให้หลวงพ่อเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้  หลวงพ่อก็คือหลวงพ่อ
    สมัยที่หลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้เดินทางไปสอนการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวให้ญาติธรรมที่ประเทศสิงคโปร์หลายครั้ง  ครั้งหนึ่งมิสเตอร์ยามาดา โรชิ ผู้นำเซ็นและเจ้าของโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่น  ร่วมกับนักบวชนิกายเซ็นของประเทศญี่ปุ่น  ได้มาเยี่ยมศูนย์ซึ่งเป็นสาขา ร่วมกับนักบวชเซ็นในประเทศสิงคโปร์  แต่เมื่อคนกลุ่มนี้ได้มาพบกับหลวงพ่อ  พวกเขาก็หันมาศึกษากับหลวงพ่อแทบจะหมดทั้งกลุ่ม

... หลวงพ่อเทียนสอนคนโดยใช้  “อารมณ์ภาวนา” ...
    ในช่วงท้ายของชีวิต หลวงพ่อเทียนใช้  “อารมณ์ภาวนา” สอนลูกศิษย์ลูกหาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบ การสอนโดยไม่มีอารมณ์ภาวนาเปรียบเสมือนคนเดินทางโดยสารรถไฟ จากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่  ขึ้นรถไฟแล้วก็หลับตลอดทาง ไปถึงชียงใหม่ก็จริง  แต่บอกทางไม่ถูก  ไม่ทราบว่าไปทางไหน  ผ่านที่ใดบ้าง 

... การสอนของหลวงพ่อเทียนเปลี่ยนคนได้จริง ...
    ตอนหนึ่งท่านเขมานันทะเล่าว่า  สมัยที่หลวงพ่อเทียนจำพรรษาอยู่ที่วัดสวนแก้ว  จังหวัดนนทบุรี  มีสามเณรรูปหนึ่งชื่อ  สามเณรสมควร  มีลักษณะ  “โง่ทึบ”  ไม่น่าจะสอนได้  ปรากฏว่า  ตลอดพรรษานั้น  หลวงพ่อเทียนจับสามเณรสมควรขังไว้ในกลด  ให้ซอยเท้าอยู่กับที่  จนพื้นดินซึ่งเป็นดินเหนียวเป็นรอยลึกลงไปเกือบคืบ สิ้นพรรษา สามเณรสมควรสามารถเรียนอารมณ์ปฏิบัติได้ดีเหมือนผู้ใหญ่ หลวงพ่อเทียนสามารถเปลี่ยนสามเณรสมควรจาก “โง่ทึบ” เป็น “สว่างไสว” ได้ในช่วงเวลาเพียงพรรษาเดียว  ปัจจุบันพระสมควรกลายเป็นพระผู้ใหญ่อยู่ทางภาคอีสาน สอนการเจริญสติตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน
    หลวงพ่อเทียนเปรียบเสมือนพระพุทธเจ้าที่สอนพระจุลบัณฐก ท่านถูกพี่ชายซึ่งเป็นพระด้วยกัน ไล่ให้สึก เพราะหาว่า “โง่” เรียนธรรมไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระจุลบัณฐกได้ โดยให้นั่งลูบผ้าขี้ริ้ว (เพื่อทำความรู้สึกตัว) พร้อมกับบริกรรมว่า “ผ้าเช็ดพื้นก็เช็ดพื้น ผ้าเช็ดพื้นก็เช็ดพื้น” ทำอยู่เท่านี้เอง พระจุลบัณฐกเริ่มทำในตอนเช้า ตกเย็นท่านบรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์  นับเป็นความฉลาดของผู้สอนที่มีกลวิธีต่างๆ สามารถเอาชนะความโง่ได้จนเป็นที่ร่ำลือ
    หลายคนมีศรัทธา  แต่ไม่รู้วิธีปฏิบัติ  หากเขาได้เจอครูสอนที่เหมาะสม  เรื่องมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นได้

... งานเชิดชูเกียรติของหลวงพ่อเทียน “จำเป็น” ...
    ท่านเขมานันทะยอมรับว่า  “งานเชิดชูเกียรติของหลวงพ่อเทียนเป็นสิ่งจำเป็น  ผมโชคดีที่ได้พบมนุษย์แท้คนหนึ่งหลังจากโซซัดโซเซไปเรียนหนังสือมา  หลังจากเรียนเทคนิคการปฏิบัติ แบบนั่งสงบ ที่ทำกันมาสาม-สี่พันปีมาแล้ว  ทั้งปวดเมื่อย  ทั้งทรมาณ  กลายมาเป็นลืมตา  เคลื่อนไหวทั้งกาย ใจ  ทำให้ผมสนุกกับการภาวนา  ผมกลัวใจท่าน  หากท่านจะทำอะไร  ท่านต้องทำให้ได้...  ตกดึกวันหนึ่งที่จังหวัดเลย  ฟังมาว่าหลวงพ่อได้ข่าวว่า  คุณยุ่น  ลูกศิษย์ของท่าน  ที่กำลังปฏิบัติอยู่ที่กรุงเทพฯ ติดอารมณ์  หลวงพ่อนั่งรถรวดเดียวจากจังหวัดเลยมากรุงเทพฯ  มาแก้อารมณ์ให้คุณยุ่น”

... ความไม่มีตัวตนของหลวงพ่อเทียน ...
    มีหลายคนเคยเห็นหลวงพ่อเทียนนอนพังพาบกับพื้น  ชุนจีวรให้สามเณร
    บ่อยครั้งที่หลายคนเห็นหลวงพ่อเทียนมายืนดักรอพระที่เพิ่งกลับจากการบิณฑบาตในยามเช้า  เพื่อขอเศษเหรียญจากบาตรพระ  รวบรวมเอาไปจ้างคนในภาคอีสานให้มาปฏิบัติภาวนา  นั่งยกมือสร้างจังหวะ 
    หลวงพ่อเดินไปหาชาวบ้าน  เห็นพวกเขากำลังทำงานอยู่  จึงถามว่า  “ทำอะไร”
    ชาวบ้าน  “กำลังรับจ้างดายหญ้าขอรับ”
    หลวงพ่อ  “ได้ค่าจ้างวันละเท่าไหร่”
    ชาวบ้าน  “๕  บาทขอรับ”
    หลวงพ่อเทียนยื่นเหรียญให้  ๕  บาท  บอกว่า  “หลวงพ่อจ้างให้ไปปฏิบัติธรรม”
    หลวงพ่อท่านทราบดีว่า  ชาวอีสานยากจน  ต้องทำงาน  ความไม่มีตัวตนของหลวงพ่อเทียนชัดเจนมาก  แต่มิใช่ว่านั่งสงบแล้วก็สำเร็จ เป็นอนัตตาได้

... ความสำเร็จของการปฏิบัติ ไม่ขึ้นอยู่กับความเป็น “พระ” หรือเป็น “โยม” ...
    หลังจากที่ท่านเขมานันทะลาสิกขาที่ประเทศออสเตรเลีย กลับมาประเทศไทย หลายคนไม่ยอมรับและแสดงปฏิกิริยาต่อต้านท่าน  แต่หลวงพ่อเทียนไม่ว่าอะไรแม้แต่คำเดียว  ไม่ถามถึงสาเหตุของการสึกทั้ง ๆ ที่บวชมานาน  หลวงพ่อบอกแต่เพียงว่า “ให้ปฏิบัติ บางคนเหมาะขณะเป็นพระ บางคนเหมาะขณะเป็นโยม ไม่มีข้อจำกัดในการปฏิบัติตามแนวทางของหลวงพ่อ การปฏิบัติ ได้ หรือ ไม่ได้ เป็นเรื่องของแต่ละคน  ไม่เกี่ยวกับการเป็น พระ หรือเป็นโยม”  หลวงพ่อเทียนยังคงจัดให้ท่านเขมานันทะบรรยายธรรมให้ญาติโยมฟังทุกวันอาทิตย์
    แล้ววันหนึ่งหลวงพ่อเทียนก็แก้ข้อกังขาให้ญาติโยมรู้ว่า  ความสำเร็จของการปฏิบัติ มิใช่ อยู่ที่ความเป็นพระ  เป็นโยมก็ได้
    ท่านถามผม (หมายถึงท่านอาจารย์โกวิท  เขมานันทะ) ว่า  “มีเสื้อไหม”
    ผมเอาเสื้อคลุมอาบน้ำและหมวกกุ้ยเล้ย (แบบคนจีนใส่) ให้ท่าน  หลวงพ่อสวมเสื้อคลุม  สวมหมวกกุ้ยเล้ย ออกไปนั่งกลางลานวัด คนมาวัดบางคนไม่เข้าใจ  ก็ออกจากวัดไป  ไม่กลับมาอีกเลย
    การกระทำเช่นนั้นของหลวงพ่อก็เพื่อจะสอนว่า  ธรรมะอยู่เหนือสมมุติ  เป็นพระหรือเป็นโยม  หากตั้งใจปฏิบัติก็สำเร็จได้

... การแก้อารมณ์ของศิษย์หลวงพ่อเทียน ...
    บทบาทการสอนของหลวงพ่อมีหลากหลายมากมาย  ลูกศิษย์ของหลวงพ่อก็มีมาก  หลากหลาย  บางคนไม่ชอบพูด  ไม่ชอบแสดงตัว
    คนทั่วๆ ไป “ดื้อ” เพราะไม่รู้ความจริง  หากลงมือปฏิบัติก็จะเงียบเอง  หายดื้อ  ก่อนนั้นผมก็ดื้อ  คือไปตระเวนหาความรู้  ไม่เข้าใจการปฏิบัติ
    หลวงพ่อไม่ใช่ตัวประกอบของลัทธิใดลัทธิหนึ่ง  หลวงพ่อคือหลวงพ่อ  ท่านอยู่เหนือการคาดเดาทุกอย่าง
    ความจริงมี  ๒  อย่างคือ  จริงแท้กับจริงสมมุติ  เราต้องเคารพความจริงทั้ง  ๒  อย่าง
    ครั้งหนึ่งเจ้าคณะจังหวัดเลยมาที่วัดสนามใน นนทบุรี  ผมถือตัว  ไม่ไปฟังท่านเทศน์  หลวงพ่อเทียนเดินมาตามผมถึงกุฏิ  พูดเรียบๆ ว่า  “ผมว่าลงไปฟังเขาพูด มันสวยดี”
    ผมกระด้างกระเดื่องเพราะถือว่ามีความรู้  รู้มากจนจมไม่ลง ลอยไปกับความรู้ต่าง ๆ จนลืมตัว
    การปฏิบัติตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน มิใช่ การโฆษณาสินค้าตัวใหม่  อย่าตื่นตูม  ให้ยืนพื้นหลักภาวนา  ครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร  มีพระ  ๒  กลุ่มขัดแย้งกันเรื่องวิธีการเจริญสติตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน  กลุ่มหนึ่งต้องการให้ยกเลิกการยกมือสร้างจังหวะ  แต่อีกกลุ่มหนึ่งมีความเห็นว่า  ไม่ควรยกเลิก ... โชคดีที่ผลสรุปคือไม่ยกเลิก   

        ... หน้าที่ของเราคือการทำความรู้สึกตัวเท่านั้น ...
    หลวงพ่อเทียนเคยบอกว่า  ผู้ปฏิบัติมาก ... ซาบซึ้งมาก  ปฏิบัติน้อย ... ซาบซึ้งน้อย
    คำว่า “เกิด” “ดับ” มีการตีความกันมาก
    สิ่งที่หลวงพ่อเทียนพูด  ลึกก็มี  ตื้นก็มี เหมือนสระน้ำ เหมาะที่ปลานานาชนิดได้อาศัย
    วันหนึ่ง ผมสอนสามเณรว่า  โลกกลม  หากแล่นเรือออกไปโดยไม่หันหลังกลับ  จะกลับมาที่เดิม 
    หลวงพ่อเทียนบอกว่า กลมได้ไง มันแบนนี่
    สามเณรเริ่มสับสน ผมจึงสอนซ้ำอีกครั้งว่า โลกกลม
    หลวงพ่อจึงพูดเบา ๆว่า โลกจะกลมหรือแบน ไม่เกี่ยวกับความรู้สึกตัว
    เรามักจะออกนอกลู่นอกทาง  มักจะพยายามจ้อง จับ ดูความคิด  ซึ่งเป็นสิ่งที่เสียหายมาก  เพราะหน้าที่ของเราคือการทำความรู้สึกตัวเท่านั้น การปฏิบัติที่ผิด พูดผิด สอนผิด จะก่อให้เกิดความผิดพลาดสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ
    หน้าตาของหลวงพ่อเป็นคนเมืองเลย พูดเสียงเหน่อ แต่กิจภาวนาของหลวงพ่อเป็นเลิศ
    คนทั่วไปมักยึดรูปแบบ แสวงหาของวิเศษ มิได้แสวงหาพระ หลวงพ่อมีความวิเศษ แต่มีความเป็นปุถุชนเป็นเปลือกหุ้ม ยามใดที่ได้คุยเล่น ๆ กับหลวงพ่อ จะปรากฏประกายเพชรแปลบออกมา สอนโดยไม่ต้องสอนอะไร หลวงพ่อเป็นของจริง  อยู่เหนือการเปรียบเทียบกับสิ่งใดๆ

... หลวงพ่อมิใช่บุคคลที่พึงบูชาเท่านั้น  แต่ท่านเป็นกัลยาณมิตรของนักภาวนา ...
    นักฟุตบอลขณะเล่นฟุตบอล เมื่อลูกฟุตบอลผ่านหน้าเขาจะชู้ตทันที ทำนองเดียวกัน  การนั่งฟังหลวงพ่อคุย ทำให้เกิดความคิดแปลบปลาบ 
    ครั้งหนึ่งผมนั่งสมาธิอย่างยึดติดในสมถะ หลวงพ่อเทียนมาจี้ที่สีข้างถามว่า “ทำอะไร”
    ผม “ทำสมาธิ”
    หลวงพ่อ “ทำทำไม”
    ผม “เมื่อจิตสงบ ปัญญาก็เกิด”
    หลวงพ่อจับมือผมมาบีบ กล่าวว่า “การปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าต้องทำอย่างนี้”
    ผมไม่เข้าใจเพราะขณะนั้นยังไม่มีพื้นฐาน  ผมเข้าใจว่าการปฏิบัติคือการทำสมาธิ  ทำการปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ผมยังไม่รู้เรื่องการทำความรู้สึกตัว
    ครั้งหนึ่งที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ปากเกร็ด  จังหวัดนนทบุรี  หลังจากที่ผมจบการบรรยายแก่พระนวกะ หลวงพ่อมาดักถามผมว่า “ความรู้เหล่านี้เอามาจากไหน” ผมสะดุดเพราะคำถามนี้เขาไม่ถามกัน
    ตก ๔ ทุ่มคืนนั้น  ขณะที่นักศึกษาที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดชลประทานฯ แยกย้ายกลับที่พักกันหมด  ไม่มีใครรบกวน  หลวงพ่อมาเคาะประตูห้องผม  ถามว่า  “มีด้ายไหม”
    ผมดึงเส้นด้าย ขึงออก ถามท่านว่า  “จะเอาเท่าไร”
    หลวงพ่อถามหามีดโกน  แล้วเอามาตัดด้ายแล้วมองหน้าผม บอกว่า “ถ้าอาจารย์ยังมาไม่ถึงจุดนี้แล้ว ยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้า”
    หลังจากนั้น เวลาสี่ทุ่มของทุกคืน  ท่านมาหาผมที่ห้อง  เปิดย่ามเพื่อหาของมาเป็นอุปกรณ์ในการคุยเรื่องต่างๆ ให้ผมฟัง  ผมฟังไม่ค่อยจะเข้าใจนักเพราะท่านพูดภาษาอีสานแบบเหน่อๆ  แต่หลังจากนั้น ผมก็เริ่มชอบหลวงพ่อขึ้นมาเรื่อย ๆ
    ปีนั้นผมจะเดินทางไปประเทศอินเดีย  หลวงพ่อขอไปด้วย  ผมบอกว่า “หลวงพ่อไปไม่ได้ หลวงพ่อไม่มีพาสปอร์ต”    แต่หลวงพ่อก็ยืนยันจะไปด้วยให้ได้ ผมคิดว่าหลวงพ่อเหมือนเด็กอยากไปเที่ยว สิบปีให้หลัง ผมจึงรู้และเข้าใจว่าท่านตั้งใจจะไปช่วยผม เพราะขณะนั้นจิตใจผมเลื่อนลอยมาก อยู่ในความคิดตลอดเวลา หลวงพ่อคอยดึงให้ผมกลับมาดูสภาพจริงแท้ โดยผมไม่รู้ตัวด้วยการถามอยู่เรื่อย ๆ  เช่นว่า  “นั่นเสาอะไร” “โน่นหญ้าอะไร” ทั้งหมดก็เพื่อให้จิตออกจากความคิด

... ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน ...
    ผลงานของหลวงพ่อเทียน  สื่อให้เห็นถึงความสัตย์ซื่อของท่านที่มีต่อพระรัตนตรัย  ไม่บิดเบือนความจริง
    ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหลวงพ่อเทียนคือหลักประกันของความสงบสุขที่แท้จริงของชีวิต  ชนิดที่เรียกได้ว่า  ๒๐ ต่อ ๑  ลูกศิษย์ของหลวงพ่อเทียนที่ปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง ต่อเนื่อง จนเข้าใจอารมณ์ภาวนาแล้ว  จิตจะมีสติตั้งมั่นอยู่ยาวนาน  บางคนลาออกจากงาน  บางคนลาออกจากการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เพราะเห็นความเหลวไหลของทางโลก  แต่หากศิษย์คนใดศรัทธาไม่ตั้งมั่น  จิตใจก็จะเปลี่ยนไป  ตามโลกที่เปลี่ยนแปลงทุกขณะ

... การแก้อารมณ์ ...
    มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อ  “ปรกติ”  มีคุณภาพสูงมาก  เอื้ออำนวยต่อผู้ภาวนาเป็นอย่างดี  หนังสือเล่มนี้พูดถึงอารมณ์ภาวนา  การแก้อารมณ์  และวิธีการปฏิบัติเพื่อการรู้สึกตัว
    เราควรเรียนรู้ทฤษฎีพอประมาณ การแก้อารมณ์หมายถึงหากผิดเพี้ยนมาจะแก้อย่างไร  เวลาติดอารมณ์จะพูดไม่รู้เรื่อง  บางคนออกอาการเดินเร็ว พูดเร็ว ร้องไห้ คนติดอารมณ์มักจะไม่รู้ตัว ไม่ยอมรับ เหมือนคนเมาที่ไม่รู้สึกตัวและไม่ยอมรับว่าตนเมา
    การติดอารมณ์ถือเป็นสภาวะผิดปกติ เหมือนรถที่ขับแฉลบออกไปนอกเส้นทาง คนที่ติดอารมณ์ง่ายคือคนที่ชอบหวัง ปฏิบัติธรรมเพื่อหวังผล เป็นต้นว่าอยากเหาะได้ บางคนปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ ก็มีความรู้สึกอยากสอน เจอคนที่นาน ๆ พบกันทีแทนที่จะถามทุกข์สุขเขา พูดคุยกันดี ๆ  ก็ไปสอน ไปว่าเขา บางคนแรง ธาตุไฟกล้า ก็จะติดอารมณ์แรง
    คนที่จะแก้อารมณ์ได้ ต้องเป็นบุคคลที่ผู้ติดอารมณ์ให้ความเชื่อถือ สนิทและรู้ใจกัน
    วิธีแก้อารมณ์ ทำโดยการลูบหน้า ลูบมือ ให้เดินถอยหลังบ้าง กางมือบ้าง หรือเก็บใบไม้ ซักผ้า
    ครั้งหนึ่งหลวงพ่อเทียนเล่าว่าพระรูปหนึ่งปฏิบัติดีมาก แต่แก้อารมณ์ตนเองไม่เป็น พอถึงจุด ๆ หนึ่ง  เกิดอาการติดอารมณ์โดยไม่รู้สึกตัว เที่ยวเดินไปด่าชาวบ้าน เอาชะแลงไล่ทุบรถที่วิ่งเข้ามาในวัด ใครก็แก้อารมณ์ให้ไม่ได้ จนหลวงพ่อเทียนมาถึง ทันทีที่เห็นหน้าหลวงพ่อ พระรูปนั้นก็ทุเลาจากการติดอารมณ์

... การปฏิบัติธรรมกับการป่วยไข้ “ไปด้วยกันได้” ...
    ขณะนี้ท่านอาจารย์โกวิท เขมานันทะ ยังคงปฏิบัติอยู่เรื่อย ๆ ต่อเนื่อง ตลอดเวลา โดยไม่คาดหวังอะไร  ท่านอาจารย์บอกว่า
    “การปฏิบัติกับสุขภาพไปด้วยกันได้ ความเจ็บไข้ได้ป่วยคือความรู้สึกตัวที่ผิดปกติ ไม่มีอุปสรรคใดที่ทำให้ปฏิบัติไม่ได้ ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดา”

... หากใครเห็นหลวงพ่อเทียนปฏิบัติ  นั่นคือท่านกำลังสอนคน ...
    สมัยพุทธกาล  ภิกษุรูปหนึ่งเห็นพระพุทธเจ้ากำลังเดินจงกรม  จึงกราบทูลถามว่า  “ท่านกำลังปฏิบัติธรรมหรือ”
    พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า  การเดินจงกรมของท่านคือการบริหารน่อง
    สมัยหลวงพ่อเทียนยังมีชีวิตอยู่  หากใครเห็นท่านปฏิบัติธรรม  นั่นหมายถึงท่านกำลังสอนคน
    ชาวพุทธไทยฉลาด รู้จักประยุกต์การเดินเล่นมาเป็นการเจริญสติภาวนา เราเคย “ตื่น” ฝรั่ง แต่ตอนนี้ฝรั่ง “ตื่น” คนไทย
    ผมอยากให้ทุกคนตั้งใจปฏิบัติกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ อย่าทำเล่น ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทำอะไรเอาหัวใจทำ ให้สุดหัวใจ เอาจริง ทำจริง
    ผลเกิดจากเหตุคือความจริงใจ ให้บูชาการภาวนา
    อย่าบูชาหลวงพ่อเทียน  แต่ให้ปฏิบัติตามคำสอนของท่าน “นี่คือสิ่งที่หลวงพ่อเทียนต้องการ  นี่คือการบูชาหลวงพ่อเทียน”

... หลวงพ่อเทียนมีปรีชาญาณ ...
    ชาติกำเนิดเลือกไม่ได้ แต่หลวงพ่อเทียนมีปรีชาญาณ ท่านเป็นคนธรรมดา ถ้อยคำธรรมดา แต่แทงทะลุใจคน  ท่านเอาแก่นมอบให้คนที่เข้าร่วมปฏิบัติด้วยใจจริง ๆ ถือเป็นนิมิตที่ดีที่มีคนเข้าร่วมเรื่อย ๆ
    หลวงพ่อบอกว่า แทบทุกจังหวัดมีคนปฏิบัติตามแนวทางของท่าน ปฏิบัติแบบเงียบ ๆ ชนิดที่  “ทุ่มชีวิต” ให้ทั้งชาติไปเลย ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกกิจกรรมของชีวิตคือการภาวนา แต่ไม่เคร่งเครียด ไม่คาดหวัง และไม่เป็นทุกข์
    การปฏิบัติภาวนานี้ ไม่มีใครช่วยปฏิบัติแทนใครได้ นอกจากต้องปฏิบัติเอง ต้องช่วยตัวเองก่อน
    ที่สิงคโปร์ เวลาหลวงพ่อเทียนสอนปฏิบัติจะคึกคักมาก ชาวสิงคโปร์เดินมากมายเหมือนสายน้ำ 
    สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าตรัสกับนักบวชว่า ทุกลมหายใจคือการภาวนา ทั้งยืน เดิน นอน นั่ง ล้วนแล้วแต่ภาวนาทั้งสิ้น ที่เมืองสาวัตถี คนปฏิบัติเจริญสติกันทั้งเมือง อิทธิพลคำสอนของพระพุทธเจ้าครอบคลุมทั่วทั้งชมพูทวีป เป็นคำสอนที่ลัด ตรง ทุกคนทุกวัยได้รับประโยชน์ จนพราหมณ์คนหนึ่งถึงกับอุทานว่า  “เจอช้าง เจอเสือ เอาตัวรอดได้ แต่พอมาเจอพระสมณโคดม ไม่มีรอดสักราย”   
    คนรุ่นหลังๆ ให้ข่าวสารเรื่องชีวิต  แต่ชีวิตมิได้มีเท่าที่ตาเห็น  เราได้ตอบสนองต่อพระศาสดา  ต่อศรัทธาของพระองค์ท่านหรือไม่  ดูพระพุทธเจ้า  ดูวิถีทางของพระองค์  จากเจ้าชายผู้มั่งคั่ง  มาเป็นขอทาน  เพื่อแลกกับสติปัญญาระดับสูง

... ของดีเป็นของไทย  หลวงพ่อเทียนนำมาเปิดเผย ...
    ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของสติปัญญาระดับสูง  เป็นของดีของคนไทย  ฝรั่งตามหากันมาก  แต่คนไทยไม่เข้าใจ หลงลืมไป หลวงพ่อเทียนนำมาเปิดเผย ท่านทำเรื่องเล่าลือให้เป็นจริง คนทุกคนที่ปฏิบัติตามแนวทางของหลวงพ่ออย่างจริงจังแล้ว เขาจะเป็นสื่อที่ดี หลวงพ่อฝากลายไว้ให้โลกลือ เล่าลูกเล่าหลานในวันหน้า ท่านสอนโดยวิถีทางเฉพาะราย ท่านทำในสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาทำไม่ได้ “ให้โลกดู”  เหมือนเมื่อครั้งสมัยก่อนหน้านี้ที่มีพระอรหันต์นั่งตายให้โลกดู
    การนำการปฏิบัติภาวนามาประยุกต์เข้ากับการเต้น การรำ เพื่อดึงดูดให้คนสนใจเข้ามาร่วมปฏิบัติธรรมมาก ๆ นั้น เป็นการกระทำที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง เป็นการต่อรอง อาจทำให้การเจริญในธรรมเป็นไปอย่างเชื่องช้า จริงอยู่การกระทำดังกล่าวอาจทำให้คนเข้าร่วมได้มาก แต่เราไม่ได้วัดกันที่ตรงนั้น หากได้คนเข้าร่วม  ๑๐,๐๐๐  คน แต่ไม่ได้กรรมฐานก็เหมือนคนป่า หากธรรมะสร้างคนแล้ว คนจะเป็นสื่อเอง
    หลวงพ่อเป็นคนธรรมดา พูดเหน่อ มิใช่ผู้วิเศษ แต่ท่านเข้าถึงจริง ๆ  ท่านบอกว่า หากพระพุทธเจ้าเสด็จมาสนามหลวง ท่านจะไม่ไปเยี่ยม ฟังเหมือนอวดดี แต่จริง ๆ แล้วท่านให้กำลังใจ เพราะการภาวนายาก คนมักเกียจคร้านและเบื่อหน่าย หรือที่ง่ายเกินไป นี่ก็เป็นปัญหาได้เท่ากัน
    หลวงพ่อไม่กระหายจะมีสาวก หากเขาไม่พร้อมจะเอาหัวใจให้ เราก็ต้องรอก่อน นักฟุตบอล หากไม่มีลูกฟุตบอลผ่านหน้า ชู้ตไปก็เหนื่อยเปล่า เราต้องการความแน่วแน่ มิใช่ตึงเครียด เอาเป็นเอาตาย อาจเป็นบ้าได้

... การตั้งสติคือการภาวนา ...
    คนเรามักกังวลเรื่องสุขภาพจนลืมปฏิบัติธรรม แล้วหลงเรียกว่าภาวนา จริง ๆ แล้วไม่ใช่ การตั้งสติคือการภาวนา ปฏิบัติแบบธรรมดา ๆ ไม่หวังอะไร ผลย่อมเกิดแต่เหตุ ทุกครั้งที่ปรารภความเพียร คือทุกครั้งที่ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
    เรื่องสุขภาพ อาหารการกิน ธุรกิจ ถือเป็นเรื่องเล็ก ๆ อย่าไปทุ่มเทมาก เรื่องใหญ่กว่านั้น “มี” ให้นั่งยกมือสร้างจังหวะ เจริญสติ จับความรู้สึกตัว แล้วชีวิตจิตใจจะงอกงามไปเรื่อย ๆ โดยที่เราคาดไม่ถึง เราจะพบว่าเรื่องใหญ่ได้เกิดขึ้นแล้ว มันเปลี่ยนได้จริง ๆ เคยกลัวความยากจน กลัวผี กลับกลายเป็นไม่กลัว ไม่กังวลกับเรื่องใด ๆ จิตใจที่เดิมเต็มไปด้วยความทุกข์ จะกลับทุเลา เบาบางลง น้อยใจคนไม่เป็น บางเรื่องที่คิดว่าเราไม่น่าจะทำได้ แต่เราทำได้ เรื่องนี้เราน่าจะทุกข์ แต่เราไม่ทุกข์ เรื่องเช่นนี้เราน่าจะโกรธ แต่เรากลับเฉยมิใช่เก่งกล้าที่ละกิเกสได้ กิเลสยังมีอยู่ แต่เราไม่อุ้มฉวยมันมา มันก็ไม่หนัก
    มิใช่กิเลสหมด  มันยังมี  แต่เราไม่ยึดถือ  มันก็ไม่หนัก  ขอให้วันคืนเป็นวันคืนแห่งการภาวนา  อย่าให้ผลประโยชน์เล็กน้อยช่วงชิงผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของชีวิต
    เมื่อไรที่จับความรู้สึกตัวได้  เมื่อนั้นหลวงพ่อเทียนอยู่ตรงนั้น  พระพุทธเจ้าอยู่ตรงนั้น  คือ อยู่กับปัจจุบัน  แต่อย่าเกาะกับปัจจุบัน
    อยู่กับปัจจุบัน  แต่อย่ายึดถือปัจจุบัน
    ดูใจอย่างเดียวคือการปฏิบัติ
    การภาวนาเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรม  เปลี่ยนมารู้สึกตัว  พอรู้ตัวว่าขาดสติ  นั่นคือสติ
    การภาวนาอย่างต่อเนื่องจะทำให้รู้สึกตัวถี่ขึ้น  ความไม่รู้สึกตัวจะถดถอย  ความไม่รู้สึกตัวมีรากเหง้าคืออวิชชา  เหมือนการเล่นเก้าอี้ดนตรี  หากคนหนึ่งนั่งแล้ว  อีกคนก็นั่งไม่ได้
    การไม่รู้สึกตัว การรู้สึกตัวอย่างไม่ต่อเนื่อง การดิ้นรนที่จะรู้สึกตัว ถือเป็นความทุกข์ทั้งสามอย่าง    อุปสรรคของการปฏิบัติคือ ปฏิบัติไม่ต่อเนื่อง ปฏิบัติแบบเล็งผลเลิศ
    การปฏิบัติเพื่อความรู้สึกตัวตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน เป็นเรื่องง่าย ๆ แต่ยากสำหรับคนเหยาะแหยะ แล้วจะมากินแหนงตัวเองภายหลังว่า หากรู้อย่างนี้ปฏิบัติจริง ๆ จัง ๆ ตั้งแต่ต้นก็ดี
    ท่านอาจารย์โกวิท เขมานันทะเล่าเรื่องหลวงพ่อเทียนให้พวกเราฟังมาถึงตรงนี้แล้วท่านก็รู้สึกเหนื่อยมาก  สำหรับวันนี้จึงขอหยุดพักไว้เพียงเท่านี้ก่อน
    เราทั้งสองเห็นว่า  ตลอดเวลา  ๒ ชั่วโมงที่ท่านอาจารย์กรุณาเล่าเรื่องธรรมะของหลวงพ่อเทียนให้พวกเราฟังนั้นมีประโยชน์มาก จึงขออนุญาตท่านอาจารย์นำไปเผยแพร่ ท่านก็อนุญาตและกรุณาตรวจต้นฉบับให้ด้วย พวกเรา คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน ๔ ภาค ๑๐๐ ปี ชาตกาลหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ  ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์โกวิท เขมานันทะเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้

เรา  ๒  คน สมคิด  มหิศยาและสิริรัตน์  เจ้าประเสริฐ  ผู้เล่าเหตุการณ์


- - - - - - - - - - - - - - - - -
กลับสู่ด้านบนเว็บนี้

ไปสู่เว็บหลัก

หลวงพ่อเทียนผู้ที่ผมไม่เคยพบ แต่ได้รู้จัก โดย ศ.น.พ.คงศักดิ์ ตันไพจิตร



หลวงพ่อเทียนผู้ที่ผมไม่เคยพบ แต่ได้รู้จัก
โดย ศ. น.พ.คงศักดิ์ ตันไพจิตร

พวกเราคงได้เล่าเรียนพุทธศาสนากันมาตั้งแต่เล็ก  ในระดับการศึกษาขั้นประถมและมัธยมว่าหัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ 1 ละเว้นจากการทำชั่ว  2 พึงทำแต่ความดี   3 ทำใจให้ผ่องแผ้ว   ดังปรากฏในโอวาทปาฏิโมกข์ ผมสันนิษฐานมาแต่เล็กว่า คำสอนข้อที่ 3  นี้ จะต้องสำคัญที่สุด  ซึ่งทำให้พุทธศาสนาต่างไปจากศาสนาอื่นและโดดเด่นสามารถช่วยให้คนพ้นทุกข์ได้ แต่ก็ไม่เข้าใจว่าความหมายที่แท้จริงของการทำใจให้ผ่องแผ้วนี้คืออะไร  หลายปีผ่านไป   ผมจึงได้เรียนรู้ว่า  นั่นคือการปฏิบัติวิปัสสนาให้เกิดญาณปัญญา  ให้เห็นความจริงตามที่เป็นจริง ก้าวล่วงพ้นจากความทุกข์และความขัดแย้งภายในจิตใจ  มีจิตที่เป็นอิสระและสุขสงบอย่างสมบูรณ์ 

ครั้นอายุได้ 21 ปี ผมจึงได้รู้จักคำว่ากรรมฐาน  เมื่อผู้สูงวัย 2 ท่านปรารภต่อกันว่า "ถ้าฉันไม่ได้ `พุทโธ' ฉันคงขึ้นมาไม่ถึงยอดภูกระดึงแน่ๆ" ทำให้ผมสงสัยเป็นอย่างมากว่า ที่ว่า `พุทโธ' นี้คืออะไรแน่  ในเดือนถัดมาผมก็ได้รับคำตอบ เมื่อเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ในฉายานามว่า “ปัญญวโร” ณ วัดบวรนิเวศน์วิหาร โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันเป็นพระอุปัชฌาย์   ได้มีโอกาสฝึกอานาปานสติกรรมฐานที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร และ ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี  ภายใต้การสอนของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน (พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือ หลวงตามหาบัว) ด้วยการเจริญสติโดยกำหนดลมหายใจว่า ‘พุท-โธ’ เป็นหลัก เกิดความมั่นใจว่า  วิปัสสนากรรมฐานนี้แหละเป็นหัวใจและเป็นทางเดียวที่จะนำให้ล่วงพ้นทุกข์ได้  และจะเป็นทางให้พิสูจน์ความจริงได้ด้วยตนเอง

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ความจริงแล้ว ก็คือ การอบรมจิตให้เห็นจิตหรือตัวมันเองอย่างแจ่มแจ้งตามความเป็นจริง ให้เห็นสภาพหรือสภาวธรรมที่แท้จริงของมัน ให้มีสติ-สัมปชัญญะอย่างแจ่มแจ้งเห็นการเกิด-ดับของรูป-นาม (ได้แก่ร่างกาย-จิตใจ ของเรานี้เอง หรือ กาย-จิต ซึ่งเป็น รูปธรรม-นามธรรม) โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางใจ คือ ‘นามรูป’ หรือความคิดที่เกิด-ดับ สืบก่อต่อเนื่องจากข้อมูลที่ได้รับมาจากสภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นผ่านทางอายตนะทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ   รูป-นาม เป็นต้นตอรากฐานกำเนิดของสมมติบัญญัติ ที่ชักนำให้เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสภาวธรรมต่างๆให้เป็นทุกข์ ด้วยคิดแต่เพียงว่า ทุกสิ่งเป็นของของตน เที่ยงแท้ถาวร ไม่แปรเปลี่ยน คนทุกคนล้วนประกอบด้วยกายและจิต แต่เต็มไปด้วยอัตตาหรือโมหะครอบงำอยู่  บดบังไม่ให้จิตเห็นสภาวะจิต-สภาวธรรมที่แท้จริงตามความเป็นจริง  ว่าทุกสิ่งเป็นไปตามกฎแห่งพระไตรลักษณ์ กล่าวคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของเราตามความคิดหวังของเรา

ดังนั้น  การกระทำ การพูด การคิด   จึงเป็นไปในลักษณะเข้าข้างตอบสนองความต้องการหรือความไม่ต้องการของตนเองอยู่ตลอดเวลา  มุ่งแต่ไขว่คว้า กอบโกยแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตนในสิ่งที่เป็นสมมติบัญญัติซึ่งสบอารมณ์ของตน  หรือ ผลักไส  ขับไล่ เข่นฆ่า  ต่อสิ่งที่ไม่สบอารมณ์แห่งอัตตาของตนอยู่เช่นนี้ตลอดเวลา สร้างปัญหาความเดือดร้อนและความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ตนตลอดถึงผู้อื่นที่เกี่ยวข้องโดยไม่รู้จักจบสิ้น ดังนั้น ท่านจึงสอนให้มีสติตามดูรู้ทันที่กายและจิตของตนเอง ให้เห็นต้นตอของความคิดที่เกิด-ดับอยู่ตลอดเวลา  อันเป็นเชื้อและรากเหง้าให้ถูกครอบงำด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งซ่อนเร้นแอบแฝงมากับความคิด ทำให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป  

จุดประสงค์ของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จึงเป็นไปเพื่อให้จับความคิด เห็นความคิดขณะที่เกิดขึ้นให้ได้ตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้ลุ่มหลงโง่เง่าไปกับอารมณ์ของจิตและความลักคิดอีกต่อไป  ให้เห็นสภาวะจิตที่แท้จริงโดยปรมัตถสัจจะ นั่นคือเห็นสภาวธรรมล้วนๆหรือปรมัตถธรรม (ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน) ของจิตว่า จิตนั้นมีความบริสุทธิ์  ผ่องใส  ประภัสสร  มีสภาพแห่งพุทธะอยู่แล้วตลอดเวลา หากแต่ถูกครอบงำบดบังด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลงที่ซ่อนเร้นมากับความคิด ไม่รู้เท่าทันความคิด ทำให้จิตเข้าไปติดอยู่ในความลักคิด ตกเป็นทาสของความคิด โดยไม่รู้ตัวว่ากำลังติดอยู่ในความคิด แต่กลับแสดงออกมาในรูปลักษณะอาการตอบสนองหรือตอบโต้ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง หากเพียงแค่เห็นจิต เห็นความคิด จิตจะหลุดจากความเป็นทาสของความคิด กลับเป็นอิสระหายทุกข์ พุทธะอยู่ที่จิต จิตคือพุทธะ  จิตคือหลักธรรม สัจธรรม และหลักธรรม สัจธรรม ก็คือจิต อยู่ที่จิตนี้เอง

ท่านอาจารย์พุทธทาสได้อธิบายถึงอานาปานสติโดยสมบูรณ์แบบ (แยกเป็นรายละเอียด 16 ขั้นตอน) ว่าได้รวมมหาสติปัฏฐาน 4 ไว้ในตัว กล่าวคือ มีการผูกสติ-สร้างความรู้สึกตัว ด้วยการตามดูรู้ทันสภาวธรรม สังเกตดูตนเองที่ กาย เวทนา จิต ธรรม ทั้ง 4 หมวด  ซึ่งเป็นหัวใจของวิปัสสนากรรมฐานอยู่อย่างพร้อมบริบูรณ์   โดยมีหลักว่าให้ระลึกรู้ด้วยสติ-ความรู้สึกตัวที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก และในมหาสติปัฏฐานสูตรนี้เองสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ายังได้ตรัสว่า บุคคลใดสามารถดำรงสติให้เกิดต่อเนื่องกันดั่งลูกโซ่ อย่างนาน 7 ปี อย่างกลาง 7 เดือน  และอย่างเร็ว 7 วัน  จะมีอานิสงส์ให้ผู้ปฏิบัติสามารถบรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์ หรืออย่างน้อยที่สุด เป็นพระอนาคามีได้ในปัจจุบัน

ผมเกิดความมั่นใจว่า ได้พบอุปกรณ์เครื่องมือในการปฏิบัติที่ถูกทางแล้ว    แม้พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยอาศัยการปฏิบัติอานาปานสตินี้เอง  จึงเป็นกำลังใจให้ผมปฏิบัติในแนวนี้ต่อเนื่องสืบมาโดยลำดับ และได้ประสบผลก้าวหน้ามากตามสมควร  แต่เนื่องด้วยวิชาชีพและภารกิจที่รัดตัว การปฏิบัติธรรมของผมมักจะเป็นตอนดึกหรือเช้าตรู่ ตามแต่เวลาจะอำนวย จิตสามารถรวมตัวเป็นสมาธิได้อย่างดีและรวดเร็ว มีสติสัมปชัญญะในช่วงขณะของการปฏิบัติเป็นอย่างดี ส่วนในชีวิตการงานประจำวัน แม้จะสามารถผูกสติอยู่กับลมหายใจระหว่างปฏิบัติหน้าที่การงานได้  แต่ด้วยลักษณะของลมหายใจนั้นละเอียดอ่อนมาก การผูกสติกับลมหายใจนอกเหนือจากเวลานั่งกรรมฐานแล้ว   มักจะผูกสติได้ไม่แนบสนิทแน่น  หรือไม่ดีเท่าที่ควร และมักขาดช่วงไม่ต่อเนื่อง เมื่อถูกรุมล้อมด้วยภารกิจประจำวันที่ต้องใช้ความคิดการตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา

อาจารย์ผู้สอนอานาปานสติท่านหนึ่ง  ได้ให้ข้อคิดว่า  เรื่องอานาปานสติโดยสมบูรณ์แบบ 16 ขั้นนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องมีเวลาในการปฏิบัติ  เหมาะสำหรับพระสงฆ์ซึ่งมีเวลาในการบำเพ็ญเพียรทางจิตได้มาก   ผมเองอดรู้สึกสะท้อนใจไม่ได้ว่า คงจะเป็นเรื่องยากมากสำหรับผม เพราะชีวิตการครองเรือนอย่างฆราวาส เต็มไปด้วยภารกิจทั้งที่ทำงานและทางบ้าน  แม้จะได้รับผลก้าวหน้าในการปฏิบัติอานาปานสติเป็นอย่างมากแล้วก็ตาม  แต่ก็ต้องยอมรับตามคำวิจารณ์นั้นว่า ผมไม่มีเวลาให้พอเพียงสำหรับการนั่งปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในอานาปานสติโดยสมบูรณ์แบบทั้ง 16 ขั้นนั้นได้เสมอไป กระนั้นก็ตาม ผมก็พยายามปฏิบัติโดยอาศัยเคล็ดจากท่านอาจารย์พุทธทาสว่า หากไม่มีเวลาเพียงพอ แต่ชำนาญในการปฏิบัติแล้ว  ก็สามารถข้ามขึ้นสู่จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานได้เลย   คือ ตามดูรู้ทันจิตเลยทุกครั้งที่มีการหายใจออกเข้า    ซึ่งตรงกับแนวการสอนการปฏิบัติของหลวงปู่ดูลย์  อตุโล  (พระราชวุฒาจารย์) ที่สอนให้เอาจิตดูจิต (คือใช้สติดูจิต) ให้เห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง ไม่ส่งจิตออกนอกไปกับความคิด

สิ่งที่เป็นปริศนาธรรมสำหรับผมอย่างมากนั้น คือ ในสมัยพุทธกาล กล่าวกันว่าใน เมืองสาวัตถีที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่นานถึง 25 พรรษา มีพลเมือง 2 โกฏิ (เข้าใจว่าประมาณ 2 แสนคน) เป็นชาวพุทธ 80 %  และในกลุ่มชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธนั้น  เป็นพระอริยเจ้า 60 % คือ เป็นพระโสดา พระสกทาคามี พระอนาคามี  และชาวพุทธทุกท่านรู้จักการเจริญมหาสติปัฏฐาน 4 โดยทั่วกัน  แม้แต่นกแขกเต้าก็ยังรู้จักวิธีเจริญมหาสติปัฏฐาน   ซึ่งทำให้ผมสะท้อนใจมากว่า หัวใจของมหาสติปัฏฐาน 4 โดยแท้จริงนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่ง่ายมาก   แต่เคล็ดลับนี้ได้ถูกลืมไป   มิฉะนั้น  ท่านคงไม่ทิ้งปริศนาธรรมไว้ว่า แม้แต่นกก็ยังทำได้  ผมสันนิษฐานว่า คงเปรียบเทียบได้กับการที่ทุกคนในปัจจุบันรู้จักวิธีขับรถ  หากได้รับการฝึกหัดสอนเทคนิคให้รู้เคล็ดลับนั้น

เมื่อปีพ.ศ.2533 ผมบังเอิญได้อ่านคอลัมน์ในวารสารธรรมะฉบับหนึ่ง กล่าวถึงอาจารย์วิปัสสนาที่โดดเด่นของเมืองไทยนั้นว่า มีท่านอาจารย์พุทธทาส และหลวงพ่อเทียน  ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินชื่อของหลวงพ่อเทียน และแปลกใจที่ว่าทำไมไม่เคยได้ทราบนามของท่านมาก่อน   ทั้งที่ผมก็อยู่ในวงการพุทธศาสนาและวงการปฏิบัติธรรมมานานพอสมควร  จึงเพียงแต่คิดว่าสักวันหนึ่งคงจะต้องพยายามหาคำสอนของท่านมาศึกษาดูให้ได้

ในปีนั้นนั่นเอง  ผมกลับมาเยี่ยมบ้านที่เมืองไทย  อันเป็นช่วงเวลาสำหรับกว้านซื้อหนังสือธรรมะของผมด้วย  บังเอิญไปเจอหนังสือ ‘ปกติ’  ของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ  วางขายอยู่ที่ร้านแพร่พิทยา เลยซื้อมาลองอ่านจึงได้ทราบแน่ชัดว่า   นี้คือหลวงพ่อเทียนที่ผมตามหาและต้องการรู้จัก  แต่ได้ทราบว่าท่านมรณภาพไปแล้ว  เพราะหนังสือเล่มนี้พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานประชุมเพลิงศพของท่าน  กระนั้นก็ดี ธรรมะของท่านมิได้ตายตามท่านไปด้วย  วิธีการปฏิบัติของท่านก็แปลกประหลาด ไม่เคยเห็นมาก่อน แต่มีเหตุผลน่าจูงใจให้ลองปฏิบัติดู  พิจารณาดูแล้วเป็นการปลุกสติให้ตื่นผ่านการเคลื่อนไหวทางกาย และไม่ขัดกับหลักมหาสติปัฏฐาน 4  มิหนำซ้ำยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ทันทีอย่างดีด้วย    อาทิเช่น เวลาขณะขับรถบนท้องถนนในกรุงเทพฯในช่วงระยะนั้น ซึ่งจะต้องมีสติสมาธิพร้อมเผชิญภัยอยู่ตลอดเวลา  เป็นต้น ผมจึงกว้านซื้อหนังสือของหลวงพ่อเทียนบางเล่มที่มีวางตลาดอยู่ขณะนั้น เพื่อนำไปฝากสหธรรมิกที่เมืองเซนต์หลุยส์  สหรัฐอเมริกาด้วย

นับว่าผมได้รับความเมตตากรุณาจากเหล่าสานุศิษย์ของหลวงพ่อเทียนเป็นอย่างมาก นับตั้ง แต่ คุณวิรุจ รอดโพธิ์ทอง ผู้พิมพ์หนังสือ ‘ปกติ’ ซึ่งต่อมาได้ส่งวีดีโอเทป และเทปธรรมะของหลวงพ่อเทียนไปให้ที่สหรัฐ ช่วยให้การปฏิบัติของผมเป็นไปได้อย่างถูกต้อง และ จะเรียกว่าโชคดีเป็นอย่างมากที่ในปีถัดมา (พ.ศ.2534)   ท่านอาจารย์โกวิท เขมานันทะ ได้รับเชิญจากเมืองไทยโดยพระอาจารย์ ดร.สุนทร พลามินทร์ ให้ไปสอนกรรมฐาน ณ วัดพุทธธรรม เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา    จึงเป็นโอกาสอย่างดี ให้วัดพระศรีรัตนารามซึ่งเป็นวัดไทยในเซนต์หลุยส์ ได้ร่วมเชิญท่านอาจารย์โกวิทมาสอนกรรมฐานด้วย ผมจึงได้รู้จักหลวงพ่อเทียนอย่างใกล้ชิดโดยผ่านความเมตตาของท่านอาจารย์โกวิท เขมานันทะนี้เอง  

ในปีต่อๆ มา  วัดพระศรีรัตนาราม  ได้มีโอกาสนิมนต์ท่านอธิการทอง อาภากโร เจ้าอาวาสวัดสนามใน จ.นนทบุรี ท่านอธิการดา สัมมาคโต เจ้าอาวาสวัดธาตุโข่ง จ.อุดรธานี และ ท่านอธิการหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ เจ้าอาวาสวัดภูเขาทอง จ.ชัยภูมิ และได้เชิญรศ.ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ มาสอนกรรมฐานในแนวของหลวงพ่อเทียน ที่วัดไทยเซนต์หลุยส์  นับเป็นโอกาสทองให้ได้รับการถ่ายทอดธรรมะของหลวงพ่อเทียนผ่านเหล่าสานุศิษย์ และทำให้ผมได้รู้จักหลวงพ่อเทียนมากขึ้นด้วย

ที่น่าประหลาดใจที่สุดคือ ทุกท่านไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาสหากปฏิบัติอย่างจริงใจในแนวสร้างจังหวะของหลวงพ่อเทียนแล้ว สามารถรู้ สามารถเห็น สามารถสัมผัสซึ่งความเจริญ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในธรรมได้ด้วยตนเองทั้งสิ้น  โดยเฉพาะพระผู้ทรงคุณวุฒิเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค 2 รูป คือ ท่านอาจารย์พระมหาไหล โฆสโก (ป.ธ.9  ปัจจุบันคือ ท่านเจ้าคุณพระศรีวรญาณ เจ้าอาวาสวัดป่านาเชือก ศูนย์พัฒนาอบรมจิตเฉลิมพระเกียรติ ร.9 จ.มหาสารคาม)  เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนาราม  เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี่ สหรัฐอเมริกา และ ท่านเจ้าคุณพระราชโมลี (พระมหาพรหมา สปฺปญฺโญ - ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส อดีตพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์  และรองเจ้าอาวาส วัดธัมมาราม เมืองชิคาโก รัฐอิลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งพระทั้งสองรูปนี้ แม้จะรู้จักคุ้นเคยกันเองอย่างดีมาก่อน  แต่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่เคยทราบกันมาก่อนว่า ต่างได้ปฏิบัติในแนวหลวงพ่อเทียนมานานแล้วพอควร  และต่างก็ได้ประสบผลสำเร็จเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมอย่างมาก เกินกว่าที่จะอ้างเอ่ยจากตำราที่ร่ำเรียนจนจบเปรียญธรรมสูงสุดได้
ซึ่งรวมถึงพระภิกษุอีกรูปหนึ่งคือ ท่านอาจารย์พระมหาสมชัย เบ้ามั่น (ป.ธ.6, M.A.) วัดพุทธานุสรณ์ เมืองฟรีม้อนต์ คาลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นผู้มีน้ำใจกว้างขวางและชอบศึกษาค้นคว้า ท่านเกิดสนใจในวิธีปฏิบัติของหลวงพ่อเทียน ทันทีที่ท่านประสบพบเห็นจากการแสดงสาธิตวิธีสร้างจังหวะให้เกิดความรู้สึกตัว ท่านจึงได้นำไปทดลองปฏิบัติดู จนเกิดผลประจักษ์ต่อตัวท่านเองในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งกลับจุดชนวนให้เพื่อนภิกษุรูปอื่นๆเกิดความสนใจ ถึงกับลงมือทดลองปฏิบัติแนวนี้ดูบ้างจนสิ้นสงสัย 
แต่ที่น่าอัศจรรย์ใจที่สุดคือ ท่านทั้งสามรูปต่างไม่เคยเจอหลวงพ่อเทียนมาก่อนเลย ก็สามารถปฏิบัติได้ผลดีเยี่ยม  และ ยอมรับหลวงพ่อเทียนเป็นอาจารย์ของท่านอย่างเต็มพากพูม แม้หลวงพ่อเทียนจะอ่านหนังสือไทยไม่ออกในสมัยที่ท่านบรรลุธรรมด้วยซ้ำไป

ชี้ให้เห็นว่า การรู้ธรรมเห็นธรรมที่แท้จริงนั้น ไม่ขึ้นกับว่าจะรู้หรือไม่รู้หนังสือ จบหรือไม่จบปริญญาวิชาชีพใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมันเป็นภาษาใจ รู้ได้ด้วยใจ ไม่ขึ้นกับอรรถบัญญัติ สมมติบัญญัติหรือทางภาษาโลก แต่อย่างใด

สำหรับนักวิชาการแล้ว หากจะเปรียบเทียบการเจริญสติ-ความรู้สึกตัวโดยการสร้างจังหวะของหลวงพ่อเทียนกับมหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว  วิธีสร้างจังหวะของหลวงพ่อนั้นจัดอยู่ใน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ในลักษณะของการปฏิบัติด้วย  อิริยาปถบรรพ   คือมีสติในอิริยาบถใหญ่ ในการยืน เดิน นั่ง นอน และ  สัมปชัญญบรรพ (วิธีสร้างความรู้สึกตัว)  คือมีสติในอิริยาบถย่อยต่างๆ เช่น คู้ขา  เหยียดแขน  กลืนน้ำลาย กระพริบตา  แต่งกาย กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มรส พูด นิ่ง เป็นต้น รวมไปถึงกลวิธีประยุกต์ด้วยการเคลื่อนไหวมือสร้างจังหวะ (หรือจงกรมด้วยมือนั่นเอง) เพื่อให้เกิดความรู้สึกตัว

นอกจากนี้ ยังตกเข้าในลักษณะของ  เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ในแง่ที่ว่า เมื่อเกิดความรู้สึกตัวสดๆขึ้นในการเคลื่อนไหว นั่นคือ รู้ในความรู้สึกที่เป็นกลางๆ ไม่สุขไม่ทุกข์  แต่เป็นการรู้ซึ่งความปกติตามธรรมชาติที่แท้ของกาย-จิต รู้ซื่อๆ (สวสํเวทนา) เป็นความรู้สึกด้วยสภาพจิตที่แท้จริงคือจิตที่เป็นกลางซึ่งเป็นต้นตอของชีวิตจิตใจ  

เมื่อมีความรู้สึกตัวมากขึ้นๆ สติจะทำหน้าที่ของมันเอง คือ คอยจับการเคลื่อนไหวของจิต ซึ่งก็คือ ความคิดนั่นเอง เห็นสภาพจิตที่ถูกย้อมด้วยความคิด เมื่อหลุดเข้าไปอยู่ในความคิด ด้วยไม่เห็นไม่รู้เท่าทันความคิด ทำให้เกิดจิตที่ประกอบไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งซ่อนเร้นแอบแฝงมาพร้อมกับความคิด ความรู้สึกตัวทำให้รู้เท่าทันว่า จิตกำลังกวัดแกว่ง หวั่นไหว ส่ายแส่ ไม่ตั้งมั่น หรือจิตยังตั้งมั่นดีอยู่เมื่อปราศจากความคิดปรุงแต่ง เข้าลักษณะของ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อสติ-ความรู้สึกตัวรู้เท่าทันจิต เห็นการกระทำของจิต เห็นความคิด โดยไม่เข้าไปในความคิด ความลักคิดจะขาดสะบั้นลง จะทำให้รู้เห็นเท่าทันความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงว่า เป็นไปตามหลักพระไตรลักษณ์ – อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้เห็นว่าสภาวธรรมทั้งปวงล้วนแล้วแต่ปราศจากตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร ทำให้รู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น รู้เห็นเท่าทันทุกสิ่งด้วยจิตที่เป็นกลาง ไม่บ่ายเบี่ยงเอนเอียง ด้วยปราศจากอัตตาตัวตน และประจักษ์แจ้งในโพธิปักขิยธรรม สัมผัสซึ่งประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงทางกายและประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงทางจิต เป็นการปฏิบัติใน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  เป็นที่สุด 

หลวงพ่อเทียนท่านเน้นให้เห็นความคิด  ซึ่งก็คือจิตและการเคลื่อนไหวของจิตนั่นเอง สุขทุกข์ล้วนเกิดจากจิต แต่จิตนั้นปราศจากรูปร่างหน้าตา  กระนั้นก็ตาม จิตก็ยังทิ้งร่องรอยไว้ให้ทวนกระแสไปถึงตัวจิตได้  โดยผ่านทางความรู้สึก  (เวทนา)   และความหมายรู้จำได้ (สัญญา)  และความคิดปรุงแต่ง (สังขาร)  นั่นคือ อาการของจิต (เจตสิก)  ซึ่งต่างก็เปรียบได้เสมือนแขนขาของจิต  

ในด้านวิทยายุทธและการสงคราม ท่านกล่าวว่าอาวุธที่จะสู้ระเบิดปรมาณูซึ่งร้ายแรงที่สุดได้ดีที่สุด คือระเบิดปรมาณูด้วยกัน  ความคิดก็เช่นกัน  จิตท่องเที่ยวไปไกลในความคิดได้อย่างเร็วกว่าสายฟ้าแลบ  สิ่งที่จะประชิดประชันกันได้อย่างเท่าทันนั้น ก็คือ อาการของจิตอีกตัว นั่นคือสติ-ความรู้สึกตัว ซึ่งเป็นสัญญาชนิดหนึ่ง คือ สัญญาบริสุทธิ์ หมายรู้ระลึกได้ซึ่งความรู้สึกตัวที่กำลังสัมผัสปรากฏสดๆอยู่ที่ตนเอง  (แต่ถูกลืมไป หรือมองข้ามไป) การพัฒนาจิตด้วยการทำความรู้สึกตัว จะส่งผลให้เกิด สติ-ความรู้สึกตัว ตื่นตัว รู้สึกใจ ตื่นใจ โดดเด่นและทรงความรู้สึกตัวไว้ได้อย่างต่อเนื่องด้วยพลังความตั้งมั่นของจิตเป็นสัมมาสมาธิ สติ-ความรู้สึกตัวจะว่องไวทัดเทียมเท่าทันกันกับความคิดที่กำลังผุดขึ้น ปะทะสลายตัวไปพร้อมกัน คงเหลือไว้แต่ปัญญาล้วนๆ ว่าง สว่าง สงบ ปราศจากการปรุงแต่ง ปลอดจากความลักคิด ไม่โง่ ให้ถูกหลอกลวงด้วยความคิดอีกต่อไป

เนื่องจากวิธีการสร้างจังหวะของหลวงพ่อเทียน  ปฏิบัติด้วยการลืมตา ประกอบพร้อมกันไปกับการเคลื่อนไหวสร้างจังหวะ  ดังนั้น จิตจะมีความตื่นตัวอยู่อย่างมาก  และสมาธิจะแนบแน่นอยู่ได้แม้ในขณะดำรงชีวิตประจำวัน (เช่นเดียวกับอานิสงส์ของการเดินจงกรม ซึ่งสมาธิที่เกิดจะแนบแน่น ด้วยเป็นการลืมตาเดินอยู่แต่เดิมแล้ว สมาธิจึงไม่สูญหรือหลุดหายไปได้ง่ายๆ เยี่ยงกับหลังออกจากการนั่งสมาธิ)   และจะไม่ปรากฏภาพนิมิตหลอกหลอนจิตต่างๆ ให้หลงทาง หรือทำให้น่ากลัว หากจะเกิดนิมิตเครื่องหมายก็จะเป็นในลักษณะของการรู้สึกตัว  ซึ่งเป็นลักษณะของความเป็นปกติของจิตใจ ทรงอยู่ในอุเบกขาจิตซึ่งเป็นต้นตอของชีวิตจิตใจ  ปลุกประสาทวิญญาณในกาย-จิต ให้ตื่นตัว-ตื่นใจขึ้น  ไม่ถูกบดบังด้วยสิ่งหลอกล่อจากภายนอก ซึ่งทำให้จิตกวัดแกว่งไปตามอำนาจความโลภ ความโกรธ ความหลง  การลืมตาปฏิบัตินั้นยังสอดคล้องกับความเป็นไปในชีวิต ประจำวัน ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา   นับตั้งแต่ การหายใจ การกิน เคี้ยว ดื่ม พูด ทำกิจกรรมการงานต่างๆ   ล้วนสามารถผูกสติ-ความรู้สึกตัวได้ในทุกอิริยาบถใหญ่น้อย  และ สามารถผูกความรู้สึกตัวเลยลึกลงไป รู้เท่าทันถึงความเคลื่อนไหวของจิตซึ่งก็คือความคิด ด้วยความรู้สึกใจ   ดังนั้น  เมื่อสร้างความรู้สึกตัวได้มากขึ้น    ผู้ปฏิบัติสามารถผูกสติ-ความรู้สึกตัวอยู่กับชีวิตประจำวัน เจริญสติปัฏฐาน 4 ได้ตลอดวันและตลอดเวลาโดยปกติตามธรรมชาติ  สามารถเชื่อมโยงผูกสติให้ต่อเนื่องดุจลูกโซ่ได้โดยอัตโนมัติ ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวทั้งหยาบและละเอียด ดังที่หลวงพ่อเทียนได้เน้นไว้เสมอว่า

“รู้สึกตัว ตื่นตัว
  รู้สึกใจ ตื่นใจ”
นอกจากนี้ หลวงพ่อเทียนยังได้เมตตาให้หลักง่ายๆในการปฏิบัติไว้ว่า
“ดูกาย เห็นจิต
  ดูความคิด เห็นธรรม
 ดู(พฤติ)กรรม เห็นนิพพาน
 ดูอาการ เห็นปรมัตถ์”

สิ่งที่สำคัญที่สุด และเป็นประโยชน์มากที่สุด ก็คือ วิธีสร้างจังหวะของหลวงพ่อเทียนมีความคล่องตัวสูงมากสำหรับชีวิตฆราวาส สามารถนำไปประยุกต์ใช้ผูกสติ-สร้างความรู้สึกตัวไปกับชีวิตประจำวันได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีภารกิจมากน้อยเพียงไร ไม่ว่าจะกระพริบตา  กลืนน้ำลายหายใจ เคลื่อนไหวร่างกายส่วนหนึ่งใด สติ-สัมปชัญญะหรือความรู้สึกตัวก็สามารถจับความเคลื่อนไหวต่างๆทั้งกายและจิตได้อย่างเท่าทัน ผูกสติลงได้อย่างง่ายดายตามธรรมชาติ  มีจิตที่ตื่นตลอดเวลา  เวลาทำงานก็ไม่เหน็ดเหนื่อย  เพราะไม่เครียด ด้วยจิตทรงอยู่ด้วยความเป็นปกติในวิปัสสนากรรมฐาน  ปฏิบัติธรรมอบรมจิตอยู่ได้ตลอดเวลา สตินทรีย์ (ลูกแมว) เมื่อได้รับอาหาร (ด้วยการฝึกฝนสร้างจังหวะ)   จะเกิดความรู้สึกตัวมากขึ้นๆ เติบโตเป็น  สติพละ (แมวใหญ่) สามารถตะปบจับความคิด (หนู) ให้กระแสความคิดหยุดขาดสะบั้นลงซึ่ง ชวนะจิต วิถีจิต  (หนูช๊อคตาย)  ความโลภ ความโกรธ ความหลง  ไม่อาจแทรกเข้ามากับความคิดได้อีก  ทุกข์หรือความขัดแย้งภายในจิตใจของตนเองจะหมดไปหรือลดน้อยลง  รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมได้โดยไม่ต้องสงสัยอีกต่อไป   ความสงสัยว่าจะต้องทำอย่างไรสติจึงจะต่อเนื่องประดุจลูกโซ่ จะหมดไป    เพราะเมื่อมีสติ-ความรู้สึกตัวอยู่กับการเคลื่อนไหว   ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งในตัวเรา   ประสาทวิญญาณจะตื่น จะรู้สึกตัว ตื่นตัว และด้วยสติตัวเดียวกันนี้จะรู้สึกใจ ตื่นใจ  รู้เห็นซึ่งความคิดปรุงแต่ง (สังขาร- ซึ่งเป็นต้นสายของปฏิจจสมุปบาท หรือวงจรให้ทุกข์ อันสืบต่อเนื่องมาจาก  อวิชชา)    ขณะที่กระแสจิตหรือความคิดกำลังเกิดขึ้น (หนูกำลัง ออกจากรู)  จับความคิดที่เต็มไปด้วยอุปาทาน ความหลง (ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความโกรธ และความโลภ) ได้ทันท่วงที  มีแต่สติปัญญาล้วนๆในการดำรงชีวิตประจำวัน  แม้จะเผชิญปัญหาต่างๆนานา  ก็รู้จักกัน รู้จักแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ กล่าวโดยย่อคือ    เมื่อมีความรู้สึกตัว (สติ-สัมปชัญญะ)  ความไม่รู้สึกตัว (ความประมาท) จะหายไป เพราะโดยลักษณะคุณสมบัติของจิตนั้น จิตจะทรงอารมณ์อยู่ได้ในอารมณ์เดียวในชั่วขณะใดขณะหนึ่ง และ เมื่อมีความรู้สึกตัวมากขึ้นๆ  จะมีแต่ความรู้ล้วนๆ (ญาณปัญญา) ทรงตัวอยู่อย่างเดียว  ความไม่รู้ (อวิชชา) และความลักคิดซึ่งประกอบด้วยโลภ โกรธ หลง จะหายไป ดังนั้นท่านจึงกล่าวไว้ว่า เมื่อถึงที่สุดแล้วญาณย่อมมี  และ บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ด้วยปัญญา  ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้

หลวงพ่อเทียนนับได้ว่าเป็นปรมาจารย์ทางวิปัสสนากรรมฐานแห่งยุค  ที่สามารถนำเคล็ดลับแห่งชีวิต หรือความลับของธรรมชาติมาตีแผ่ให้เราได้เข้าใจในพุทธธรรม ท่านชี้แนะแนวทางและทำของซึ่งเราเห็นว่ายากให้เป็นของง่าย  ท่านได้วางรากฐานแนวปฏิบัติโดยการสร้างจังหวะไว้เป็นสูตรสำเร็จ  ซึ่งเป็นวิธีตรงและลัดสั้นให้ทุกคนเข้าถึงธรรมะได้ในระยะเวลาอันสั้น  ท่านชี้ให้เห็นว่า   นิพพานสามารถและต้องบรรลุในปัจจุบัน ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่นิพพานในชาติหน้า ภพหน้า เมื่อตายไปแล้ว  ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ของพระพุทธองค์ที่ทรงอุตส่าห์พร่ำสอน ให้ทุกคนรู้ธรรมะเห็นธรรมในปัจจุบันนี้ และหลายต่อหลายท่านในครั้งพุทธกาลได้บรรลุธรรมต่อหน้าพระพักตร์ เมื่อได้ฟังธรรมจากพระศาสดา  หรือ  ด้วยการปฏิบัติในแนวมหาสติปัฏฐาน 4  ซึ่งปัจจุบันกลับกลายเป็นเรื่องเหลวไหลเหลือเชื่อไป ถึงกับมีบางคนที่กล่าวสรุปว่า การรู้ธรรมเห็นธรรมนั้นเป็นเพียงเรื่องเล่าบันทึกบอกกล่าวถึงเรื่องราวในอดีต ในตำรา ในพระคัมภีร์ ในพระไตรปิฎก ในสมัยพุทธกาล ซ้ำยังประกาศสำทับว่า ปัจจุบันมรรค ผล นิพพานไม่มีอีกแล้ว เหตุเพียงเพราะว่า ตัวบุคคลที่กล่าวเช่นนั้นเองเป็นผู้ประมาท ไม่เคยศึกษาให้รู้แจ้งในพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง ไม่เคยแม้แต่ทดลองปฏิบัติอย่างจริงใจหรือจริงจัง หรือถ้าปฏิบัติก็ทำแบบไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้มีวิริยะอุตสาหะหรือความเพียรตั้งมั่น จึงพูดพล่อยๆปัดความไม่เข้าใจในสิ่งที่ตนไม่เคยได้รู้ ไม่เคยได้เห็น ไม่เคยได้สัมผัส ว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพื่อให้คนอื่นเห็นคล้อยตามความโง่เขลาของตนไปด้วย การพูดเช่นนั้นจึงเป็นการพูดชนิดที่เรียกได้ว่า เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาโดยตรง เพราะปิดประตูสัจธรรมต่อผู้ที่หลงเชื่อคล้อยตามคำพูดเยี่ยงนั้น และเป็นการทำลายเจตน์จำนงของพระศาสดา ที่ได้ทรงมีเมตตากรุณาพร่ำเพียรสั่งสอนให้ทุกคนปฏิบัติธรรม ทำใจให้ผ่องแผ้ว ให้รู้ว่าทุกคนสามารถทำได้ สามารถรู้ธรรมเห็นธรรมได้ เยี่ยงดังที่พระองค์ทรงทำสำเร็จและสัมผัสมาแล้ว จึงได้ทรงพร่ำสอนบอกทางสายกลางอันประเสริฐนี้ไว้ให้เป็นแนวปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ พร้อมทั้งได้มอบสูตรสำเร็จที่สมบูรณ์ให้ไว้อย่างพร้อมเพรียง เพื่อใช้ในการปฏิบัติได้อย่างพิสดาร คือ มหาสติปัฏฐานสูตร พระองค์จึงทรงเป็นบรมครูที่ยอดเยี่ยมไม่มีใครเสมอเหมือน ไม่มีการปิดบังอำพราง ไม่มีสิ่งที่ซ่อนเร้นไว้ในกำมือ ซ้ำแนวทางที่ทรงสอนให้ปฏิบัตินั้นก็ยังทรงแสดงบอกทางไว้อย่างละเอียดลออด้วยความเมตตาและความเป็นห่วงเป็นใย และแสดงแนวทางวิธีปฏิบัติต่างๆไว้ให้ผู้ปฏิบัติสามารถเลือกให้ตรงตามความเหมาะสมต่อตน ถูกต้องกันกับจริตของตน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ผู้ที่พูดว่า ปัจจุบันนี้ มรรค ผล นิพพานเป็นเรื่องเหลวไหลเป็นไปไม่ได้แล้วเยี่ยงนั้น คือเป็นผู้ที่ไม่เคยแยแสศึกษาพระสูตรคำสอนให้ถูกต้องถ่องแท้ให้เห็นน้ำพระทัยและความเมตตาของพระศาสดา และไม่ได้บูชาพระศาสดาด้วยปฏิบัติบูชา ซ้ำยังไม่รู้ตัวด้วยว่า ตนกำลังทำร้ายพระศาสดาและทำลายพระพุทธศาสนาทั้งทางตรงและทางอ้อม

หลวงพ่อเทียนท่านกล้ายืนยันและกล้าท้าทายให้ทุกคนไม่จำกัดเพศ วัย เชื้อชั้น วรรณะ ภาษา รู้หรือไม่รู้หนังสือ อาชีพ ทรัพย์สมบัติ ความรวยหรือจน หรือ ความเชื่อในศาสนาต่างๆ ให้ทดลองปฏิบัติพิสูจน์ด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้ยังเป็นไปได้  และ ยังสอนวิธีประยุกต์ที่ลัดสั้นไว้ให้อย่างถี่ถ้วนครบครันถึงวิธีสร้างความรู้สึกตัวด้วยการสร้างจังหวะ ซึ่งหลายๆท่านที่ได้นำไปปฏิบัติอย่างจริงจังกล้ายืนยันผลที่ได้รับว่า เป็นความจริงและเป็นเรื่องง่ายจนเหลือเชื่อ  ตรงกับที่หลวงพ่อเทียนท่านกล่าวสอนไว้ว่า พระพุทธองค์ไม่ได้สอนเรื่องยาก แต่เราทำให้มันยากไปเอง

หลวงพ่อเทียนมีความเมตตากรุณาสูงมาก    ต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้เห็นซึ่งสัจธรรมความจริงในชีวิต   ให้ล่วงพ้นความทุกข์แต่ในปัจจุบัน  แม้ในช่วงท้ายของชีวิตของท่าน  เหล่าสานุศิษย์ต่างยืนยันว่า  หลวงพ่อไม่หวั่นไหวต่อสุขภาพที่กำลังทรุดโทรมเจ็บป่วยอยู่อย่างหนัก  ท่านจะรีบลุกขึ้นมาแนะนำสั่งสอนเมื่อศิษย์มีปัญหาธรรมะติดขัดขึ้น  โดยไม่ห่วงถึงความเจ็บป่วยของตัวท่านเอง พร้อมทั้งสาธิตการปฏิบัติธรรมสร้างจังหวะเจริญสติอย่างพร้อมบริบูรณ์ให้ปรากฏแก่สานุศิษย์โดยทั่วกัน

แม้ผมจะไม่ได้มีโอกาสได้พบหลวงพ่อเทียน แต่ก็เสมือนรู้จักท่านเป็นอย่างดี และซาบซึ้งในพระคุณของท่านเป็นอย่างยิ่งที่ได้กรุณาหงายของที่คว่ำให้ปรากฏ   ผมขอกราบนมัสการสักการบูชาหลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภด้วยจิตด้วยใจไว้ ณ ที่นี้


• น.พ. คงศักดิ์ ตันไพจิตร เป็นศาสตราจารย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์คลีนิค มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี่ เป็นแพทย์ผู้ชำนาญทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ทางโรคข้อ และทางอายุรศาสตร์
Diplomate, American Board of Allergy & Immunology, American Board of Rheumatology,  และ American Board of Internal Medicine
ประธานสมัชชากลุ่มชาวพุทธแห่งมหานครเซนต์หลุยส์ (Chairman, Buddhist Council of Greater St. Louis)
เลขานุการวัดพระศรีรัตนาราม เมืองเซนต์หลุยส์  รัฐมิสซูรี่ สหรัฐอเมริกา
นายกสมาคมไทยแห่งมหานครเซนต์หลุยส์
กรรมการสมาคมสหประชาชาติแห่งมหานครเซนต์หลุยส์ (Member, Board of Directors,     United Nations Association of Greater St. Louis)
เหรัญญิกมูลนิธิแพทย์ไทย-อเมริกัน (Thai-American Physicians Foundation)
สมรส กับ ดร. สิริรัตน์ ตันไพจิตร และ มีบุตรชาย ๑ คน และบุตรสาว ๑ คน
ได้รับเลือกลงหนังสือรายชื่อบุคคลดีเด่น Marquis Who’s Who in America และ Marquis Who’s Who in the World.

e-mail: kongsakt@sbcglobal.net


กลับสู่หน้าบนของเว็บนี้

กลับสู่หน้าเพจหลักของกองทุนโตสื่อพระธรรม